สุภาษิตละตินบทหนึ่งที่ผู้เรียนมาทางสังคมศาสตร์รู้จักดี มีอยู่ว่า “ubi societas ibi ius”อันหมายความว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั้นย่อมมีกฎหมาย” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสังคมเป็นผู้สร้างหรือกำหนดกฎหมายขึ้นมา เพื่อรับใช้มนุษย์ในสังคมนั่นเอง มิใช่ตัวกฎหมายจะไปกำหนดสังคม แต่สังคมซึ่งเป็นผู้สร้างกฎหมายขึ้นมาดังกล่าวก็มิอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความเป็นอนิจจังของพุทธศาสนาที่ว่า
“สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งอยู่กับที่ ทุกสิ่งมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
การที่สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี การเมืองการปกครอง หรือแม้กระทั่งระบบครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไปตามความอนิจจังของสังคม การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเป็นไปในด้านลบหรือด้านบวก เป็นไปได้ทั้งทางก้าวหน้าและลดถอยเป็นไปอย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยมีการวางแผนให้เป็นหรือเป็นไปโดยธรรมชาติ กฎหมายของสังคมก็มิอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นไปจากกฎแห่งความเป็นอนิจจังดังกล่าวข้างต้นได้ กฎหมายก็ย่อมต้องมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน
ร.แลงกาต์ ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมและอาจารย์สอนกฎหมาย ชาวฝรั่งเศส คณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้กล่าวถึง ความผันแปรเป็นมาของกฎหมายไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์กฎหมาย ของท่านว่า
“กฎหมายหรืออีกนัยหนึ่งที่รวมแห่งข้อบังคับทั้งหลายซึ่งใช้บังคับแก่กิจการต่างๆ ของมนุษย์ทางชุมชนนั้น ใช่ว่าเป็นสิ่งที่กำหนดแต่งตั้งขึ้นตามอำเภอใจของผู้เป็นประมุขในชุมชนโดยอิสระนั้นหาไม่ เมื่อพิเคราะห์ดูประวัติศาสตร์หรือความผันแปรเป็นมาของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าข้อบังคับที่ประกอบรวมเรียกว่ากฎหมายนี้ได้เป็นผลขึ้นโดยตรงจากอาการที่มนุษย์ได้เข้ามารวบรวมอาศัยกันอยู่ในชุมชน เพื่อดำเนินชีวิต...”
แต่ตามธรรมชาติความคิดของมนุษย์ย่อมดำเนินต่อเรื่อยไปหาอยู่คงที่ไม่ ทั้งนี้ก็เพราะความเกี่ยวพันต่างๆ ระหว่างมนุษย์ ยิ่งนับวันก็ยิ่งยุ่งยากโดยปรากฏขึ้นภายในลักษณะแปลกๆ ใหม่ๆมากขึ้น กฎหมายอันเป็นข้อบังคับความเกี่ยวพันระหว่างมนุษย์จึงต้องได้รับการปรับปรุงให้ลงรูปเข้าได้กับความเกี่ยวพันดังกล่าวนี้
กฎแห่งความเป็นอนิจจัง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ แม้แต่เมธีกรีกโบราณนักปรัชญายุโรป ก็ค้นคว้ากฎของวิทยาศาสตร์และภาวะทั้งหลายนั้นก็ได้มายุติลงอย่างเดียวกันที่ว่า ไม่มีอะไรอยู่กับที่ ทุกอย่างต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ดังพระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ก่อนแล้วว่า คนเราเกิดมามีชีวิตอยู่ก็เติบโตไปได้ถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตต่อไปได้ ก็เข้าสู่ความแก่ ความเจ็บ ในที่สุดก็ตาย
ศาสตราจารย์พระสารสาสน์ประพันธ์ ได้กล่าวไว้ว่า “กฎหมาย” เป็นเรื่องของความเป็นอยู่(มนุษย์-นิติบุคคล) ปรากฏการณ์ทั้งหลายย่อมเกี่ยวข้องควรได้รับความสนใจประกอบการศึกษาด้วย ความอยากรู้อยากเห็นสังเกตละเอียดถี่ถ้วนหัดไว้เป็นสมบัติที่ดี อย่างน้อยก็เป็นการฝึกความเข้าใจด้านข้อเท็จจริง สะดวกแก่การเข้าใจการใช้กฎหมาย
ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีอะไรหยุดนิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะระยะเวลา ถ้าพบเห็นมิได้สังเกตไว้ยากที่จะรู้ได้ซึ่งความเป็นจริงที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งถ้ามิได้สังเกตขณะพบเห็นพิจารณาการเกิดของมันไว้ ก็ไม่มีโอกาสจะรู้ตลอดเรื่องได้
จะเห็นได้ว่าสัจจะอันนี้ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ความว่า
“สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถจะมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังเกิดมารอดอยู่”
แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กฎหมายกับชีวิตของมนุษย์ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ความเปลี่ยนแปลงตามกฎแห่งความเป็นอนิจจัง ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง
ถ้าเรามองย้อนหลังไปพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวของสังคมที่เราสัมผัสอยู่ในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นถึงความเป็นอนิจจังของกฎหมายกับกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเราหรือก่อนที่ชีวิตเราเกิด
ตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรามองย้อนหลังไป ก็จะเห็นได้ว่าระบอบการปกครองใหม่ที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวทั้งในทางบวกและลบ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่คงกับที่ รัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากมายหลายฉบับ บางฉบับก็มีความก้าวหน้า แสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาธิบไตยที่สมบูรณ์ แต่บางฉบับก็ถอยหลังไปสู่ระบอบเก่ามีระบบเผด็จการเกิดขึ้นบางยุค และในช่วงเวลานั้นก็สิ่งที่เรียกว่า“ธรรมนูญชั่วคราว” บ้าง “คำสั่งคณะปฏิวัติ” บ้าง แม้กฎหมายที่สำคัญบางฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ยังปรากฏเป็นรูปแบบของคำสั่งคณะปฏิวัติอยู่ น่าที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะได้หยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้เป็นรูปแบบของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย
การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมของมนุษย์นั้น จากประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราเองก็ดี หรือแม้แต่ของต่างประเทศก็ดี จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมจะมีผลกระทบต่อปัจจัยในทางเศรษฐกิจและนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายทุกครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นไปโดย “วิถีสันติ” เช่นการเลิกทาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือโดย “วิถีไม่สันติ”การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หรือ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของมนุษย์ปรารถนาวิถีสันติ การที่มนุษย์ใช้วิถีไม่สันติในการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เพราะระบบสังคมได้กีดกันทางนิตินัยหรือทางพฤตินัยหรือทั้งสองทาง มิให้มนุษย์ใช้วิถีทางสันติได้ มนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้วิถีไม่สันติ
วิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางสันติอันเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีความปรารถนาเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจก็คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดในการใช้กฎหมายให้ประสานกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี