คณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีประธานคณะกรรมการ ธปท. มาแล้ว 4 คน คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, ดร.อำพล กิตติอำพน และดร.ปรเมธี วิมลศิริ
แต่...ถ้ายังจำกันได้...การคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. ครั้งแรกเริ่มขึ้นหลังจากกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 มีนาคม 2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (กุมภาพันธ์ - กันยายน 2551) โดยมีนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการคัดเลือกในตอนนั้นได้คัดเลือก นายพรชัยนุชสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายพรชัย นุชสุวรรณเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.ต้องถูกยกเลิกไปเพราะมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม โดยคณะกรรมการบางคนมีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/1 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า
...กรรมการคัดเลือกต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม
พระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้งและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่....
คณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ประกอบด้วยนายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน และกรรมการอีก 6 คน คือ
นายนิพัทธ พุกกะณะสุต นายสมใจนึก เองตระกูล นายมนู เลียวไพโรจน์ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ล่าสุดเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่พึ่งมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ไป เมื่อวันจันทร์
ที่ผ่านมา
และคนที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามมาตรา 28/1 วรรคสาม เพราะเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์อยู่ในเวลานั้น คือ นายวิจิตร นายชัยวัฒน์ และนายสถิตย์
บทบัญญัตินี้วางหลักไว้ว่า...ธนาคารพาณิชย์เป็นฝ่ายถูกกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นผู้ที่เป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์อยู่ จึงไม่สมควรที่จะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้คัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับและควบคุมสถาบันทางการเงิน เพราะอาจทำให้เกิดความขัดกันของผลประโยชน์ได้ (conflict of interest)
นอกจากนั้น นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. จากคณะกรรมการชุดดังกล่าว ก็มีเรื่องมัวหมองอันเนื่องมาจากการถูกดำเนินคดีในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในคดีหวยบนดิน
แม้คณะกรรมการคัดเลือกและผู้ถูกคัดเลือกจะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมและมีมลทิน นายสุรพงษ์ รัฐมนตรีคลังก็หาที่จะสนใจไม่....ยังคงดันทุรังที่จะดำเนินการทูลเกล้าฯเสนอชื่อประธานคณะกรรมการ ธปท. คนใหม่เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง...แต่ก็ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา จนมาถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (กันยายน-ธันวาคม 2551) มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวจากสำนักราชเลขาธิการ และแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่มี ศาสตราจารย์ ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน
ต่อมามีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจากพรรคพลังประชาชน (ต่อมาถูกยุบและกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ในปัจจุบัน) ที่เป็นแกนนำรัฐบาลมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ธันวาคม 2551 - สิงหาคม 2554) มีนายกรณ์ จาติกวาณิช เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้เริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. ใหม่อีกครั้ง โดยมีอาจารย์พนัส เป็นประธานการคัดเลือกเช่นเดิม และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. คนแรก
ดังนั้น การคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. ครั้งนี้ ที่มี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน
ที่เคยมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมในการเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเมื่อ 16 ปีก่อน ได้มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
เป็น นายกิตติรัตน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกสื่อมวลชนตั้งฉายารัฐมนตรีประจำปี 2555 ว่า “ลูกไก่ไวท์ไล” อันหมายถึง...
....เป็นถึงรองนายกฯ ที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับดิสเครดิตตัวเองจากกรณีโกหกสีขาว คือ การตั้งเป้าทางเศรษฐกิจเกินจริง จนถึงถูกตราหน้าว่าขี้โกหก เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ ส่วนคำว่าลูกไก่ ล้อจากชื่อเล่น “โต้ง” แต่เนื่องจากผลงาน และประสบการณ์ ทางการเมืองยังไม่เด่นชัด และเก่งกาจตามที่ถูกคาดหวัง จึงเป็นได้เพียงลูกไก่ ไม่ใช่ไก่โต้ง....
ฉายานี้มาจากการที่ นายกิตติรัตน์ ได้ไปกล่าวในงานสัมมนา “1 ปี ยิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ไว้ว่า...
“.....หากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมพูดความจริงไปว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจะเติบโตไม่ถึง 15% ก็จะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนมีปัญหาได้ ดังนั้น ผมในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ รมว.คลัง เค้าอนุญาตให้ผมพูดไม่จริงได้ในบางเรื่อง หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดี เหมือนภาษาอังกฤษที่เรียกว่า White lie ที่แปลว่า โกหกสีขาว....”
“เค้า” คนนี้ของคุณกิตติรัตน์ เป็นใคร ? เป็นเทวดาชั้น 14 หรือ เป็น “เค้า” คนเดียวกับคนที่ให้
คุณกิตติรัตน์ เมื่อสมัยเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกมาสรุปกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กว่า
.....ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ซึ่งไม่พบว่ามีการซื้อขายผิดปกติ รวมถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายอินไซเดอร์ หรือไม่ เพราะมีการทยอยขายหุ้นเอไอเอสออกไปในราคาที่สูง ก่อนที่จะมีการประกาศดีลขายหุ้นเทมาเส็กไม่กี่วัน
ส่วนกรณีที่นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทาที่ครั้งแรกระบุว่า การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริชเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เมื่อตรวจสอบไม่พบรายการซื้อขาย ก็แจ้งแก้ไขว่าเป็นการซื้อขายนอกตลาด......
ตรงประเด็นนี้ คุณกิตติรัตน์สรุปผลสอบว่า “เกิดจากการกรอกข้อมูลผิดพลาด” หรือ “ติ๊กผิด”
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยที่ผ่านมาบอกเราว่า...การคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท.นั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด...
....ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธปท. สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย....และได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และถ้าการเมืองไม่เปลี่ยนขั้วกลับไปเป็นพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล ก็คงจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ต่ออีกหนึ่งสมัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ตำแหน่งดังกล่าวจึงตกมาเป็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับนายกิตติรัตน์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังในขณะนั้น ซึ่งร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิการทำงานของ ธปท. ในยุคที่ ดร.ธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการฯ ดร.อัจนา ไวความดี เป็นรองผู้ว่าการฯ คุณสุชาดา กิระกุล เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการฯ และดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ เป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้ตั้งฉายา ธปท. ในขณะนั้นว่า “แก๊งผมเปีย”
ขณะที่ ดร.อำพล กิตติอำพน กับ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ก็เป็นอดีตขุนนางนักวิชาการ (technocrat)ผู้ผ่านการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ มาทั้งคู่ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ในยุครัฐบาลอำมาตยาธิปไตย (Bureaucracy) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา....
ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ในกรณีของคุณกิตติรัตน์ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านทั้งจากอดีตผู้ว่าการ ธปท. ถึง 4 คน รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง พนักงานปัจจุบัน นักวิชาการ คณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประชาชนและกลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัวอีกจำนวนหนึ่ง ก็ตาม
สุดท้าย สิ่งที่พอทำได้ก็คือ....ในฐานะว่าที่ประธานคณะกรรมการ ธปท. คนใหม่ก็ขออนุญาตแนะนำหนังสือดีๆ ให้ท่านสักสองเล่ม เล่มแรกคือ คำบรรยายเรื่อง “ธนาคารกลาง” ที่อาจารย์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ บรรยายไว้ที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2512 ส่วนอีกเล่มเรื่อง เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ในบทที่ 21 เรื่อง “ธรรมะในด้านเศรษฐกิจ” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2498 อ.ป๋วยเขียนร่วมกับคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ปูชนียบุคคลอีกท่านหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี