สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมความร่วมมือดำเนินงานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ต้องขัง โดยการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ปี 2568 เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มภารกิจสนับสนุนการจัดหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น พร้อมทีมผู้บริหาร สปสช.ร่วมหารือกับผู้บริหารจากกรมราชทัณฑ์ และตัวแทนจากเรือนจำ ทัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการระหว่างเรือนจำต่างๆ เพื่อนำประสบการณ์จากเรือนจำที่เคยดำเนินการไปปรับใช้ในเรือนจำอื่นๆ ทั้งนี้ หลังจากที่สถานพยาบาลในเรือนจำต่างๆ ได้ยกระดับขึ้นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นมา ทำให้สามารถดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้มากขึ้น
โดยงบประมาณจะมี 2 ส่วน คือ 1.บางเรือนจำหากเป็นหน่วยบริการร่วมกับหน่วยบริการหลักในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอ ก็จะได้รับงบประมาณบางส่วนจากโรงพยาบาล และ 2.งบประมาณจาก กปท. เพราะผู้ต้องขัง ถือเป็นพลเมืองในการดูแลของท้องถิ่นเช่นกัน หน่วยบริการของเรือนจำจึงมีสิทธิได้รับงบประมาณในส่วนนี้เพื่อไปจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพตามบริบทและปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังของแต่ละพื้นที่หรือตามนโยบายที่กำหนดมาจากฝ่ายบริหาร
“มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากเรือนจำที่ได้ดำเนินการแล้ว และบทบาทของกรมราชทัณฑ์คือการสนับสนุนให้เกิดการ implement (ดำเนินการ) ให้เรือนจำต่างๆ จัดทำโครงการไปขอรับงบประมาณจาก กปท. ขณะที่ สปสช.เขตจะมีบทบาทและอำนวยความสะดวกในการช่วยพัฒนาโครงการร่วมกับเรือนจำ รวมทั้งประสานงานกับท้องถิ่น” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.เติมชัยกล่าวต่อว่า ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังต้องได้รับการดูแลให้สามารถเข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 5 (ปี 2566-2570) ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ : ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2567 มีจำนวนผู้ต้องขัง รวม 278,246 คน สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) จำนวน 258,372 คน (ร้อยละ 92.86) และสิทธิอื่นๆ 19,874 คน (ร้อยละ 7.14) ในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.วรดา วสันต์นันทสิริ ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในปี 2567 สปสช.ได้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ต้องขัง 10 รายการ เน้นบริการคัดกรองป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขังแรกเข้าเพื่อป้องกันการนำโรคต่างๆ มาระบาดในเรือนจำ ช่วยให้สถานการณ์สุขภาพในเรือนจำดีขึ้น สามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดในเรือนจำได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในปี 2567 ยังมีการดำเนินการด้านทันตกรรมมากขึ้น สปสช. ได้นำรถทันตกรรมเคลื่อนที่เอกชนเข้ามาให้บริการถึงในเรือนจำ ช่วยให้ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์อย่างมาก
ในส่วนของปีงบประมาณ 2568 กรมราชทัณฑ์จะเน้นการคัดกรองที่ต้องใช้การเอกซเรย์ เพราะแม้จะมีรถเอกซเรย์พระราชทานไปให้บริการตามเขตต่างๆ แต่การหมุนเวียนอาจจะยังไม่ครอบคลุม บางเรือนจำ 3 เดือนไปครั้งบางแห่ง 6 เดือน หรือบางแห่งปีละ 1 ครั้ง ทำให้การคัดกรองโรคมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จะมีการพัฒนา Home ward ในเรือนจำ และติดตั้งโปรแกรม e-Claim เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบจาก สปสช. ได้โดยตรง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 121 แห่งที่มีเรือนจำตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และเรือนจำมีแนวโน้มการขอรับงบประมาณจาก กปท. เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มีเรือนจำทำโครงการของบประมาณเพียง36 แห่ง หรือ 25% ปี 2566 เพิ่มเป็น 41 แห่ง และปี 2567 เพิ่มเป็น 67 แห่ง หรือเกือบร้อยละ 50 ซึ่งโดยปกติแล้ว ทางกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ ได้จัดทำโครงการตัวอย่างในด้านต่างๆ ให้แก่เรือนจำ
นำไปประยุกต์
“ในปี 2568 เราเริ่มเพิ่มตัวอย่างโครงการคัดกรองโรคNCDs (กลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ) ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีเรือนจำ 119 แห่ง จากทั้งหมด 142 แห่ง ที่ทำโครงการเสนอไปยัง กปท. โดยเป็นโครงการเกี่ยวกับโรค NCDs มากเป็นอันดับ 1 รวม 112 โครงการ รองลงมาคือโครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิต 99 โครงการ และการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) 32 โครงการ” น.ส.วรดา กล่าว
น.ส.วริศรา ศิริสุทธิเดชา ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้นำกิจกรรมด้านศาสนามาช่วยในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจแก่ผู้ต้องขัง แต่การดำเนินการยังติดขัดในเรื่องงบประมาณ จนในปี 2567 จึงได้เริ่มจัดทำโครงการศาสนบำบัด เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช และผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ และในปี 2568 มีเรือนจำ 123 แห่งที่จัดทำโครงการเสนอของบจาก อปท. รวมทั้งหมด 134 โครงการ
“นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดกิจกรรมอาชีวบำบัด เพื่อเป็นกลไกพัฒนาผู้ต้องขังที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือจิตใจ รวมทั้งผู้มีปัญหาทางอารมณ์หรือสติปัญญา โดยในปี 2568 มีเรือนจำ 120 แห่งเสนอโครงการด้านอาชีวะบำบัด รวม 221 โครงการ” น.ส.วริศรา กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี