ในโลกช่วงยุคสงครามเย็นจากประมาณปี พ.ศ. 2488-2534 ไทยกับสหรัฐอเมริกาต่างอยู่ในค่ายโลกเสรี (The Free World) ร่วมกัน (ไม่เอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไม่เอาเผด็จการคอมมิวนิสต์) โดยกองกำลังทหารสหรัฐฯ และไทยในฐานะพันธมิตรได้ร่วมกันสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เกาหลีเหนือ และจีนที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลังกันที่คาบสมุทรเกาหลีและต่อมาที่แหลมอินโดจีนในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต จึงจัดได้ว่าไทยและสหรัฐฯ ร่วมกับมิตรประเทศในค่ายโลกเสรี สามารถยันการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ และในที่สุดป้อมปราการของโลกคอมมิวนิสต์ก็อ่อนเปลี้ย และแตกสลายลงไปตามลำดับ
และในช่วงสงครามเย็นนี้ ไทยและสหรัฐฯมีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทหารและความมั่นคงหลายๆ ฉบับ และไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องการพัฒนากองทัพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ รวมทั้งการลงทุนที่ได้เสริมสร้างเศรษฐกิจการตลาด และบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมพัฒนาประเทศ จนมีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้วยระบบทุนนิยม หรือเศรษฐกิจการตลาดเสรี
ทั้งหมดนี้จัดได้ว่า สหรัฐฯ ได้มีบทบาทเป็นสำคัญในการอำนวยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภยันตรายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และสามารถพัฒนาประเทศขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งอย่างสง่างาม
เมื่อโลกยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีจุดประสงค์ที่จะให้ประเทศต่างๆ เชื่อมโยงกันแบบไร้พรมแดน อำนวยด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ทำให้การติดต่อรวดเร็ว และการรับรู้ซึ่งข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างทันทีทันควัน คู่ขนานกันไปอันสืบเนื่องมาจากชัยชนะของโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ดังกล่าว โลกจึงมีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในกรอบของสิทธิมนุษยชน และการอยู่ร่วมกันภายใต้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ในการนี้ บริบทความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับตัว คือลดความเข้มข้นของเรื่องความมั่นคงและการทหาร ไปสู่ความร่วมมือที่จะเสริมสร้างความเจริญมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้นไป (Prosperity) ทั้งในกรอบทวิภาคีและในกรอบพหุภาคี เช่น องค์การเอเปก และความสัมพันธ์แบบมิตรคู่คิดคู่ค้า อาเซียนกับสหรัฐฯ (US-ASEAN Dialogue Partnership) และเวทีกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF)
อย่างไรก็ตาม โลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาการก่อการร้ายสากลและอาชญากรรมข้ามชาติ ไปจนถึงการร่วมมือกันในเรื่องการกู้ภัยธรรมชาติแวดล้อมรวมทั้งโรคระบาด และการบูรณะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐฯ ก็ต้องเอาใจใส่ แต่กรอบความร่วมมือแบบทวิภาคีนั้นไม่เป็นการเพียงพอ และคงจะมิได้ให้ผลสำเร็จอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันในกรอบกว้างแบบพหุภาคีเป็นสำคัญ
นอกจากนั้น ไทยก็มีการทำมาค้าขายกับประเทศต่างๆ และเป็นมิตรที่ดีกับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาบัดนี้กำลังชิงดีชิงเด่นกันในการที่จะเป็น 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและการเป็นเจ้าโลก ซึ่งไทยก็จะต้องวางท่าทีให้เหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของไทยเราเองและการวางท่าทีที่เหมาะสมก็มีนัยว่า ไทยจะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่มีมาโดยตลอดได้หรือไม่อย่างไร และทั้งหมดนี้จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางลึกซึ้งว่า ไทยจะวางตัวอย่างไรในการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทภูมิภาคและระบบโลก ซึ่งรวมถึงวิธีคิดอ่านทำงานทำการแบบเชิงรุกหนักของประธานาธิบดี
โดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ฝ่ายไทยจะต้องตระหนักว่า ในช่วงโลกยุคสงครามเย็นนั้น ไทยมีความสำคัญยิ่งในสายตาของสหรัฐฯ เพราะไทยเราเป็นรัฐแนวหน้า (Front Line State) ที่ถูกลัทธิคอมมิวนิสต์คุกคาม และไทยจะต้องตีกลับทฤษฎีโดมิโนให้ได้ แต่มาบัดนี้รัฐด่านหน้า (Front Line State) จากมุมมองของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ในการเผชิญหน้ากับจีนและตีกรอบจีน ซึ่งประเทศไทยมิได้อยู่ในกลุ่มนี้และฉะนั้นความสำคัญของไทยต่อสหรัฐฯ ก็ลดลงไปโดยปริยาย (Of Secondary Importance)
ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายไทยว่า จะทำตัวอย่างไรเพื่อดึงดูดโอกาสและความสนใจจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยก็ต้องคิดการใหญ่ ไม่สาละวนกับการคิดอ่านทำการกับเรื่องที่ง่ายๆ ตื้นๆ ไม่สลักสำคัญ แต่มากด้วยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างที่เป็นอยู่
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี