ในบรรดาพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้พระราชสมัญญานามว่ามหาราชนั้น ทุกพระองค์ได้ทรงต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมืองรักษาแผ่นดินหรือสมบัติของชาติ และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด แต่ก็มีพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ไม่ได้รับพระราชสมัญญานามดังกล่าว และที่จะขอกล่าวถึงก็คือสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ แห่งอาณาจักรอยุธยา
สมเด็จพระไชยราชาธิราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๔๒ และเมื่อมีพระชนมายุราว ๓๕ พรรษา ได้ปราบดาภิเษกโดยสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราชแล้วขึ้นครองราชย์แทน พระองค์มีพระมเหสี ๒ พระองค์คือพระมเหสีจิตรวดีและแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งคำว่าแม่หยัวก็คือแม่อยู่หัวนั่นเอง
พระองค์มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ที่ประสูติแต่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือสมเด็จพระยอดฟ้า ผู้ได้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ ซึ่งต่อมาถูกชู้รักของศรีสุดาจันทร์สำเร็จโทษ ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือพระศรีศิลป์ ซึ่งยังคงถูกเลี้ยงไว้หลังจากพระยอดฟ้าถูกสำเร็จโทษ แต่ในที่สุดพระศรีศิลป์ได้ก่อการกบฏในสมัยของ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสิ้นพระชนม์โดยอาวุธปืน
หลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้ทรงกระทำศึก หลายครั้งเพื่อปกป้องบ้านเมืองรวมทั้งขยายพระราชอาณาเขต และที่ถูกกล่าวถึงมากก็คือศึกเชียงกราน ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า เป็นการศึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างกองทัพของกรุงศรีอยุธยากับกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีซึ่งในขณะนั้นคือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก โดยยังประทับอยู่ที่ตองอู ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่หงสาวดีซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกมอญเป็นส่วนใหญ่ พระองค์ทรงเห็นว่า ถึงเวลาที่จะต้องรวบรวมอาณาจักรของชาวมอญนี้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของพม่า จึงยกทัพโดยมีขุนพลคู่ใจคือพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งต่อมาได้มีพระราชสมัญญานามว่าผู้ชนะสิบทิศไปร่วมรบ และสามารถเอาชนะกรุงหงสาวดีได้
เนื่องจากกรุงหงสาวดีมีอาณาเขตและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะการค้าขายกับต่างชาติเนื่องจากอยู่ใกล้กับอ่าวเมาะตะมะ พระองค์จึงย้ายอาณาจักรไปประทับที่กรุงหงสาวดีตั้งแต่นั้น และเมื่อทรงทราบว่า มีเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งคือเชียงกราน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมอญแต่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอยุธยา จึงตั้งใจที่จะรวบรวมเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหงสาวดีด้วย จึงส่งกองทัพไปรบชิงเมืองเชียงกราน
สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงทราบเรื่องดังกล่าว จึงยกกองทัพหลวงออกไปเพื่อจะชิงเอาเมืองเชียงกรานคืนมาจากหงสาวดีให้ได้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงกระทำได้สำเร็จ และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาและกองทัพของอาณาจักรหงสาวดีหรือพม่าได้มีการสู้รบกัน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๘๑
ในการไปตีเมืองเชียงกรานนั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ทรงนำชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวน ๑๒๐ คนผู้มีความสามารถในการใช้อาวุธปืนยาว เป็นทหารอาสาไปร่วมรบด้วย ทำให้การรบครั้งนั้นทัพไทยเอาชนะทัพพม่าได้โดยง่าย เมื่อกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพระองค์ได้ปูนบำเหน็จ ให้มีการสร้างหมู่บ้านชาวโปรตุเกสขึ้นรวมทั้งทรงอนุญาตให้สร้างโบสถ์ตามศาสนาคริสตังด้วย
ต่อมาได้มีนักประวัติศาสตร์หลายคน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะประวัติศาสตร์ของพม่ายืนยันว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตีเมืองได้เมื่อปี พ.ศ ๒๐๘๒ และเมืองเมาะตะมะได้เมื่อปี พ.ศ ๒๐๘๔ ศึกเมืองเชียงกรานจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ ๒๐๘๑
การไปศึกสงครามครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสมเด็จพระไชยราชาธิราชคือสงครามกับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากอาณาจักรฝ่ายเหนือหรือล้านนามีความยุ่งยากแตกแยกชิงราชสมบัติ พระองค์จึงเสด็จนำทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๘๘ โดยมีพระยาพิษณุโลกเป็นแม่ทัพไปด้วย แต่ยังไม่สำเร็จในครั้งแรก ต่อมาในปลายปีเดียวกันจึงยกไปอีกครั้งหนึ่ง และตีได้ทั้งเมืองลำพูนและเชียงใหม่ โดยพระนางมหาเทวีจิรประภา เจ้าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น ได้ยินยอมอ่อนน้อม ทัพของพระองค์จึงไม่ได้บุกเข้าไปในตัวเมือง และพระองค์เองก็ประทับอยู่ที่วัดโลกโมฬี ซึ่งอยู่ประชิดติดคูเมืองและกำแพงเมืองเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันนี้ได้รับการบูรณะจนเป็นวัดที่มีความสวยงาม และมีคุณค่าแห่งการไปเยี่ยมชมโดยในช่วงนั้น พระองค์จะเสด็จไปสรงน้ำที่แจ่งหัวลิน ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจากดอยสุเทพจะไหลมารวมตัวตรงจุดนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่คูเมืองโดยรอบของตัวเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงโปรดให้พระนางมหาเทวีจิรประภาปกครองเมืองต่อไป ก่อนที่จะเสด็จยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
พงศาวดารได้กล่าวว่า พระองค์เสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยา แต่ก็มีการกล่าวกันว่าพระองค์เสด็จกลับถึงอยุธยา แต่หลังจากนั้นไม่นานนักก็สวรรคต ซึ่งเชื่อกันว่าพระองค์ทรงถูกวางยาพิษ เมื่อปลายปี พ.ศ ๒๐๘๙ โดยแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งได้ลักลอบกระทำการอันเป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชใน ระหว่างที่ พระองค์ยกทัพไปรบที่เชียงใหม่ พระยอดฟ้าซึ่งเป็นพระราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์แทน ตามกฎมณเฑียรบาล แต่เนื่องจากมีพระชนมายุเพียง ๑๑ พรรษา แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน
นางได้มีความพยายามที่จะสถาปนาขุนวรวงศาธิราชซึ่งเดิมนั้นมีตำแหน่งเป็นพันบุตรศรีเทพ เป็นผู้เฝ้าหอพระข้างหน้า และได้ให้ย้ายเข้ามาดูแลหอพระข้างในในตำแหน่งขุนชินราช และกระทำการลักล อบเป็นชู้จนตั้งครรภ์ จึงเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนวรวงศาธิราชเพื่อจะสถาปนาให้ขึ้นครองราชย์ โดยการสำเร็จโทษพระยอดฟ้า อันเป็นเรื่องที่อัปยศอดสูงอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์
กล่าวได้ว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์ชาตินักรบอีกพระองค์หนึ่งของอาณาจักรสยาม พระองค์ได้ทรงต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดิน และขยายอาณาเขตโดยตลอดรัชสมัย บ้านเมืองในยุคนั้นมีความเจริญอย่างมาก มีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจในการที่พระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่เป็นสนมเอกที่มีพระราชโอรสด้วย แต่กลับไม่ซื่อสัตย์และมิได้สำนึกในพระเมตตากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีให้
ถึงแม้ประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น ยังคงให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธย ในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศคือนายกรัฐมนตรี โดยก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการบริหารประเทศ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ก่อน
ถ้อยคำในการถวายสัตย์ปฏิญาณตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๑ คือ “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
แต่ก็ปรากฏว่าที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีบางคนของหลายรัฐบาล มิได้ปฏิบัติตามคำปฏิญาณ ทำให้ประเทศชาติเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ทุจริตโกงกิน เกิดขึ้นมากมาย มีตัวอย่างปรากฏชัดเจนแม้แต่ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และจะรักษาไว้ซึ่งแผ่นดินไทยทุกกระเบียดนิ้ว รวมทั้งผลประโยชน์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยหรือขอบเขตของผืนแผ่นดินไทยตามที่ควรจะเป็น
อย่าให้ MOU ใดๆ ที่แปลว่าบันทึกความเข้าใจ ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นสนธิสัญญา ถูกนำมาใช้ อันทำให้ประเทศของเราต้องเสียผลประโยชน์ในเรื่องของทรัพยากรด้านพลังงานที่อยู่ในน่านน้ำในเขตดินแดนของประเทศเช่น เกาะกูด ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งยังอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นด้วย เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าท่านเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี