เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน “ที่นี่แนวหน้า” มีโอกาสไปร่วมฟังบรรยายจากวิทยากรหลายท่านในงาน The Visual Talk Data is All Around ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการใช้ “ข้อมูล (Data)” ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การบริหารองค์กรและประเทศ เริ่มตั้งแต่เจ้าภาพจัดงานอย่าง ThaiPBS ที่นำเสนอผ่านนิทรรศการ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.The Bag (สัม) ภาระหนัก บนบ่าเด็ก : สะท้อนปัญหาการแบกน้ำหนักกระเป๋านักเรียนของเด็กไทย
2.Thrones of Thorn ศึกชิงบัลลังก์ราชาหนาม ปอกเรื่องราวใต้เปลือกทุเรียนไทย : บอกเล่าประวัติศาสตร์ของทุเรียน หนึ่งในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย 3.เธอไม่เปลี่ยนแปลง..ร้อนนี้จึงเปลี่ยนไป : ฉายภาพอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต และมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญเพียงใดกับการเปลี่ยนแปลงนี้ 4.นกเงือก..นักปลูกป่าผู้คลั่งรัก : ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมของนกเงือกที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้และเพิ่มพื้นที่ป่า
และ 5.วัยเด็ก วันเด็ก กับความหวังที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น : รวบรวมคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน มาถอดรหัสหาความคาดหวังของผู้ใหญ่ต่อเด็ก และคำขวัญของแต่ละยุคสมัยสัมพันธ์กับสถานการณ์ของประเทศเพียงใด ซึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ThaiPBS มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่อยากนำเสนอนวัตกรรมสื่อที่นำข้อมูลมาออกแบบและพัฒนาเพื่อเล่าเรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่าในยุคดิจิทัลแบบนี้ประชาชนคือผู้กำหนดข้อมูลข่าวสารตัวจริง
กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ยกตัวอย่างข้อมูลที่ทีมงานของไวซ์ไซท์รวบรวมจากความเคลื่อนไหวบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น อิทธิพลของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรืออินฟลูเอนเซอร์ ต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่พบว่า คนไทยร้อยละ 81 ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ อีกทั้งยังระบุด้วยว่า เหตุผลในการเลือกซื้อสินค้า ร้อยละ 36.35 ต้องการซื้ออยู่แล้ว แต่รองลงมา ร้อยละ 29.92 ซื้อเพราะเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ และที่ใกล้เคียงกันมากคือร้อยละ 29.31 ซื้อเพราะถูกอินฟลูเอนเซอร์โน้มน้าว
ข้อค้นพบข้างต้นทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “ฉันซื้อเพราะฉันเชื่อ..ฉันลงทุนเพราะฉันเชื่อคนนี้” ซึ่งสอดคล้องกับคดีดังที่เป็นข่าวใหญ่ตลอดช่วงเดือนเศษๆ ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีข้อน่าเป็นห่วงเรื่องของ “ปุ่ม Pay Later (ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง)” ที่ล่อตาล่อใจบนแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ เพราะกดปุ๊บสินค้าก็มาส่งทั้งที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน แต่นั่นคือความสุ่มเสี่ยงของ “การเป็นหนี้” หากไม่มีความตระหนักรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) เพราะสามารถช็อปปิ้งได้ทุกที่-ทุกเวลาแม้อยู่ในห้องนอน ยิ่งกว่าบัตรเครดิตที่อย่างน้อยก็ต้องออกจากบ้านไปจับจ่ายที่ร้านค้า
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และอดีตทีมงานเทคโนโลยีดิจิทัลพรรคก้าวไกลยกตัวอย่างการทำระบบข้อมูลที่ช่วยในการบริหารงานภาครัฐ1.ประสิทธิภาพ เช่น การแปลงที่อยู่จริงให้เป็นพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geocoding) หรือแปลงเลขที่บ้านให้เป็นค่า GPS อาทิ ในช่วงน้ำท่วมภาคเหนือเมื่อเดือน ก.ย. 2567 หากทำระบบนี้แล้วไปบูรณาการกับแผนที่ดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รัฐจะทราบทันทีว่าบ้านหลังไหนถูกน้ำท่วมบ้าง นำไปสู่การจ่ายเงินเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว
2.โปร่งใส มีกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ในอดีตการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐ จะใช้การทำ TOR ทุกเรื่องเหมือนกับไทย ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องซื้อของแพงเกินจริงบ้างล็อกสเปกเอื้อผู้ประกอบการบางรายบ้าง เกาหลีใต้จึงแก้ไขด้วยการแบ่งการจัดซื้อเป็น 2 แบบ หากสิ่งที่จะซื้อนั้นมีความซับซ้อนจำเป็นต้องใช้ TOR ก็ต้องทำ แต่หากเป็นจัดซื้อสิ่งของทั่วไป (เช่น โต๊ะ-เก้าอี้ ถาดอาหารหลุม) มีการจัดทำแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ประกอบการที่มีสินค้าพร้อมขายกับหน่วยงานที่ต้องการซื้อมาเจอกัน วิธีนี้ช่วยให้เกาหลีใต้ประหยัดงบประมาณลงได้ถึงร้อยละ 64
และ 3.ประชาธิปไตย ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่แล้ว แต่สามารถทำให้ดีกว่าปัจจุบันที่ประชาชนต้องเข้าไปคอยดูในเว็บไซต์เป็นระยะๆ ได้ โดยรัฐจัดทำแอปพลิเคชั่นที่ช่วยแจ้งเตือน เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น
อาทิตยา บุญยรัตน์ ทีมสื่อสารกรุงแทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงโครงการ “ร้านนี้ไม่เทรวม” ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการ “ไม่เทรวม” ที่ กทม. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ช่วยแยกขยะโดยเฉพาะ “ขยะอินทรีย์” เพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา โครงการไม่เทรวมช่วยให้ กทม. ประหยัดงบประมาณกำจัดขยะได้ 141 ล้านบาท จึงขยายผลเชิญชวนร้านอาหารทุกประเภททั่วทั้ง กทม. เข้าร่วมโครงการเพิ่ม โดยร่วมกับแพลตฟอร์มภาคเอกชน ซึ่งร้านที่เข้าร่วมก็จะถูกปักหมุดในแผนที่ของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นและช่วยอุดหนุน
จากวิทยากร 4 ท่านแรก ให้ภาพผลลัพธ์ของการใช้ข้อมูล วิทยากรอีก 3 ท่าน ได้ให้คำแนะนำในเชิงเทคนิค อาทิ กษิดิศ สตางค์มงคล นักวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเกอร์เจ้าของเพจ DataRockie กล่าวว่า “คำตอบที่ถูกมาจากการตั้งคำถามที่ถูก” ดังตัวอย่างของ ทาเครุ โคบายาชินักแข่งกินจุชาวญี่ปุ่น ที่ไปแข่งกินฮอตด็อกที่สหรัฐอเมริกา กติกามีอยู่ว่าภายใน 12 นาที ใครกินได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะโคบายาชิ ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจะกินได้ง่ายขึ้น แทนที่จะตั้งว่าทำอย่างไรจะกินได้มากขึ้น นำไปสู่การหาคำตอบที่ถูกคือ นำขนมปังบิดชุบน้ำให้นุ่มกลืนง่าย ส่วนฮอตด็อกแยกกินก็กลืนง่าย ทำให้โคบายาชิกินได้ถึง 50 ชิ้น ทำลายสถิติปีก่อนหน้าซึ่งมีคนทำไว้ที่ 25 กับอีก 1 ส่วน 8 ชิ้น
วินน์ วรวุฒิคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Botnoi Group แนะนำว่า “รวบรวมข้อมูลมาแล้วอย่าลืมตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้อง หรือการทำความสะอาดข้อมูล (Cleansing) ก่อนใช้ด้วย” โดยมีตัวอย่างจากผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่มีตั้งแต่ 12 งวด 18 งวด 24 งวด และ 36 งวด ตนไปเห็นข้อมูลก็แปลกใจว่าเหตุใดยอดสินเชื่อกลุ่ม 18 งวดสูงกว่ากลุ่มอื่น แทนที่จะเป็น 12 งวด และ 36 งวด แต่เมื่อสอบถามไปก็ได้ทราบว่า สินเชื่อ 18 งวด เป็นค่าตั้งต้น (Default) กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่เปลี่ยนไปเลือกแบบอื่น ผู้ให้บริการก็จะอนุมัติแบบ 18 งวดให้
อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอราไลน์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของ“การธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance)” เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำหากต้องการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ก็คือการมีนโยบายดูแลทรัพยากรข้อมูล เช่นเดียวกับนโยบายดูแลทรัพยากรบุคคล ไล่ตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานจากคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล มีมาตรฐานกระบวนคัดกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่หรือใช้งาน เพราะการไม่มีมาตรฐานจะเกิดปัญหา เช่น ข้อมูลสกปรกไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือข้อมูลหลุดรั่วเพราะไม่มีกฎเกณฑ์การนำไปใช้ !!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี