“...ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำ ตามความเหมาะสมในลําน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอําเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่างเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ตลอดทั้งปี...” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 ให้ไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2520ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
ปัญหาของลุ่มน้ำเลย มีลักษณะคล้ายกับลุ่มน้ำสาขาอื่นๆ ของลุ่มน้ำโขง คือ ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำในลุ่มน้ำสาขาจะไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ เพราะน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับสูงและไหลย้อนเข้าสู่ลุ่มน้ำสาขานั้นๆส่งผลทำให้น้ำล้นตลิ่งจนท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
เมื่อถึงฤดูแล้ง จากสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ทางตอนบนมีความลาดชัน และมีแหล่งเก็บกักน้ำน้อย สภาพท้องแม่น้ำมีลักษณะเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ ประกอบกับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ จึงทำให้น้ำในลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว ลำน้ำเหือดแห้ง ปัญหาภัยแล้งจึงเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำเลยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กรมชลประทานจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาศึกษาพิจารณาดำเนินการ
สุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน เล่าให้ฟังว่า กรมชลประทานได้ทำการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กแล้วรวม 59 แห่ง ฝายทดน้ำและอาคารบังคับน้ำในลำน้ำเลยและลำน้ำสาขารวม 65 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 86 ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำเลยในแต่ละปีคือกว่า 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ถือว่าน้อยมาก สามารถกักเก็บได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้การแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำเลยยังไม่สัมฤทธิผล โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนทางล่างในเขต อำเภอเชียงคาน ราษฎรยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอยู่เป็นประจำ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำ (ปตร.) ศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง
โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยงานสำคัญได้แก่ การก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก (ช่องลัด) สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้งานก้าวหน้าไปแล้วร้อยละ 90 การก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำเดิม คือแม่น้ำเลย สามารถระบายน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมประตูเรือสัญจร ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 95 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้รวม 2,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
การก่อสร้างระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำจำนวน 4 สถานี และระบบท่อส่งน้ำความยาว รวมประมาณ 99 กิโลเมตร แยกเป็นทางฝั่งขวาและทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเลย ขณะนี้สถานีสูบน้ำฝั่งขวา พร้อมระบบส่งน้ำ PR เป็นโครงการนำร่องเสร็จแล้ว 1 แห่ง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 800 ไร่ ที่เหลือยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและการก่อสร้างพนังกั้นน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาในจุดลุ่มต่ำ ความยาวรวม 37 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินงานไปแล้ว 10 กิโลเมตร
เมื่อใดที่การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้ไหลทะลักเข้ามาในช่วงฤดูน้ำหลาก และสามารถเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝนได้ 72,500 ไร่ และฤดูแล้ง 18,100 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คือ เชียงคาน นาซ่าว ปากตม หาดทรายขาว เขาแก้ว จอมศรี และ ธาตุ
นอกจากนี้ยังได้มีการนำรูปผีตาโขน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเลย มาประดับไว้ที่ตอม่อประตูระบายน้ำ พร้อมติดตั้งไฟประดับให้แสงสว่างและความงดงามในยามค่ำคืน รวมทั้งยังมีการก่อสร้างหอชมทัศนียภาพ จำนวน 6 หอ นับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำเลยและแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยว
“ปี 2568 โครงการ ปตร.ศรีสองรัก จะแล้วเสร็จอย่างแน่นอน” ผอ.สุนทรยืนยัน!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี