สรุปว่า รัฐบาลจะแจกเงินหมื่นเฟสสอง ให้กับผู้สูงวัยที่เหลือ (ที่ลงทะเบียนไว้ในทางรัฐ)
น่าสนใจว่า มาตรการแจกเงินหมื่นแบบนี้ จะไปสิ้นสุดลงตรงไหน?
จะละเลงเงินแผ่นดินไปทั้งหมดเท่าไหร่? ผลได้คุ้มกับผลเสีย หรือไม่?
1. คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นชอบหลักการแนวทางและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ”
เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุ ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
โดยจะดำเนินการเงินหมื่นเฟสต่อไปให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐสำเร็จ
และต้องไม่เป็นกลุ่มเป็นเป้าหมายตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
คาดว่า จะมีกลุ่มเป้าหมายนี้ไม่เกิน 4 ล้านคน
โดยจะจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนไม่เกินเดือนมกราคม 2568 (ไม่เกินตรุษจีน)
2. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า คลังตั้งใจจะแจกเงินให้ถึงมือประชาชนเร็วขึ้น โดยจะเป็นก่อนช่วงตรุษจีน หรือก่อนวันที่ 29 มกราคม 2568
“กำลังเร่งจัดทำกระบวนการต่างๆ ทั้งในส่วนของการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ ขั้นตอนการจ่ายเงินให้เสร็จ เพื่อให้สามารถประกาศผลกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ 4 ล้านคนได้เร็วที่สุด
คาดว่าจะประกาศผล และเปิดให้ตรวจสอบสิทธิได้ในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นตั้งใจเป็นภายในเดือนธันวาคม 2567
...ยืนยันว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่จะได้รับเงิน 10,000 บาท จะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ และผ่านการตรวจสอบแล้วเท่านั้น
และที่สำคัญต้องไม่เป็นกลุ่มที่เคยได้รับเงิน 10,000 บาท ในระยะแรกมาด้วย
...รัฐบาลตั้งกรอบงบประมาณไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท แต่ใช้จริงอาจไม่ถึงอาจแค่ 3 ล้านกว่าคนเท่านั้น”
สำหรับโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต ระยะที่ 3 ที่ใช้วงเงินที่เหลืออีก 1.4 แสนล้านบาทนั้น รมช.คลัง เปิดเผยว่า คาดว่าจะเริ่มช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2568 หลังจากจัดทำและทดสอบระบบดิจิทัลวอลเล็ตเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยกลุ่มนี้จะได้รับเงิน 10,000 บาท เพื่อใช้ผ่านระบบ วอลเล็ต เท่านั้น ไม่แจกเป็นเงินสด ส่วนการลงทะเบียนในรอบกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน กำลังพิจารณา และจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในเร็วๆ นี้ เช่นกัน
3. สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนัก คือ การแจกเงินไม่ใช่ยาวิเศษ หรือแก้วสารพัดนึกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ถ้าแจกเงินแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน ยั่งยืน ง่ายๆ แค่นั้น ทุกประเทศในโลก (แม้แต่ประเทศที่รวยกว่าไทย) เขาก็คงใช้วิธีแจกเงินกันหมด แล้วก็คงรวยกันทั้งโลกหมดแล้ว
ตรงกันข้าม การแจกเงินแต่ละครั้ง ล้วนมีภาระต้นทุน มีภาระที่ต้องใช้หนี้คืนในอนาคต
ประการสำคัญ มีค่าเสียโอกาสจากการนำเงินนั้นๆ ไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆที่จำเป็นขาดแคลนด้วย
เงินที่แจกไปเฟสแรก 1.4 แสนล้านบาท สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้มากมายมหาศาล แต่ก็เสียโอกาสไป เพราะนำมาแจก
รัฐบาลจึงควรประเมินอย่างเป็นรูปธรรม เป็นหลักวิชาการ ว่าเงินที่แจกไปเฟสแรก 1.4 แสนล้านบาทนั้น เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจคุ้มค่ากับโอกาสที่เสียไปหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร?
ก่อนจะเริ่มแจกเฟสสอง และยิ่งถ้ายังจะแจกต่อไปอีกให้ทุกคนที่ลงทะเบียนไว้
4. ยอดการโอนเงินให้ประชาชน ไม่ใช่ผลสำเร็จในตัวมันเอง
การประชุม ครม. วันก่อน คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินตามโครงการฯ กรณีกลุ่มเป้าหมายได้รับเงินตามโครงการฯ แล้ว แต่มีความประสงค์จะคืนเงินโดยสมัครใจ
และเห็นชอบในหลักการของแนวทางการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินตามโครงการฯ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
น่าสนใจว่า
4.1 ตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายผู้มีสิทธิ จำนวน 14,514,472 ราย
พบว่า มีจำนวน 75,844 ราย ที่ยังไม่สามารถสั่งจ่ายเงินตามโครงการฯ ได้
เมื่อสั่งจ่ายเงินครั้งแรกให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับเงิน ระหว่างวันที่ 25 - 27 และ 30 กันยายน 2567 จำนวน 14,438,628 ราย
จ่ายเงินสำเร็จจำนวน 14,057,341 ราย (คิดเป็นร้อยละ 97.36 ของจำนวนที่กลุ่มเป้าหมายที่สั่งจ่ายทั้งหมด)
และจ่ายเงินไม่สำเร็จ 381,287 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.64 ของจำนวนที่กลุ่มเป้าหมายที่สั่งจ่ายทั้งหมด)
สาเหตุของการจ่ายเงินไม่สำเร็จ เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน เป็นต้น
หลังจากนั้น การ Retry ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กรมบัญชีกลาง ได้จ่ายเงินซ้ำให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่จ่ายเงินไม่สำเร็จในครั้งแรก และกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถสั่งจ่ายเงินได้ในครั้งแรก เฉพาะที่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลช่องทางการรับเงิน หรือดำเนินการต่ออายุหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการเรียบร้อยแล้ว และเฉพาะที่ได้ตรวจสอบสถานะการมีชีวิตกับกรมการปกครอง (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2567) โดยสามารถสั่งจ่ายเงินได้ทั้งสิ้นจำนวน 414,908 ราย
ในจำนวนนี้ จ่ายเงินสำเร็จ จำนวน 350,016 ราย และจ่ายเงินไม่สำเร็จ จำนวน 64,892 ราย
คลังได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายผู้มีสิทธิตามโครงการฯ ดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคารเพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาโดยเร็ว รวมถึงจะต้องดำเนินการต่ออายุหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือแก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี เพื่อให้ทันการ Retry ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน และ 19 ธันวาคม 2567 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2567 มีการจ่ายเงินตามโครงการฯ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 14,407,375 ราย
คิดเป็นเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2567 จำนวนรวม 144,073.57 ล้านบาท
4.2 มีกลุ่มเป้าหมายได้รับเงินตามโครงการฯ แล้ว แต่มีความประสงค์ จะคืนเงินโดยสมัครใจ
คลังจึงเสนอแนวทางการแก้ไขว่า “ให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์จะคืนเงินโดยสมัครใจติดต่อขอรับเอกสารที่ใช้สำหรับการคืนเงินได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด หรือกรมบัญชีกลาง และนำเงินไปคืนได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทั่วประเทศ”
น่าสนใจว่า เหตุใดจึงมีคนอยากจะคืนเงิน ทั้งๆ ที่ คนที่ได้รับเงิน จะต้องเป็นคนที่ไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินหมื่นในทางรัฐ
4.3 จ่ายเงินให้ผู้ไม่มีสิทธิ เกิดความคลาดเคลื่อน
พบว่า การจ่ายเงินให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ จากความคลาดเคลื่อนของฐานข้อมูลคนพิการของพม. อปท. กทม. และเมืองพัทยาที่นำส่งให้กรมบัญชีกลาง ส่งผลให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการจำนวน 1,032 ราย
พบว่า มีกลุ่มเป้าหมายคนพิการที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถแก้ไขข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการให้สมบูรณ์ได้ จำนวน 6,627 ราย เนื่องจากสาเหตุ เช่น หายจากความพิการแล้ว เป็นต้น จึงจะไม่สามารถได้รับสิทธิตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ
ทั้งหมด คลังก็ได้เสนอแนวทางแก้ไขจัดการแล้ว
ในประการสำคัญ พบว่า มีกลุ่มเป้าหมายเสียชีวิตหรือถูกจำหน่ายออกจากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง หลังจากวันที่มีการตรวจสอบสถานการณ์ชีวิตกับกรมการปกครอง ซึ่งได้รับการจ่ายเงินไปจำนวน 4,895 ราย
พูดง่ายๆ ว่า จ่ายเงินให้คนตาย !
กรณีนี้ คลังจะแก้ไข โดยกรมบัญชีกลางจะตรวจสอบสถานะการมีชีวิตกับกรมการปกครอง โดยใช้ฐานข้อมูลของกรมการปกครอง ณ สิ้นวันก่อนหน้าของวันที่กรมบัญชีกลางส่งข้อมูลไปตรวจสอบ เพื่อตัดสิทธิบุคคลที่เสียชีวิตหรือถูกจำหน่ายออกจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางก่อนจัดทำข้อมูลสำหรับการจ่ายเงินตามโครงการฯ ดังนั้น หากผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินตามโครงการฯ แต่เสียชีวิตในวันที่หรือภายหลังจากวันที่กรมบัญชีกลางส่งข้อมูลไปตรวจสอบสถานะการมีชีวิตกับกรมการปกครองดังกล่าว ก็ให้ถือว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามโครงการฯ
5. จะเห็นว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการรายงานผลการประเมินความคุ้มค่าของโครงการแจกเงินเฟสแรกเลย
มีแค่รายงานว่า โอนเงินสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เพราะอะไร จะแก้อย่างไร?
แต่ยังไม่มีการติดตามผลว่า ประชาชนที่ได้รับเงินหมื่นไปแล้ว นำไปทำอะไรบ้าง เกิดดอกออกผลอย่างไร? มีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร?
คุ้มค่ากับโอกาสที่เสียไปเพราะการใช้จ่ายเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาทนี้หรือไม่? อย่างไร?
เพื่อประเมินว่า คุ้มหรือไม่ แค่ไหน ที่จะเดินหน้าแจกต่อๆ ไป
เข้าใจว่า คงต้องรอให้แจกเงินครบก่อน คือ โอนซ้ำจนสิ้นสุดเวลาที่ให้สิทธิกลุ่มเปราะบางได้รับเงิน จึงจะประเมินผลความคุ้มค่าของโครงการ
อย่าลืมว่า ความสำเร็จและคุ้มค่าของโครงการ ไม่ใช่วัดผลที่ยอดการโอนเงินสำเร็จ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี