เมื่อวานวันที่ 18 พฤศจิกายนก่อนเที่ยง “มาดามแพ”เดินทางกลับมาจากกรุงลิมา ประเทศเปรู มาถึงประเทศไทยแล้ว หลังจากถลุงเงินงบประมาณแผ่นดินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทจากการไปร่วมประชุมเอเปก โดยปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ไปรอทำข่าวกันตั้งแต่เช้า เพียงแต่พูดสั้นๆ ว่า“พรุ่งนี้เล่าให้ฟัง”
คงคาดเดาได้ว่า ถ้า“มาดามแพ”แวะตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็อาจจะตอบผิดตอบถูก เพราะไม่ได้มีใครเขียนบทเตรียมไว้ให้ตอบหรือชี้แจง เธอจึงรีบจ้ำอ้าวออกไปโผเข้ากอดลูกสาวและอุ้มลูกชาย ที่สามีพามารับบนรถตู้ที่จอดรออยู่นอกอาคาร จากนั้นเธอก็โบกไม้โบกมือให้สื่อ และข้าราชการที่มาต้อนรับ โดยมีโทรศัพท์มือถือกำอยู่ในมือ ก่อนจะปิดประตูรถเดินทางออกจากสนามบินท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ
เป็นอันว่าเมื่อวานหลังกลับจากประชุมเอเปก ก็ถือเป็น“วันครอบครัว”ของ“มาดามแพ”อีกหนึ่งวัน เพื่อพักผ่อนนอนเล่นอยู่ที่บ้านกับลูกและสามี ส่วนงานในหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ปล่อยให้บริษัทบริวารของบิดาปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป
ขณะที่อดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา, หลังจากเป็น“พยัคฆ์ติดปีก”ไปปราศรัยหาเสียงช่วยลูกพรรคเพื่อไทยที่ลงสมัครชิงตำแหน่ง นายก อบจ.อุดรธานี เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และโยนระบิดใส่พรรคประชาชนคู่ต่อสู้ จนกลายเป็น“น้ำลายสงคราม”ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนขึ้นมานั้น สัปดาห์นี้มีเรื่องต้องจับตา
โดยในวันที่ 22 พฤศจิกายนอีกสามวันนับจากนี้ จะเป็นวันชี้ชะตาอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ในเบื้องต้น ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้“ทักษิณ” ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ (ปี 2560)
หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็จะส่งผลทำให้“ทักษิน ชินวัตร”และนักการเมืองพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง“มาดามแพ”ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่เป็นสุข เพราะถ้าถึงที่สุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้อง คำวินิจฉัยนี้ก็จะมีผลผูกพันและเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเป็นเวลา 10 ปี อันหมายถึงการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ“มาดามแพ”พร้อมกันไปด้วย
ทั้งนี้ ถ้าใช้กรณีการยุบพรรคก้าวไกลที่นายธีรยุทธ สุวรรเกษร เคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์ กว่าจะถึงวันนั้นต้องใช้เวลาถึง 13 เดือน โดยในเบื้องต้นศาลรัฐธรรมธรรนูญรับคำร้องของนายธีรยุทธเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลมีการกระทำตามที่นายธีรยุทธร้องในวันที่ 31 มกราคม 2567 จากนั้นอีก 7 เดือนต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลา 10 ปี
สำหรับคำร้องของนายธีรยุธ สุวรรณเกษร ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีของ“ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่ารับหรือไม่รับคำร้องในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้นั้น มีทั้งหมด 6 กรณีด้วยกัน
1.ผู้ถูกร้องที่ 1 (ทักษิณ ชินวัตร) ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคเพื่อไทย) เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารรราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
2.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ที่มีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
3.ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
4.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
5.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
6.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
อย่างไรก็ดี บทอวสานของ“ทักษิณ ชินวัตร”และพรรคเพื่อไทย อันเกี่ยวพันถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ“มาดามแพ”เฉพาะใน 6 กรณีดังกล่าวจะจบลงอย่างไร มีแต่ต้องติดตามกันต่อไป
แต่ในเบื้องต้นต้องดูว่า วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของ‘นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร’หรือไม่ ?!
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี