ก่อนอื่นต้องถามว่า ไทยกับกัมพูชามีพื้นที่ทับซ้อนกันหรือไม่ หากตอบเรื่องนี้ได้ชัด ก็น่าจะตัดปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนไทยกับกัมพูชาได้โดยพลัน แต่คำถามคือ ใครจะตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน รัฐบาลไทยมีคำตอบกระจ่างชัดให้ประชาชนหรือไม่
แต่ความจริงคนที่เรียนรู้เรื่องปัญหาพรมแดนไทยหรือสยามในอดีตกับกัมพูชา ต่างบอกตรงกันว่าหลังจากสยามต้องเผชิญหน้ากับนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทำให้สยามต้องจำยอมให้มหาอำนาจฝรั่งเศสกระทำการโดยพลการในเรื่องแบ่งดินแดนต่างๆ ของบริเวณฝั่งซ้ายและขวาลำน้ำโขงได้ตามอำเภอใจ โดยอ้างสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ 1907 เป็นเครื่องผูกมัดบีบบังคับสยาม (ขออธิบายเพิ่มเติมว่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือฝั่งทิศตะวันออก ส่วนฝั่งขวาคือฝั่งทิศตะวันตก)
ดังนั้น ลำน้ำโขงคือเส้นแนวเขตแดนสำคัญในการแบ่งเส้นอาณาเขต โดยกำหนดให้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นของสยาม โดยลากเส้นแบ่งเขตแดนไปถึงแนวเทือกเขาดงรัก แล้วกำหนดด้วยว่าด้านทิศเหนือของสันปันน้ำเทือกเขาดงรักเป็นดินแดนของสยาม ส่วนด้านใต้สันปันน้ำเป็นของฝรั่งเศส
เมื่ออ้างหลักด้านเหนือด้านใต้ของสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรัก ก็ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเหตุใดปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบปราสาทซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของสันปันน้ำ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าพื้นที่ดังกล่าวตกเป็นของฝรั่งเศส ย้ำว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชายังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจคนไทยมาจนถึงบัดนี้ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ต้องการจะนำเรื่องนี้มาพูด เพราะอ้างว่าศาลโลกตัดสินคดีแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีเรื่องค้างคาใจคนไทยจำนวนไม่น้อย พร้อมกับคำถามว่าปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาได้อย่างไร
เมื่อเรื่องปราสาทพระวิหารผ่านการตัดสินของศาลโลกไปแล้ว ก็จำต้องปล่อยให้ผ่านไป เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะพูดในสิ่งที่ศาลโลกตัดสินไปแล้ว ยกเว้นไทยจะมีหลักฐานใหม่ที่บ่งบอกชัดเจนว่าศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหารผิดพลาด
แต่เรื่องที่หลายคนกำลังเฝ้ามองในขณะนี้คือเกาะกูด ขอย้ำว่าเกาะกูดเป็นของไทยอย่างแน่นอน เพราะใช้หลักฐานอ้างอิงจากสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าเกาะกูดเป็นของใครเพราะเป็นของไทยอย่างชัดเจน
ประเด็นต่อมาคือ ในเมื่อมีหลักฐานสำคัญคือสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 แล้วเหตุใดจึงเกิดปมปัญหาเรื่อง OCA (Overlapping Claims Area) คือพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกัน แต่ก็ต้องย้ำว่า OCA เป็นการอ้างพื้นที่ในท้องทะเลเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่บนบกแต่ประการใด และสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ไม่ได้กล่าวถึงพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
แน่นอนว่าไทยกับกัมพูชามีเขตทางทะเลต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณปลายสุดแหลมจังหวัดตราด ดังนั้น ไทยจึงต้องมีการกำหนดเขตแดนทางทะเลให้ชัดเจนให้มากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของไทย และเพื่อป้องกันปัญหาการกระทบกระทั่งกับประเทศกัมพูชา
ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่าอาณาเขตทางทะเลของไทย (marinetime zone) อ้างอิงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 มีประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตร โดยความยาวของชายฝั่งทะเลทั้งหมดทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 3,148. 23 กิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด
ประเทศไทยมีเขตน่านน้ำทางทะเลแบ่งเป็น 6 เขต คือ 1) น่านน้ำภายในประเทศ 2) ทะเลอาณาเขต 3) เขตต่อเนื่อง 4) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 5) ไหล่ทวีป และ 6) ทะเลหลวง
คราวนี้มาดูปมปัญหาที่ทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา เริ่มมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2515 กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปแบบที่ไทยไม่มีทางยอมรับได้ คือการลากเส้นตรงจากแนวพรมแดนไทยกับกัมพูชา ไปทางทิศตะวันตกโดยเส้นตรงที่ลากนั้นผ่ากลางเกาะกูด แล้วลากไปยังจุดกลางอ่าวไทย แล้วหักเส้นลงทางใต้ให้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลของไทยด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการลากเส้นที่ไม่มีวันที่ไทยจะยอมรับได้เป็นอันขาด
ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาจะดำเนินไปได้ค่อนข้างดี เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศราบรื่นแต่หากช่วงใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ราบรื่น การเจรจาใด ๆ ก็หยุดชะงักลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาคือเรื่องปัญหาความไม่สงบภายในกัมพูชา เพราะเกิดการสู้รบและสงครามในกัมพูชาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งในยุคที่ประเทศไทยมีรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนนโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้าการเจรจาก็เริ่มต้นไปในทิศทางที่ผ่อนคลายและดีขึ้น
อันที่จริงต้องบอกว่าการเจรจาเพื่อหาทางออกในปัญหาพรมแดนทางบกได้เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย โดยเน้นการเจรจาหาข้อตกลงในเขตพื้นที่ทางบกที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเน้นหลักให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงหลักกฎหมายและข้อกำหนดในสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส รวมถึงยึดถือแผนที่ต่างๆ ที่ได้ทำไว้แต่เดิมแต่มีข้อสังเกตว่าฝ่ายไทยประกาศว่าไม่ยอมรับแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่ระบุในสนธิสัญญา ค.ศ.1904 โดยไทยได้ยื่นต่อศาลโลกเมื่อครั้งพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารว่าไทยไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ยังคงดำเนินไปเป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองภายในของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ จนกระทั่งได้เกิด MOU 44 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU 44 ในเดือนมิถุนายน 2544 โดยมีการเปิดเวทีร่วมเจรจาหาข้อตกลงในปัญหาพื้นที่ทางทะเลระหว่างกัน
แต่ก็ต้องยอมรับว่าทักษิณ ชินวัตร กับฮุนเซนแห่งกัมพูชามีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาก่อนที่ทักษิณจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยในเบื้องต้นเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจด้านโทรคมนาคม ในขณะที่ฮุนเซนยังสามารถกุมอำนาจรัฐในกัมพูชามายาวนานหลายทศวรรษจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นการทำ MOU 44 ในยุคทักษิณจึงมีข้อน่าสังเกตหลายประการ เช่น ขั้นตอนและกระบวนการทำ MOU รวมถึงข้อตกลงด้านปักปันพื้นที่ทางทะเล และการพิจารณาพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) รวมถึงเรื่องการเจรจาเพื่อปักปันเขตไหล่ทวีป
สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ ไทยและกัมพูชาจะร่วมกันเจรจาแบ่งพื้นที่ทางทะเลอย่างไรเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างดีและลงตัวมากที่สุด หากรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า MOU 44 ให้ผลดีต่อการเจรจา ก็ต้องเดินหน้าต่อไป แล้วประกาศยืนยันกับสาธารณชนให้หนักแน่นว่า MOU 44 เป็นเครื่องมือช่วยให้การเจรจาได้ผลดี แต่หากไม่มั่นใจว่า MOU 44 จะให้ผลดีกับไทยโดยแท้จริง รัฐบาลก็ต้องยกเลิก MOU 44 และที่สำคัญคือ รัฐบาลไทยต้องไม่พูดว่าเป็นความกรุณาของกัมพูชาที่ไม่ลากเส้นผ่ากลางเกาะกูด แถมยังกรุณาลากเส้นอ้อมเกาะกูดลงมา ซึ่งการอ้างแบบนี้ไม่ต่างไปจากการยอมรับว่ากัมพูชามีสิทธิเหนือเกาะกูด ทั้งนี้รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยต้องสำเหนียกไว้ตลอดเวลาว่าเกาะกูดเป็นของไทย เพราะฉะนั้น ไม่มีใครอื่นนอกจากไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด ส่วนการเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลนั้น ก็กระทำต่อไปเพื่อให้ไทยได้ผลประโยชน์ก็แล้วกัน แต่ต้องไม่ทำให้ไทยเสียดินแดนแม้แต่ตารางเซนติเมตรเดียว
ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนไทยซึ่งมองไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นของ MOU 44 ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 แต่หากพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า MOU 44 มีประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ก็ต้องแสดงให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นให้ชัดว่า MOU 44 สำคัญและจำเป็น และต้องยึดถือไว้ต่อไป แล้วพรรคเพื่อไทยก็ไม่จำเป็นต้องประณามคนที่คัดค้าน หรือเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 ว่าเป็นคนคลั่งชาติ ไม่รักชาติ หรือก่อสงคราม เพราะในเมื่อคนส่วนหนึ่งเห็นว่า MOU 44 ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ผิดที่เขาจะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมันเสีย
แน่นอนว่าการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทางทะเลโดยเฉพาะ OCA เป็นสิ่งที่ไทยและกัมพูชาต้องกระทำร่วมกัน ต้องเปิดเจรจากันเพื่อนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ไม่มีใครสามารถทำได้โดยฝ่ายเดียว แต่ก็ต้องยืนยันอย่างหนักแน่นว่าการเจรจาใดๆ ต้องไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบ หรือสูญเสียผลประโยชน์ และที่สำคัญคือต้องไม่เป็นชนวนนำไปสู่การเสียดินแดนไทยในอนาคต หากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าไทยได้ประโยชน์แท้จริง ก็ต้องดำเนินการต่อไป แต่เพื่อไทยจะห้ามคนไทยระแวงหรือตั้งข้อสงสัยกับเพื่อไทยไม่ได้ เพราะคนไทยรู้ดีว่าทักษิณ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ครอบครองนายกรัฐมนตรีไทย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับฮุนเซนแถมยังเป็นที่ปรึกษาของฮุนเซน และมีความเกี่ยวดองกับฮุนเซน ในเมื่อความเป็นจริงปรากฏเช่นนี้ ก็จึงทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจทักษิณ เพราะเกรงว่าทักษิณอาจจะมีใจให้ฮุนเซนมากกว่ารักษาผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐไทย
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ฉลาดพอ และเห็นแก่ผลประโยชน์แห่งรัฐเป็นสำคัญ การที่มีผู้คัดค้าน MOU 44 ไม่น่าจะเกิดมาจากเพราะว่าเป็น MOU ที่เกิดโดยรัฐบาลทักษิณ แต่มูลเหตุที่มีผู้คัดค้าน เพราะเขาเชื่อว่า MOU 44ไม่เป็นคุณต่อประเทศไทย เพราะคนคัดค้านสังเกตเห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างทักษิณกับฮุนเซนมาโดยตลอด แถมคนของเพื่อไทยก็ยังแสดงอาการดึงดันจะเจรจาตามกรอบ MOU 44 โดยไม่สนใจเสียงตั้งคำถามของคนไทยจำนวนมาก
ขอย้ำว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ไทยกับกัมพูชาเกิดเรื่องวิวาทบาดหมางกัน แต่ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย ไม่ไว้ใจทักษิณ เพราะสังเกตเห็นพฤติกรรมการเมืองที่พิสดารของทักษิณ และพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี