ถืออยู่ในมือท่านฉบับนี้คือ หนังสือพิมพ์แนวหน้า www.naewna.com ทุกบรรทัดตรงไปตรงมา...
nn ช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องเพิ่มความดูแลเอาใจใส่ลูกหลานเป็นพิเศษ เพราะนอกจาก “ฤดูฝุ่น” ที่ทำร้ายสุขภาพทางเดินหายใจน้องๆหนูๆ แล้ว “โรคไอกรน” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ โดยในอดีตถือเป็นโรคที่ร้ายแรง ก็กลับมาระบาดสร้างความกังวลใจให้กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง !!!!...
nnโดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก...
nn นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการของโรคไอกรนในระยะแรกจะคล้ายหวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย และมีไข้ต่ำๆ หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการไอรุนแรงเป็นชุดๆ จนกระทั่งหายใจเข้าดังวี้ดบางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็กทารกอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเขียว หยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากพบว่าเด็กมีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอรุนแรงจนอาเจียน หรือหายใจมีเสียงดังผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์...
nn นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า ไอกรนไม่ใช่โรคใหม่ ประเทศไทยมีวัคซีนฉีดในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติมาเป็นเวลาร่วม 47 ปี โดยเน้นความสำคัญอยู่ในเด็ก เพราะความรุนแรงของโรคจะอยู่ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เราจึงให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบไอกรนในรูปของวัคซีนรวม ที่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และ 4-6 ปีเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนกเลยสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ เรามาให้ความสำคัญกับเด็กเล็กให้ได้รับวัคซีนพื้นฐาน ให้ได้ครบตามเป้าหมาย หรือในเด็กทุกคนตามแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ....
nn นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า“สถานการณ์การระบาดโรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 พฤศจิกายน 2567 จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล กองระบาดวิทยา (Digital Disease Surveillance : DDS) พบผู้ป่วย 1,290 รายอัตราป่วย 44.74 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่อาจจะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง...
nn พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ หากเริ่มมีอาการไอแล้วใส่หน้ากากอนามัย สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ รวมถึง สุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดีล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ในส่วนมาตรการโรงเรียน จะต้องมีการคัดกรองเด็กป่วย และแยกเด็กป่วย ไม่เฉพาะการนั่งเรียนในชั้นเรียนเท่านั้น รวมถึง กิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬาที่เด็กจะต้องทำร่วมกัน หากพบว่าเด็กมีอาการป่วยขอให้แยกเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ...
nn ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายการเมือง ก็ได้มีการวางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดเชื้อจากโรคไอกรน และให้ผู้ปกครองคลายความกังวลใจ เช่น สมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าผู้ปกครองไม่ต้องกังวลมากเกินไป เนื่องจากเด็กไทยส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนครบถ้วน โอกาสเกิดโรครุนแรงจึงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะทบทวนประวัติวัคซีนของบุตรหลาน ...
nn โดยแนะนำว่าในทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วยให้นำสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนไปพบแพทย์ทุกครั้งเพื่อหารือ เผื่อในกรณีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือมีวัคซีนใหม่ๆ ขึ้นมาจะได้เพิ่มโอกาสที่บุตรหลานจะได้รับการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม...
nn ครูอุ้ม- พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า ในส่วนของสถานศึกษาสังกัด ศธ.นั้น ได้กำชับเป็นนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2/2567 ไปแล้วว่า ขอให้ทุกสถานศึกษาเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดต่างๆ อย่างเคร่งครัด และต้องไม่ลืมมาตรการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้หากสถานศึกษาใดพบการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้าง ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาปิดสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม...
nn“มือปราบ” ก็เชื่อว่าคุณหมอและผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ ท่าน ก็มีความปรารถนาให้เด็กๆ รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับสร้างความสบายใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่คาดหวังถึงอนาคตที่สดใสในกาลข้างหน้า...
nn ซึ่งแนวทางปฏิบัติต่อการป้องกันโรคไอกรนในเวลานี้ ก็ขอให้ยึดหลัก “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” โดยให้ตระหนักถึงความสำคัญในการได้รับวัคซีน การทำความสะอาดบ้าน อาคารเรียน และสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ การไปพบแพทย์ในเวลาที่เหมาะสม ฯลฯ จะช่วยให้โรคไอกรน และโรคอื่นๆ ไม่สามารถทำให้เจ็บป่วยจนสร้างความกังวลใจให้กับคนอื่นๆ ได้...nn สวัสดีครับ
มือปราบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี