ผลการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
หลังจากนี้ จะนำส่งผลการคัดเลือกเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 19 พ.ย. 2567 และนำรายชื่อเข้าที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป
น่าคิดว่า อนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?
และจะกระทบเศรษฐกิจประเทศโดยรวมอย่างไร?
1. นายกิตติรัตน์ ได้โพสต์ข้อความ หลังได้รับคัดเลือกเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ระบุว่า
“ทุกเสียงสนับสนุน คือ กำลังใจ
และทุกเสียงที่ติติงคัดค้าน คือ การเตือนใจ ให้คิดดีพูดดี และปฏิบัติดี”
หากคุณกิตติรัตน์คิดและทำอย่างที่แสดงออกนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นท่าทีที่ดี พร้อมรับฟัง และพร้อมพิสูจน์ตัวเองในการทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้ดี
สำหรับประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนก่อนๆ ที่มาตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ได้แก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, นายวีรพงษ์ รามางกูร, นายอำพนกิตติอำพน และ นายปรเมธี วิมลศิริ ตามลำดับ
กระทั่งคนล่าสุด คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
2. ปมที่ค้างคาก่อนหน้านี้
กรณีคดีข้าวบูล็อค ศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง และอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ คดีจบ
กรณีเคยตำแหน่งทางการเมือง เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นข้าราชการการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ถึงหนึ่งปีหรือไม่หากมีใครไปร้อง ก็ต้องไปลุ้นกันอีกที
ส่วนกรณีที่เคยแสดงท่าทีคุกคามต่อบทบาทการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติไว้ก่อนหน้านี้ ก็ต้องพิสูจน์ความจริงกัน ว่าเข้ามาแล้วจะทำอะไร แค่ไหน อย่างไร?
3. ขุมทรัพย์แบงก์ชาติ
บทบาท อำนาจ หน้าที่ของแบงก์ชาตินั้น เกี่ยวพันกับขุมทรัพย์ 3 แหล่งใหญ่ๆ
3.1 อัตราดอกเบี้ย
กนง.กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่บอร์ดแบงก์ชาติก็เลือกคนไปเป็น กนง. โดยดอกเบี้ยส่งผลได้-เสียทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แก่ภาคธุรกิจเอกชน
3.2 อัตราแลกเปลี่ยน
แบงก์ชาติก็ทำหน้าที่คอยดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะไม่ได้ตรึงไว้ตายตัว แต่ก็คอยบริหารจัดการดูแลมิให้ผันผวนรุนแรง ค่าเงินบาทแข็ง-อ่อน จะมีผลได้-เสียทั้งโดยตรง และโดยอ้อมภาคธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน
3.3 ทุนสำรองระหว่างประเทศ
ขณะนี้ มีอยู่กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จะบริหารจัดการอย่างไร? จะขับเคลื่อนแนวคิดดึงทุนสำรองมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งของรัฐ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) เหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือไม่?
เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายหากใครจะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ล้วงลูก ล้วงควักขุมทรัพย์ 3 ส่วนข้างต้น
ยิ่งถ้าจะไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน
ประการสำคัญ หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงผู้ว่าการ ธปท. ก็มีหน้าที่ต้องสื่อสารให้สังคมได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา
4. ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายการเงินโดยตรง แต่มีอำนาจในการประเมินผลงานของผู้ว่าการธปท.
มีส่วนร่วมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายชุดต่าง ๆ
การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ประการสำคัญ การสรรหาผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ ที่จะมาแทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกันยายน 2568
ภายใต้ พ.ร.บ. ธปท.ปัจจุบัน การปลดผู้ว่าการฯจะทำได้เพียงกรณีที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่าง
ร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
5. ทำไมแบงก์ชาติต้องอิสระจากฝ่ายการเมือง? ทำไมต้อง แยกบทบาทหน้าที่ ?
ที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ ไม่เป็นที่สนองตอบความต้องการของฝ่ายการเมืองหลายเรื่อง
ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท การทำโครงการประชานิยมเพื่อหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะกระทบกับฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว เช่น โครงการแจกเงินหมื่น ฯลฯ
การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท. แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง เพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้เพื่อทำโครงการประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
นโยบายการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่แบงก์ชาติจะเปิดให้แค่ 3 ราย แต่ฝ่ายการเมืองเห็นว่าควรเปิดเสรีมากกว่านั้น ฯลฯ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ระบุว่า
“...ธนาคารกลางในประเทศที่มีกรอบ จะขีดเส้นแบ่งระหว่างการทำนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง คือไม่ให้ธนาคารกลางเข้าสนับสนุนเงิน (finance) ให้รัฐบาลโดยตรง
เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องตรงนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็จะเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ประเด็นที่ว่าเหตุใดเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ใช่เรื่องความเป็นอิสระที่สักแต่ว่าอิสระ แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล
และความเป็นอิสระนั้น ก็เป็นความอิสระตามกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะการแยกบทบาทหรือมีเส้นแบ่งงานทางด้านนโยบายการคลังกับด้านนโยบายทางการเงิน
...เอาง่ายๆ เช่น ปริมาณพันธบัตรที่เราพิมพ์และเวียนอยู่ในระบบ สมมุติว่ามีอยู่ 100 บาท เวียนอยู่ในระบบ สมมติว่าผมเป็นรัฐบาล ผมขาดดุลการคลัง 10 บาทผมก็ต้องกู้เงิน 10 บาท โดยออกพันธบัตร 10 บาท แล้วได้เงินมา 10 บาท ทำให้ตอนนี้เสมือนว่าปริมาณเงินในระบบลดลงจาก 100 บาท เหลือ 90 บาท แต่ผมไม่ได้กู้มาเพื่อสักแต่จะเก็บไว้ ผมเป็นรัฐบาลก็จะต้องเอาไปใช้จ่าย เงิน 10 บาท ก็จะออกไปในระบบ เงินในระบบก็อยู่ที่ 100 บาทเท่าเดิม อันนี้ คือ เคสแรก
เคสที่สอง ประเทศที่เจอปัญหา คือ ฐานะการคลังย่ำแย่ ใช้จ่ายมากกว่าภาษีที่เก็บได้ ผมจะกู้ แต่คนกู้รู้ว่าฐานะผมย่ำแย่ ขายบอนด์ไม่มีใครซื้อ ประชาชนไม่ซื้อ เพราะไม่เชื่อมั่นขายให้ประชาชน ประชาชนไม่ซื้อ ผมไปบังคับให้แบงก์ชาติซื้อ ถ้าทำอย่างนั้น ผมก็ออกบอนด์ให้แบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็ถูกบังคับให้ซื้อ แล้วแบงก์ชาติเอาบอนด์ไป พูดง่ายๆ เหมือนพิมพ์เงินให้ผม 10 บาท เพื่อให้ผมเอาใช้ แล้วตอนนี้ผมเอาเงิน 10 บาท มาใช้จ่าย จากเดิมที่เงินในระบบมี 100 บาทตอนนี้ผมใช้จ่ายเข้าไป 10 บาทเงินในระบบก็กลายเป็น 110 บาท
แล้วมันก็ไปอย่างนี้ แล้วกลายเป็นเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ และตอนนี้คนก็เริ่มไม่เชื่อมั่นในค่าของเงินมันก็จะไป
นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมการแบ่งเส้นระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังมันจึงสำคัญมาก และเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ มันเป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าขาดตรงนี้ ก็จะเหมือนกับนโยบายการเงินถูกกำหนดโดยนโยบายการคลัง
เพราะเหมือนกับว่า คุณต้องเอาเงินมา เพื่อชดเชยนโยบายการคลัง คือ ผม (รัฐบาล) จะใช้จ่ายเท่าไหร่ ทางธนาคารกลางต้องไฟแนนซ์ชดเชย ถ้าเป็นอย่างนี้ เสถียรภาพก็ไป
แล้วประเทศที่เงินเฟ้อวิ่งไปเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ ปกติจะมาจากตรงนี้
ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารกลางไม่ใช่สักแต่ว่าอิสระ
แต่เป็นความอิสระเพื่อปกป้องไม่ให้ปัญหาพวกนี้เกิดขึ้น” – ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดังนั้น หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงการทำงานโดยฝ่ายการเมือง จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยในหลายด้าน อาทิ การดูแลเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น การถูกเสี่ยงปรับลด credit rating กระทบต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาครัฐและเอกชน
หากแบงก์ชาติถูกกดดันให้ทำนโยบาย/ มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง เช่น การพักหนี้วงกว้าง การให้ soft loan ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงวิกฤต จะสร้าง moral hazard กระทบเสถียรภาพการเงินและการคลังในระยะยาวได้
ตัวอย่างกรณีประเทศตุรกี รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2557 และรุนแรงขึ้นในช่วงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ โดยไล่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ออก 4 คน ภายใน 5 ปี
เริ่มตั้งแต่กลางปี 2562 ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงกว่า 442% จาก 5.6 USDTRY (ก.ค. 2562)เป็น 30.36 USDTRY ณ (ม.ค. 2566)
โดนปรับลด credit rating อย่างต่อเนื่อง จาก Baa3 (ก.ค. 2562) เป็น B3(มิ.ย. 2566)
เงินเฟ้อ ม.ค. 2024 อยู่ที่ 65% และ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 45% ฯลฯ
6. อนาคตธนาคารแห่งประเทศไทย อนาคตเศรษฐกิจไทย
หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ย่อมจะสร้างความวิบัติใหญ่หลวงแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติ
เชื่อว่า คนในแบงก์ชาติคงไม่ยอม องคาพยพในสังคมไทยก็คงไม่ยอม
แล้วจริงๆ รัฐบาลเพื่อไทยก็ดี คุณกิตติรัตน์ก็ดี ก็คงไม่ต้องการให้เกิดเหตุร้ายอันไม่พึงประสงค์เช่นกัน
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี