ปีนี้ กิจการสายการบินกลับมาอู้ฟู่ น่ายินดี
แต่ผู้บริโภคกลับสะท้อนเสียงไปในทางเดียวกันว่า ราคาค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ โดยเฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ มีราคาโดยทั่วไปแพงขึ้นอย่างหูดับตับไหม้
ถึงขนาดว่า หลายครั้ง แพงกว่าค่าโดยสารเดินทางไปต่างประเทศเสียอีก
บินไปเชียงใหม่เที่ยวเดียว ราคา 5 พันกว่าบาท
บินไป-กลับ หมื่นกว่าบาท
เส้นทางไปภูเก็ต ยิ่งหนักหน่วง
นี่มัน “โลว์คอสต์” แต่ไม่ใช่ “Low price” แล้ว !!
1. ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 สายการบินเกือบทุกสาย กลับมามีกำไรพุ่งทะยานหมด
ยกตัวอย่าง สายการบินขาใหญ่ในวงการโลว์คอสต์ในประเทศ ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย (TAA)
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2567 AAV มีรายได้รวม 15,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“โดยจำนวนผู้โดยสารและราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม
..ส่วนต้นทุนโดยรวมทรงตัวจากปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ลดลงและแผนปรับกลยุทธ์เน้นเส้นทางบินที่มีผลตอบแทนดี
ทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้น 355% มาอยู่ที่ 1,772 ล้านบาท
รายงานกำไรสุทธิ 3,446 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากขาดทุนสุทธิ (1,695) ล้านบาท…
ไตรมาสนี้ TAA ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.9 ล้านคนเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และคงอัตราขนส่งผู้โดยสารในระดับสูงที่ 90%
..สำหรับตลาดภายในประเทศ TAA ยังมีส่วนเเบ่งการตลาดอันดับหนึ่งที่ 39% และอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 93% แม้จะเป็นนอกฤดูท่องเที่ยวและเกิดน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา…” - นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าว
นี่คือข้อมูลเปิดเผยจากผู้บริหารสายการบินรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
ย้ำ... “ต้นทุนโดยรวมทรงตัวจากปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ลดลง”
และ “จำนวนผู้โดยสารและราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้น”
“อัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 93%”
2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้จะมีมาตรการที่ชัดเจน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินแพง
“ในสัปดาห์หน้า (สัปดาห์นี้ 26 พ.ย.2567) คาดว่าจะมีความชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตั๋วเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆ รวมไปถึงราคาตั๋วรถโดยสารไม่ให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจะกำหนดให้เป็นมาตรการถาวร
…ผมเข้าใจเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งจะต้องเข้าใจ ในเรื่องของดีมานด์ ซัพพลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงคมนาคม จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของซัพพลาย -ดีมานด์ เพียงอย่างเดียว แต่จะเข้าไปควบคุมราคาตั๋วโดยสาร ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น..
ราคาตั๋วโดยสารจะมีการปรับลดลงก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างแน่นอน” – รมว.คมนาคมกล่าว
น่าสนใจว่า รมว.คมนาคม จะวางมาตรการอย่างไร?
จะมีน้ำยาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง หรือไม่?
หรือจะเป็นแค่น้ำลายนักการเมือง?
แต่ถ้าแก้ปัญหาได้เป็นรูปธรรม จับต้องได้เชื่อว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกระทรวงคมนาคมยุคนี้
3. ในความเป็นจริง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำเอาไว้อยู่แล้ว
แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทั้งๆ ที่ มีเพดานราคาอยู่ แต่ราคาก็ยังสูงได้ขนาดนี้
หมายความว่า มันต้องมีบางอย่างผิดปกติ ไม่เหมาะสม หรือไม่เวิร์ก
เพดานราคายังสูงไป จึงมีพื้นที่ให้สายการบินกำหนดราคากอบโกยกำไรพิเศษ โขกสับผู้บริโภค หรือไม่?
หรือปล่อยให้มีการถ่ายเทตั๋วไปขายผ่านตัวแทน เลี่ยงเกณฑ์ราคาเพดาน อย่างไม่รับผิดชอบ หรือไม่?
พบว่า ปัจจุบัน CAAT ได้กำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไว้ ดังนี้
- สายการบิน Low Cost ราคาไม่เกิน 9.40 บาท/กม.
- สายการบิน Full Service ราคาไม่เกิน 13 บาท/กม.
เท่ากับว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ราคาเพดานสายการบินต้นทุนต่ำกำหนดให้ไม่เกิน 5,320 บาท
ปรากฏว่า พบเห็นผู้โดยสารโดนกัน 3,000 บาท – 5,000 กว่าบาท เป็นประจำ (ราคานี้ไม่รวมค่าสัมภาระ)
ทั้งๆ ที่ ราคาปกติเคยอยู่ที่ราวๆ 1,600 – 2,500 บาท
ราคานี้ สายการบินก็มีกำไรแล้ว
แต่หนักกว่านั้น บางราย โดนบางสายการบินไป 6 พันกว่าบาท เมื่อซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย
เพดานที่กำหนดสูงเกินไป ก็เสมือนไร้เพดานควบคุมนั่นเอง
ถ้าภาครัฐจะอ้างว่า ราคาเพดานควบคุมไม่รวมที่ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย ก็เท่ากับปล่อยให้มีการกักตุนขายโก่งราคากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ย่อมจะน่าละอายมาก
ถ้าภาครัฐไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ ก็เท่ากับปล่อยให้กลุ่มธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทย สามารถกอบโกยผ่านการขูดรีดค่าโดยสาร แสวงหากำไรพิเศษ จากเลือดเนื้อของคนไทยที่ใช้บริการโลว์คอสต์แบบไม่โลว์ไพรซ์ในประเทศ
แน่นอน ราคาค่าโดยสารเครื่องบินย่อมไม่ตายตัว แต่แปรผันตามความต้องการเดินทาง ระยะเวลาที่จอง ฯลฯ
ทางสายการบินมักชี้แจงว่า ในหนึ่งลำ จะมีราคาค่าโดยสารคละกันไป บางที่นั่งได้ถูก บางที่นั่งได้แพง แต่เฉลี่ยแล้ว ต่ำกว่าราคาเพดาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่นั่นจะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อ ราคาสูงที่สุดที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารที่โชคร้ายในลำนั้น จะต้องไม่เกินเพดานที่ไม่ตั้งไว้สูงเว่อร์
ถ้าเพดานราคาค่าโดยสารยังสูงเว่อร์ คำอธิบายแบบนี้ เท่ากับจะให้ยอมรับว่า ในหนึ่งลำ จะต้องมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกฟันหัวแบะ ด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว
ทั้งๆ ที่ ต้นทุนของสายการบินไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
เรียกว่า กำไรเน้นๆ จากเลือดเนื้อของผู้โดยสารที่โชคร้าย
ยิ่งกว่านั้น ใครเป็นคนตรวจสอบว่า แต่ละเที่ยวบิน สายการบินได้จัดสรรที่นั่งราคาเท่าไหร่เป็นสัดส่วนเท่าใดอย่างแท้จริง เพราะผู้โดยสารไม่มีทางรู้ค่าโดยสารของคนอื่น
ข้อมูลทั้งหมด มีแต่สายการบินตั้งราคาเองเก็บเงินเอง
ขณะนี้ สายการบินอู้ฟู่ กำไรเข้มแข็ง
กระทรวงคมนาคมต้องเข้ามาดูแล ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้โดยสารได้แล้ว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี