ตำแหน่ง ประธานสภาฯนั้น เป็นตำแหน่งที่ต้องทำงานค่อนข้างยาก หลายครั้งท่านก็ต้องปฏิบัติการขัดใจสมาชิกสภา ครั้นเมื่อมีสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ท่านผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรนั้น ล้วนแต่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงมีการตั้งคำถาม โต้แย้งคำอธิบาย และไม่ค่อยจะยอมฟังประธานสภาฯ การเป็นประธานสภาฯจึงลำบากมากขึ้นการลาออกจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาที่ขึ้นหัวข้อนี้ ก็เป็นกรณีประธานสภาฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนั่นเอง
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนแรกมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในจำนวนสมาชิกสภา 70 คนนั้น มีขุนนางเก่าระดับเจ้าพระยาอยู่เพียง 3 ท่าน มีนักกฎหมายอยู่หนึ่งท่าน มีครูอยู่หนึ่งท่าน กับมีหม่อมเจ้าอยู่หนึ่งท่าน สภาฯได้เลือกครู ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ โดยเป็นที่ยอมรับด้วยดีตลอดระยะเวลาประมาณเกือบ 3 เดือน จนนายกรัฐมนตรีได้ขอตัวไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ทำให้สภาฯต้องเลือกเจ้าพระยาพิชัยญาติ เข้ามารับงานต่อ
จนเวลาผ่านมาภายหลังการมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางอ้อมจากประชาชน ตลอดจนมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 2 นี้ สภาฯได้กลับมาเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอีกครั้ง โดยไม่มีผู้แข่งขัน ดูไปแล้วก็เชื่อว่าสภาฯเลือกคนได้ถูกต้อง และท่านน่าจะเป็นประธานสภาฯที่ดูแลและนำองค์กรนิติบัญญัติของสยามให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ปรากฏว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีทำหน้าที่ประธานสภาเป็นครั้งที่สองได้เป็นเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้นเอง มาถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรไปยังรัฐบาล เรื่องนี้มาเป็นที่รู้กันในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2476 ในโอกาสการประชุมสภาตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติก็คือนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ท่านประธานสภาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้มอบหมายให้ท่านรองประธานสภาฯ มาดำเนินการประชุมแทน โดยพระยาศรยุทธฯ ยังได้แจ้งให้สภาทราบว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปยังรัฐบาลแล้วในวันนั้นที่ประชุมได้ขอร้องให้ พระยาศรยุทธฯ ไปขอร้องท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯให้อยู่ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในการประชุมครั้งถัดมา พระยาศรยุทธฯ ได้แจ้งว่าท่านได้ไปพบเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้ว และขอร้องให้ท่านดำรงตำแหน่งต่อไปตามมติของสภาฯ แต่ท่านรองประธานสภาฯแจ้งว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้แจ้งว่าท่านเป็นโรคลำไส้ โดยมีใบรับรองแพทย์ด้วย จึงยืนยันที่จะลาออก ดังนั้นสภาฯจึงได้มีมติรับใบลาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ทำให้ท่านพ้นจากตำแหน่งประธานสภาฯ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ตามที่ขอลาออก
เรื่องนี้ผู้คนไม่ค่อยแน่ใจว่า การป่วย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านลาออก จึงได้มีการไปสืบดูว่าในระยะเวลานั้น ท่านมีความขัดแย้งหรือได้รับความกระทบกระเทือนใจในเรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับการเป็นประธานสภาฯ จึงได้ทราบว่าในตอนปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่านประธานสภาได้จัดให้ประชุม เป็นพิเศษที่ไม่ใช่การประชุมสภาฯเพื่ออธิบายข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาฯ เพื่อให้ผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้าใจ โดยท่านเป็นผู้บรรยายเอง เมื่อจบการบรรยายและให้ผู้ฟังซักถาม ปรากฏว่าขุนสมาหารหิตะคดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้ถามในทำนองว่า ถ้าหากสมาชิกสภาผู้แทนฯไม่พอใจประธานสภาฯจะมีข้อบังคับข้อใดบ้างที่จะให้ประธานสภาฯพ้นตำแหน่งได้ เขาว่าคำถามนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯไม่ตอบ แต่ยุติการบรรยายในทันที ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯน่าจะลาออกเพราะเรื่องนี้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี