“สัดส่วนผู้สูงอายุปัจจุบันนี้ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วบอกปี 2575 จะถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านรู้ไหมครับ? ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า คือปี 2577 อาจจะถึง 1 ใน 3 ของคน
ทั้งประเทศ เป็นคนที่อายุเกิน 60 ปี 1 ใน 3 คนวัยทำงานมีสัดส่วนเล็กลง เด็กเกิดใหม่น้อยลง เราจะทำอย่างไรกับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต ระเบิดเวลาไหมครับ?”
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ “สังคมสูงวัย..จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ในการประชุมวิชาการ Mini-Symposium) “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart AgingSociety : Together, We can)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ซึ่งในขณะที่ “สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” อ.เจิมศักดิ์ ก็ชวนหันไปมอง “อัตราการเกิดที่มีแต่จะลดลง”โดยในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4 แสนกว่าคน รวมถึงพบอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด นอกจากนั้น อัตราการเจริญพันธุ์ที่บอกว่าอยู่ที่ 1.2 “เด็กที่เกิดก็มักเกิดอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมเสียมาก” ส่วนคนที่พร้อมก็บอกว่าไม่มีลูก หรือแม้จะอยากมีแต่กลับไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากคนที่พร้อมมีลูกมักแต่งงานช้า ด้วยการเรียนหนังสือสูงขึ้นและทำงานยาวนานขึ้นแต่มีช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่แคบลง เมื่อแต่งงานช้าก็มีลูกยาก
ดังนั้น หากไม่ทำอะไรเลย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจำนวนมากจะเกิดจากคนที่ไม่พร้อม คำถามคือแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ส่วนความหวังเรื่อง “การดึงประชากรชาวต่างชาติเข้ามาหนุนเสริม” ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติแล้ว แต่ก็ยัง “กังวลเรื่องบุคคลสีเทามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จะแอบแฝงเข้ามา”ประเทศไทยมีระบบอะไรในการคัดกรองชาวต่างชาติที่มีคุณภาพ
“เดิมถ้าเอาผู้สูงอายุหารด้วยคนวัยทำงาน เราจะบอกว่าผู้สูงอายุ 1 คน มีคนวัยทำงาน 4 คนช่วยสนับสนุน ช่วยดูแล 4 ต่อ 1 ปัจจุบันนี้เหลือ 2 ต่อ 1 อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือเท่าไร? อาจจะไม่เหลือเลยเพราะลูกไม่ดูแลพ่อแม่ เป็นไปได้ไหม? ยิ่งน่าคิด แต่น้อยกว่า 2 ต่อ 1 แน่ บางคนก็โชคดีแต่บางคนก็โชคไม่ดี แล้วคนวัยเด็กปัจจุบันที่จะโตเป็นคนวัยทำงานต่อไปจะต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุยืนขึ้น และเผลอๆ ปู่ย่าตายายยังมีชีวิตอยู่อีกเพราะเราอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ ถามตัวพวกเราในขณะนี้ก็ได้ กลับไปดูครอบครัวเรา ตอนนี้เริ่มมีผู้สูงอายุเยอะขึ้นใช่ไหม?” อ.เจิมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้กล่าวเปิดงาน ได้ฉายภาพ “สารพัดความผันผวน(Disruption) ของโลก” ที่เกิดขึ้นพร้อมกันแบบทุกด้าน ดังนี้ 1.การปฏิวัติทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เปลี่ยนแปลงทอุตสาหกรรม 2.การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น
3.การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมีปัจจัยทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและความขัดแย้งทางการเมือง 4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (GeopoliticalTension) จากการแข่งขันของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา 5.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งมีปัจจัยจากเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้คนหันไปซื้อ-ขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ 6.กาเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ มีการนำเทคโนโลยีอย่าง AI รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรคทางไกล (Telemedicine) มาใช้ เพื่อให้บริการสุขภาพมีความแม่นยำและเข้าถึงได้ง่าย
7.การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและแรงงาน จากการศึกษาแบบเดิมสู่การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแบบฟรีแลนซ์ 8.การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจเสมือนจริง เป็นการสร้างประสบการณ์ในพื้นที่ออนไลน์ และ 9.การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ที่กำลังพาโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย
ซึ่ง “ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบแยกส่วนกัน แต่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน”ดังนั้นการเข้าใจและเตรียมตัวรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถปรับตัวและสร้างโอกาสในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ “การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าอีกหลายประเทศ” ไทยกำลังเผชิญหน้ากับโครงสร้างประชากรที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ในขณะที่สังคมไทยยังมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นมุมมองอย่างแคบ
“การพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนในบริบทของสังคมสูงวัย ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยในสังคม ดังเช่นงานที่ สช. ร่วมกับองค์กรภาคี 12 องค์กร เป็นเจ้าภาพร่วมกัน สานพลังทำงานนี้บนแนวคิดการสานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน ผมคิดว่าเป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในโอกาสนี้ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านมองการเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข สังคมที่เกื้อกูลกัน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “การขยายอายุเกษียณสำหรับข้าราชการ” และ “การจ้างงานคนหลังอายุ 60 ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในภาครัฐ” ว่า มีผลการศึกษาในหลายประเทศ เช่น อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น อย่างประเทศอิตาลี กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 67 ปี อีกทั้งยังมีบำนาญก่อนชราภาพ และมีระบบการจ้างที่หลากหลาย หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นก็กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 65 ปี
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนเป็นชาติร่ำรวย หรือรวยก่อนแก่ ไม่ได้มีปัญหาลูกโป่งค่าใช้จ่ายสูงเสี่ยงแตกเหมือนประเทศไทย และยังเป็นชาติที่จนก่อนแก่ อย่างไรก็ตาม “การขยายอายุข้าราชการต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะของระบบ” ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการแก่ๆ แล้วไม่มีข้าราชการใหม่เลยเข้ามา ต่อไประบบจะมีปัญหา ก็จะต้องคิดตรงนี้ นอกจากนั้นต้องไม่กระทบค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งงบประมาณแผ่นดินที่เจียดไว้เป็นเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการไทยจะอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี
“สำคัญมากนะว่าต่างประเทศที่เขาทำไปแล้วเขาทำหลายระบบ ยืดหยุ่นมาก ไม่ใช่ว่าขยายหรือไม่ขยาย แต่ถ้าจะขยายหรือไม่ขยายเขาจะแยกแยะมาก เช่น สอดคล้องกับวิชาชีพ ประสบการณ์ ความสามารถ สถานที่ เวลาและความเหมาะสมอื่นๆ และเราได้เสนอชัดเจนว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ต้องอัปสกิล-รีสกิลคนเก่า ไม่ใช่ใช้ความรู้เก่า เทคโนโลยีเก่าทำงาน ไม่เช่นนั้นมันก็ทำให้อ่อนแอเป็นพลังที่สำคัญไปไม่ได้” นพ.อำพล กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี