ในสังคมที่มีการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมากๆ จนเกิดเป็นชาติขึ้นนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดปัญหา ที่อาจจะเกิดจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน การทะเลาะวิวาท หรือแม้แต่การทำร้ายต่อชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันที่เรียกว่ากฎหมาย และเมื่อมีการตราตัวบทกฎหมายขึ้นมา ก็จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติคือมีการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเกิดกรณีต่างๆ ก็ต้องมีผู้ที่จะทำหน้าที่ในการตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นตามตัวบทกฎหมายนั้น
ประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายเพื่อใช้ในการปกครองบ้านเมือง ตามที่มีบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง พระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ อันเป็นคัมภีร์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีพื้นฐานของวัฒนธรรมอินเดียโดยผ่านมาทางมอญ เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้เป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรม และถูกแพร่หลายไปในดินแดนต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กฎหมายที่บังคับใช้ในสมัยอยุธยานั้นอาจจะแบ่งตามยุคสมัยได้เป็น ๓ ระยะ คือ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นตอนกลาง และตอนปลาย
กฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ จนถึง ๑๙๑๐ มีกฎหมายถูกตราขึ้น๑๐ ฉบับคือ
กฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายลักษณะอาญาหลวงกฎหมายลักษณะรับฟ้อง กฎหมายลักษณะลักพา กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ กฎหมายลักษณะโจร กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน กฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งต่อมามีเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ และกฎหมายลักษณะโจรว่าด้วยสมโจร
ตัวอย่างกฎหมายลักษณะผัวเมีย เช่น หญิงซึ่งพ่อแม่ได้ยกให้เป็นเมียของชายนั้นได้ชื่อว่าเป็นเมียกลางเมืองก็คือเมียหลวง ชายที่ขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา หญิงนั้นได้ชื่อว่าเมียกลางนอก หญิงซึ่งชายใดไถ่ถอนจากความทุกข์ยากและนำมาเลี้ยงเป็นเมีย ได้ชื่อว่าเมียกลางทาสี
มีการกำหนดผู้ที่มีหน้าที่พิพากษาคดี เช่น เสนาบดีกรมเมือง พิพากษาคดีอุกฉกรรจ์ที่ทำให้เกิดความไม่สงบในแผ่นดิน เสนาบดีกรมวัง พิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของราษฎร เสนาบดีกรมคลัง พิพากษาคดีเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ และเสนาบดีกรมนา พิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของชาวนารวมทั้งเรื่องโคกระบือ
กฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเริ่มต้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๘ของอาณาจักรอยุธยา มีกฎหมายเพิ่มเติมหลายฉบับคือกฎหมายว่าด้วยการเทียบศักดินา กฎหมายลักษณะอาญาขบถศึก กฎหมายลักษณะอาญาหลวง กฎหมายว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล
กฎหมายลักษณะอาญาขบถศึก ตราขึ้นเพื่อป้องกันและคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ผู้ใดทำร้าย จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
กฎหมายสมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มใช้ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการทหาร มีการจัดกรมโดยใช้คำเรียกว่าสุรัสวดี มีหน้าที่รวบรวมบัญชีชายฉกรรจ์ มีการจัดแต่งตำรายุทธพิชัยสงครามเพื่อใช้เป็นหลักในการทำสงครามให้ถูกยุทธวิธี ในส่วนของชายฉกรรจ์ที่มีสัญชาติไทย ได้กำหนดว่าอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สม อายุ ๒๐ ปี รับราชการเป็นไพร่หลวง จนถึงอายุ ๖๐ ปีจึงจะถูกปลด แต่ถ้ามีบุตรชายและเข้ารับราชการ ๓ คน ให้บิดาพ้นจากราชการไปได้ ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง ในเวลาที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไพร่หลวงจะต้องเข้าประจำการหรือที่เรียกว่าเข้าเวร ปีละ ๖ เดือนในส่วนของหัวเมืองชั้นนอกให้เกณฑ์ทหารเข้ามาตามสัดส่วนที่ราชการต้องการ
กฎหมายต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงจัดให้มีการชำระและปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายให้เป็นฉบับใหม่ที่เรียกว่ากฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายที่สะท้อนความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของชาติไทยได้เป็นอย่างดี หลังที่ได้จัดทำขึ้นแล้วได้ประทับดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์และบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่ากฎหมายตราสามดวงดังกล่าว ซึ่งได้ถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ ๕จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลครั้งใหญ่ นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายตราสามดวงในที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๖๐ โดยในมาตรา ๓บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”
ในส่วนของศาลนั้น ได้กำหนดให้มี ๔ ศาลคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และศาลทหาร
กล่าวได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหลักสำคัญในการทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และการธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือเรื่องการกระทำ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้น และเป็นคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร
องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาประกอบไปด้วยผู้พิพากษาจากศาลฎีกาตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น รวมทั้งสิ้น ๙ คน ในจำนวนนี้มีเพียง ๓ คน ที่เป็นผู้พิพากษา จึงเป็นที่มาที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช้คำว่าคำพิพากษา แต่จะใช้คำว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งแทน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเพื่อวินิจฉัยคำร้อง ของผู้ร้องว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้อง ได้กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคำร้องมี ๖ ประเด็นโดยสรุปคือ
นายทักษิณได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมและโรงพยาบาลตำรวจ เอื้อประโยชน์เรื่องที่พัก ทำให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ
ได้สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชาในเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
ได้สั่งการพรรคเพื่อไทยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคประชาชน
ได้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย เพื่อเจรจากับพรรคอื่นในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักส่วนตัว
ได้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากรัฐบาล
และได้สั่งการให้พรรคเพื่อไทยนำนโยบายที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เป็นนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะทำให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ถึงแม้ว่าการตัดสินของศาลในครั้งนี้จะทำให้ผู้ถูกร้องพ้นจากข้อกล่าวหาได้ แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติว่า การเข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองของใครหรือรัฐบาลใดก็ตาม จะต้องรักษาอธิปไตยของชาติซึ่งหมายรวมถึงเขตแดนและทรัพยากรในเขตแดนนั้นๆ ธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างที่สุดในการบริหาร เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของชาติ และประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ขอทิ้งท้ายว่ารัฐบาลนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อแพทองธาร จะไม่เอา MOU ๔๔ ที่เกิดขึ้นในสมัยที่พ่อของตัวคือนายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี มาทำให้ไทยต้องสูญเสียทรัพยากรของชาติบริเวณเกาะกูด โดยมีแนวคิดว่าหากการตกลงกับกัมพูชาไม่ลงตัว ก็ต้องใช้วิธีแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ยิ่งกว่าขายชาติ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี