ประเด็นการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ควรทำอย่างไร ?
1. ทางเลือกมิใช่ว่าถ้าไม่มี MOU44 แล้ว ไทย-กัมพูชาจะต้องรบกันเท่านั้น
ก็ถ้าการเดินต่อตามแนวทาง MOU44 ไปต่อไม่ได้ ก็หยุด เท่านั้นเอง
ส่วนถ้าใครอยากจะรบ ก็ว่ามา... ใครกลัว?
ถ้าทั้งสองฝ่าย ต่างไม่อยากรบ ก็ย่อมไม่มีการรบ มันก็เท่านั้น
2. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า MOU44 มีที่มาจากการที่ไทย และกัมพูชาต่างไม่ยอมรับการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทางทะเลที่แต่ละฝ่ายประกาศ
ทำให้เกิดเป็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศระบุให้ในกรณีเช่นนี้ประเทศที่อ้างสิทธิจะต้องเจรจาทำความตกลงเพื่อหาทางออกด้วยกัน
โดยสาระสำคัญของ MOU44 นั้น คือ การกำหนดกรอบและกลไกการเจรจา
โดยให้ทั้งประเทศไทย และกัมพูชา ต้องตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC ขึ้น เพื่อทำการเจรจาพร้อมกันไปใน 2 เรื่อง
ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาแหล่งพลังงาน
โดยไม่สามารถแยกการเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศวางไว้
ทั้งนี้ การยกเลิก MOU44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด
รมว.ต่างประเทศยังยืนยันว่า MOU44 มีลักษณะเป็นข้อตกลงชั่วคราว หรือ Provisional Arrangement ซึ่งเป็นเพียงการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะวางกรอบและกลไกการเจรจากันเท่านั้น
พร้อมย้ำด้วยว่า การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะไม่เกี่ยวกับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดแต่อย่างใด เพราะเกาะกูดเป็นของไทยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนั้น MOU44 มีมาตรการป้องกันที่รัดกุม หรือ Safeguard Clause ในข้อ 5 ที่ระบุเป็นเงื่อนไขบังคับว่า “จนกว่าจะได้มีการตกลงการแบ่งเขตทางทะเลให้แล้วเสร็จ MOU และการดำเนินการต่างๆ ตาม MOU นี้ จะไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย”
ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเจรจาตามกรอบ MOU44 นี้ จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่าย จนกว่าจะสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทำความตกลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกันซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อนด้วย ซึ่งหมายถึงว่าความตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย
นายมาริษ รมว.ต่างประเทศ ชี้ว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยในเรื่องนี้มี 2 ประการ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ การแบ่งเขตทางทะเล และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการพัฒนาทรัพยากรด้านพลังงาน
สุดท้าย ยังเน้นย้ำว่า “เกาะกูด” เป็นของประเทศไทยแน่นอน เพราะตามหนังสือสนธิสัญญา ระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 หรือ ค.ศ. 1907 บัญญัติชัดเจนว่า “เกาะกูด เป็นของไทย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะกูด มาช้านานแล้ว และประเทศไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดมาโดยตลอด มีประชาชนชาวไทยอยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี และกัมพูชาก็ยอมรับ และไม่เคยมีข้อโต้แย้งใดๆ ในเรื่องนี้
3. อดีต สว.คำนูณ สิทธิสมาน ให้มุมมองน่าสนใจ
ระบุว่า หากไม่เลิก MOU44 ไทยเราจะได้สอง-เสียสาม !
ได้อะไรบ้าง ?
“...ได้หนึ่ง – ได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
ข้อนี้ได้แน่ๆ สมใจวัตถุประสงค์หลักของ MOU 2554 ข้อ 2 (ก) คือได้จากส่วนแบ่งในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ผืนดินใต้ทะเลเขตไหล่ทวีปอ้างสิทธิทับซ้อนในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา (JDA) จำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ หรือเขตสีเหลืองในภาพประกอบ
ส่วนจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวเงินจริงๆ เท่าไร ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และมูลค่าสัมปทานในการผลิตปิโตรเลียมที่จะเกิดขึ้นจริง เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอน !
และนอกจากส่วนแบ่งโดยตรงแล้ว ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ที่จะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน บวกกับภาระของประชาชนในค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะลดลงระดับหนึ่ง อาจตีค่าเป็นเม็ดเงินได้อีกมากเช่นกัน ได้ผลประโยชน์มหาศาล – พอพูดได้
ได้สอง – ได้ความสบายใจเต็มร้อยในเรื่องเกาะกูด
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ขัอ 2 (ข) หรือพื้นที่สีส้มในภาพประกอบ ที่กำหนดให้ต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่กัมพูชาจะต้องเสียเขตแดนทางทะเลทันทีจากเขตไหล่ทวีปที่ประกาศกฤษฎีกากำหนดไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ไม่มากก็น้อย แนว A-S-P ด้านบนที่แสดงไว้ในภาพประกอบจะเปลี่ยนไป แม้แต่เส้นเว้าอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U ตามผังท้าย MOU 2544 ก็จะเปลี่ยนไป โดยความเป็นได้มากที่สุดคือขยับเส้นเขตไหล่ทวีปด้านบนส่วนกลางตรงจุด S (ยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูด) และส่วนปลายทางทิศตะวันตก ณ จุด P ลงมาทางใต้พอสมควร เกาะกูดจะไม่ถูกรบกวนรุกล้ำโดยเส้นใด และยังจะมีทะเลอาณาเขตเหลืออยู่แน่ จะไม่เหลือประเด็นให้พูดถึงเกาะกูดอีกต่อไปแน่นอน
หากจะมองว่าเป็นการได้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญยิ่งที่ประเทศเราต้องการมา 52 ปี – ก็พอพูดได้...”
แล้วเสียอะไร? อดีต สว.คำนูณชี้ว่า
“..เสียหนึ่ง – เสียผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
จากเหตุเดียวกับ “ได้หนึ่ง“ ข้างต้นละครับ แต่เป็น “อีกด้านหนึ่งของเหรียญ” คือ ส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เราอาจจะได้หลายล้านล้านบาทนั้น เกิดบนฐานของรูปพรรณสัณฐานเขตพัฒนาร่วม (JDA) ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยมีเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาและไทยเป็นพิกัดกำหนดทางทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก หรือด้านซ้ายกับด้านขวาในแผนผังท้าย MOU 2544 ตามที่แสดงไว้เป็นพื้นที่สีเหลืองในภาพประกอบ
แต่หากเราไม่ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา พ.ศ. 2515 ขอให้เพื่อนเรากลับไปกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ตรงตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดอธิปไตยไทยตลอดแนวตั้งแต่ส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ (ในภาพคือแนว A-S-P) ส่วนกลางและล่างจากจุด P ลงมา จนสุดทิศใต้แล้ววกกลับทางตะวันออกไปยังชายฝั่งกัมพูชา จึงค่อยมาพิจารณาเจรจาแบ่งประโยชน์ในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่ยังเหลืออยู่ เราอาจจะได้ส่วนแบ่งมากกว่านี้ หรืออาจเป็นของเราเกือบหมด
ส่วนที่เสียไปนี้จะคิดเป็นเงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่ของกัมพูชา และจำนวนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่จะยังคงมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอนเช่นกัน !
เสียส่วนนี้คือเสียทันที
เสียสอง – เสียเขตแดนทางทะเลทันที
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ที่จะต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกจากกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่ไทยจะเสียเขตแดนทางทะเลทันที ไม่มากก็น้อย
โอกาสที่จะไม่เสียมีอยู่หนทางเดียว คือกัมพูชายอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
ตามกรอบ MOU 2544 โอกาสที่จะเป็นไปได้สูงสุด คือ ทั้งไทยและกัมพูชาตกลงเส้นเขตไหล่ทวีปกันใหม่เฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยเส้นที่ตกลงกันใหม่นั้นต้องไม่ลากผ่ากลางเกาะกูด ไม่ว่าจะลากผ่าน ลากเว้น หรือลากเว้าเป็นตัว U ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจุดไหนตำแหน่งใด ไทยก็จะเสียเขตแดนทางทะเลผิดไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2516 ทั้งนั้น
จะเสียเขตแดนทางทะเลครั้งนี้ไปเท่าไร กี่ตารางกิโลเมตร ไม่ทราบ เทียบและชั่งน้ำหนักกับการได้ส่วนแบ่งมหาศาลจากการได้ใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมแล้ว คุ้มกันหรือไม่ ได้คุ้มเสียหรือไม่ พึงพิจารณาด้วยข้อมูลและสติปัญญา
ประเด็นนี้เราสูญเสียทันที ทันทีที่ตกลงเสร็จ ผ่านรัฐสภา และลงนามในหนังสือสัญญา
รัฐบาลไหนทำสำเร็จ สมาชิกรัฐสภาคนไหนลงมติเห็นชอบ เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนบ้างมีส่วนร่วมในกระบวนการ จะได้รับเกียรติบันทึกชื่อเสียงเรียงนามไว้ในประวัติศาสตร์จดจำกันไปชั่วลูกชั่วหลานแน่นอน ฐานเป็นผู้ตัดสินใจทำให้ประเทศไทยต้องเสียเขตแดนทางทะเล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้อ่าวไทย !!....
...เสียสาม - (อาจ)เสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต
พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ แม้ MOU 2544 ข้อ 2 (ก) จะกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล แต่มีโอกาสที่จะต้องเจรจาในอนาคต ไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปี
เพราะ MOU 2544 เป็นกรอบสำหรับตกลงแบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตใต้พื้นทะเลไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงในอ่าวไทยยังมีทรัพยากรอื่นๆ อีกมากในน้ำทะเล อาทิ ปลา สัตว์น้ำต่างๆ รวมทั้งสิทธิในการเดินเรือ การที่พื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 16,000 ตารางกิโลเมตรยังไม่ได้แบ่งเขตแดนทางทะเลกันชัดเจน อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือข้อพิพาทในอนาคตได้
ผลการเจรจาในอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ไม่ทราบ แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าถ้าจะตกลงกันได้ก็ต้องไม่เป็นไปตามเส้นเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2516 ของไทยแน่นอน และไม่เป็นไปตามเส้นไหล่ทวีป พ.ศ. 2515 ของกัมพูชาแน่นอนเช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกฝ่ายมาเป็นพิกัดกำหนดรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ไว้ตายตัวตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) และแบ่งผลประโยชน์กันไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่เป็นไปได้สูงสุดคือการตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไว้ระหว่างเส้น 2515 กับเส้น 2516 ณ จุดใดจุดหนึ่ง...”
สุดท้าย... รัฐบาลนายกฯตระกูลชินวัตร มีอำนาจ หน้าที่ แล้วความรับผิดชอบเต็มๆ
จะให้ลูกหลานจดจำอย่างไร ก็เลือกเอา
จะมีแผ่นดินอยู่ทั้งโคตรหรือไม่ ก็เลือกเอา?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี