คนทั่วไปมักทราบเรื่องที่สภาฯ โดยรัฐบาลพระยาพหลฯเป็นผู้เสนอให้ตั้งศาลพิเศษ เพื่อพิจารณาในการตัดสินลงโทษผู้ต้องหาคดีกบฏ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชนะจะได้ดำเนินการกับผู้ก่อการกบฏ และเราก็ได้ยิน และได้อ่านเรื่องราวของการลงโทษที่รุนแรงมาก จนอาจทำให้เข้าใจว่า ยามนั้นไม่มีใครที่จะเป็นปากเสียงให้ผู้แพ้หรือฝ่ายกบฏบวรเดช แต่ในความเป็นจริง สภาฯ ที่มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร ก็ยังมีคนลุกขึ้นถามรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยกล้าให้ความเห็นไปในทางเห็นใจผู้แพ้อยู่พอสมควร การประชุมเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2476 ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ชายแดนใต้ คือขุนชำนาญภาษา ผู้ซึ่งมีอาชีพเป็นครู ได้เป็นบุคคลแรกที่ลุกขึ้นถามรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนเวลาเลิกประชุมเพียงเล็กน้อย
“ตามที่ศาลพิเศษได้ตัดสินลงโทษพวกกบฏไปแล้วนั้น เมื่อไหร่รัฐบาลจะดำเนินการตามคำตัดสินของศาล”
ท่านได้ลุกขึ้นถามเมื่อตอน 6 โมงเย็นจึงถูกประธานฯติง “นี่เป็นกระทู้ถาม เอาไว้เข้าระเบียบวาระก่อน” แต่ขุนชำนาญฯ ก็ยืนยัน “ข้าพเจ้าขอให้ตอบในวันนี้” เอากับท่านผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งซิ จะให้ตอบทันที แต่ประธานฯยืนยันกลับไปว่าไม่ใช่เรื่องด่วน ให้เอาไว้เข้าวาระเสียก่อน และในที่ประชุมนั้นประธานฯ ย่อมมีสิทธิ์เด็ดขาดกว่าใคร
การประชุมครั้งต่อมาในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2476 มีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเสนอให้พิจารณาอีก คนแรกคือพันเอก พระยาวิเศษสิงหนาท ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลโดยได้กล่าวถึงเรื่องราวของความไม่สงบจากการกบฏบวรเดชอย่างยืดยาว และจบลงที่ว่า “ขอทราบว่าบรรดานักโทษการเมืองที่ศาลพิเศษได้พิพากษาแล้ว หรือที่ได้พิพากษาต่อไปอีกนั้น รัฐบาลนี้ได้มีนโยบายที่จะหาลู่ทางกราบบังคมทูลพระกรุณาลดหย่อนผ่อนโทษบ้างหรือไม่”นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้ตอบทันที ท่านขอฟังความเห็นทั่วๆ ไปของสมาชิกสภาฯ ท่านอื่นเสียก่อน
คราวนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ลดหย่อนโทษ คือ ร.ต.สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท อดีตผู้ต้องหากบฏ ร.ศ.130 “ข้าพเจ้าเองไม่เห็นด้วยเป็นอันขาด เพราะเห็นว่าพวกกบฏที่ก่อการครั้งนี้ เพื่อจะทำลายล้างชาติและรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองซักอย่างเดียว และอีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าพวกกบฏนี้ได้คิดการสำเร็จแล้วบ้านเมืองและรัฐธรรมนูญอันเป็นที่รักของเรา ที่เราอุตส่าห์สละชีวิตเลือดเนื้อก็จะสาบสูญไปและก็จะเกิดการฆ่าฟันกันเองยิ่งกว่านี้มากมาย”
ผู้ที่ลุกขึ้นมาโต้ร้อยตรีสอน คือนายพลโท พระยาเทพหัสดิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร “ข้าพเจ้าเห็นว่าความผิดในเรื่องการเมืองย่อมเกิดแต่ความหวังดี หากแต่การกระทำนั้นเป็นไปโดยรุนแรงเกินกว่าสมควรก็ต้องมีโทษ… ควรจะให้ความพิจารณาแตกต่างกับนักโทษอาญาธรรมดา…ความชอบแต่หนหลังควรจะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาลบล้างความผิด ผ่อนผันให้หนักเป็นเบาลงบ้าง… จำเลยทุกคนมีฐานะดี เป็นผู้กว้างขวางในสังคม การที่ทำรุนแรงต่อเขาโดยไม่ลดหย่อนโทษ ไม่นึกถึงคุณความดีที่เขาได้ทำมาแต่หนหลัง แทนที่จะทำให้เกิดความประหวั่นพรั่น กลับเป็นทางที่ไม่สงบ เพราะจะก่อให้เกิดความขุ่นแค้นในหมู่ญาติมิตรของเขา” และท่านอ้างพุทธโอวาทที่ว่าเวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่บางท่าน อย่างเช่น ร้อยโททองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ควรที่จะดำริในเรื่องนี้ หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนจังหวัดสกลนคร “รัฐบาลไม่ควรจะหาทางขอพระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษ…” หรือ ร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ อดีตกบฏ ร.ศ.130 ก็อ้าง ทุกขะโต ทุกขะฐานัง แล้วแปลเสร็จว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว ที่จริงฝ่ายที่ต้องการให้ลดโทษนั้นมีอยู่น้อยกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการลดโทษ แต่การตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
เรื่องนี้จบลงว่า นายกฯ “ฟังพอแล้วและยังไม่ขอตอบ”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี