น้ำท่วมหนัก ย้ำว่าหนักมากในรอบหลายสิบปี (ตามคำบอกเล่าของชาวยะลาผู้ประสบเหตุอุทกภัยในขณะนี้) เกิดมาจากฝนตกหนักมาก และตกหนักติดต่อกันมาเป็นเวลา 4-5 วัน โดยบางวันมีปริมาณฝนมากกว่า 500 มิลลิเมตร ในขณะที่หลายวันมีฝนตกลงมาประมาณ 400-500 มิลลิเมตร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงทำให้มีปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงเกิดตามมา
ถามว่าหากกรุงเทพฯ ประสบปัญหาฝนตกหนักวันละ 500 มิลลิเมตร ในระยะเวลา 3-5 วัน จะเกิดอะไรขึ้น คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะประสบภัยพิบัติหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าพี่น้องในเขตสามสี่จังหวัดในภาคใต้หรือไม่ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะหนักหนากว่ากี่สิบกี่ร้อยเท่า และถามต่อไปว่า หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะมีปัญญาแก้ปัญหาหรือไม่
หากให้ผู้เขียนตอบแทน ก็ขอตอบว่าไม่มีปัญหาแก้ปัญหาอย่างแน่นอน เพราะกรุงเทพฯ นั้นเมื่อมีฝนตกลงมาเพียงแค่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองแล้ว เพราะท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯ มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 30-60 เซนติเมตรเท่านั้น
มีข้อมูลว่ากรุงเทพฯ (อ้างอิงจากสำนักการระบายน้ำของกรุงเทพฯ) มีท่อระบายน้ำทั้งหมดมีความยาวประมาณ 6,500 กิโลเมตร แต่ในแต่ละปีสามารถล้างท่อระบายน้ำได้เพียงแค่ประมาณ 500 กิโลเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่าในท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯ มีสิ่งต่างๆ ตกค้างและอาจอุดตันในท่อเป็นระยะทางมากถึง 6 พันกิโลเมตร เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงเกิดน้ำท่วมขัง (น้ำรอระบาย) เป็นเวลานานหลายชั่วโมงหรืออาจเป็นวันๆ ในกรณีเกิดฝนตกหนักปานกลางในเขตกรุงเทพฯ
ย้อนกลับไปพูดถึงภัยพิบัติน้ำท่วม และโคลนท่วมบ้านเรือนชาวบ้านโดยเฉพาะที่เชียงราย (เมื่อเดือนกันยายน 2567) แต่อันที่จริงยังมีปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ด้วย ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมไม่มีการเตือนภัยให้ชาวบ้านสามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดกับพวกเขาได้อย่างทันท่วงที ตอบว่า ระบบการเตือนภัยพิบัติเรื่องน้ำท่วมในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่อ่อนด้อยและต่ำทรามมาก ทั้งๆ ที่ประเทศเรามีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นอกจากนั้น ประเทศของเราก็ยังมีหน่วยงานเรื่องเกี่ยวกับน้ำต่างๆ นานา มากมาย แต่ทำไมจึงไม่สามารถเตือนภัยให้ชาวบ้านรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วมได้
เรื่องน้ำท่วมโคลนถล่มเกิดขึ้นที่ภาคเหนือในเดือนกันยายน ต่อมาเดือนพฤศจิกายนก็เกิดเหตุอุทกภัยขั้นรุนแรงสาหัสในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (อีกหลายอำเภอ) ถามว่าทำไมไม่มีการเตือนภัยเรื่องน้ำท่วม ทั้งๆ ที่รัฐบาลอ้างว่ามีบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดภาคเหนือมาเมื่อเพียงหนึ่งเดือนเศษๆ เท่านั้น
ขอย้ำว่าประเทศไทยยังขาดแคลนระบบเตือนภัยพิบัติที่มีคุณภาพ เพราะยังไม่มีระบบเตือนภัยในเขตที่อาจจะเกิดภัยพิบัติ ดังเช่น มีการระบุว่าในจังหวัดปัตตานีไม่มีระบบเตือนภัยเรื่องปริมาณน้ำฝนที่มากจนอาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติได้ ปัญหาคือรัฐบาลไม่มีงบประมาณสำหรับติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับเตือนภัยมีการระบุว่าศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติในเขตภาคใต้ ซึ่งสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอของบประมาณติดตั้งระบบมาตรวัดน้ำฝน และระบบเตือนภัยอันเกิดจากน้ำฝนในเขตลุ่มน้ำปัตตานี แต่รัฐบาลยังไม่อนุมัติงบประมาณให้ (ไม่ได้หมายความถึงรัฐบาลชุดล่าสุด แต่หมายความถึงรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ แล้วก็ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่มีปัญญาแก้ปัญหานี้เช่นกัน)
ที่เล่าให้ฟังข้างต้นนี้คือปัญหาที่ทำให้เห็นต้นตอของช่องโหว่การเตือนภัยพิบัติ จนทำให้เกิดพิบัติภัยขั้นร้ายแรงดังปรากฏในขณะนี้
ที่นี้กลับมาพูดถึงกรุงเทพฯ แล้วขอถามคำถามเดิมคือ หากมีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ วันละ 500 มิลลิเมตร กรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯ จะประสบชะตากรรมอย่างไร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะมีปัญญาแก้พิบัติภัยได้หรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร
ขอบอกตรงๆ ว่าที่จงใจถามเช่นนั้น ก็เพราะรู้ดีว่าผู้ว่าฯกทม. ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ เมื่อฝนตกลงมาเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพฯ ก็จมน้ำแล้ว แล้วถ้าหากฝนตกหนักในปริมาณดังกล่าวทั่วเขตกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องตกหนักทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องตกหนักต่อเนื่องหลายวัน เอาแค่ตกลงมาสัก 2 ชั่วโมง ก็จะเห็นได้ทันทีว่ากรุงเทพฯ ทั้งเมืองจมน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย
ถามต่อไปว่ากรุงเทพฯ มีระบบเตือนภัยน้ำท่วมหรือไม่ ตอบว่าไม่น่าจะมี เพราะตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ยังไม่เคยได้ยินว่ากรุงเทพฯ มีระบบเตือนภัยน้ำท่วม แล้วก็พบว่าทุกครั้งเมื่อมีฝนตกหนักในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งตกเพียงไม่ต้องเกิน 1 ชั่วโมง ก็ได้เห็นคาตาแล้วว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทันที ส่วนจะท่วมทั่งกรุงฯ หรือท่วมบางจุด ก็ขึ้นอยู่กับฝน หากฝนตกทั่วกรุงเทพฯ ก็ท่วมทั้งกรุงเทพฯ แต่หากตกลงมาในบางจุด ก็จะได้ยินคำแก้ตัวที่น่าสมเพชว่าเป็นน้ำรอระบาย ไม่ใช่น้ำท่วม
คนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ในระยะประมาณ 7-8 ปีมานี้จะได้ยินคำว่าน้ำรอระบาย ไม่ใช่น้ำท่วม ในเวลามีน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังฝนตกหนัก แล้วก็ยังได้ยินคำว่า หากไม่อยากเจอปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องย้ายไปอยู่บนดอย (คำพูดนี้มาจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ) มาในยุคอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็มีวาทะเล่นลิ้นว่า ไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม แต่ให้เรียกว่าน้ำมีมากเกินไป และยังมีวาทะจากอัศวิน เมื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้คือ ยังแก้ปัญหาน้ำท่วมแถวๆ บางเขนไม่ได้ เพราะหากุญแจเครื่องสูบน้ำไม่เจอ ส่วนผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ไม่พูดว่าน้ำรอระบาย และไม่ไล่คนกรุงเทพฯ ที่กลัวน้ำท่วมไปอยู่บ้านบนดอย แต่ชัชชาติใช้วิธีลุยน้ำไปช่วยเข็นรถยนต์ที่เครื่องยนต์ดับ เพราะถูกน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หลายคนที่ผ่านมาก็พยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงฯ ให้จงได้ แต่ก็ยังแก้ไม่สำเร็จลุล่วง ซึ่งก็มีคำถามว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วมได้ คำตอบ (แบบกำปั้นทุบดิน) ก็คือ เพราะยังแก้ปัญหาไม่ได้
อะไรคือสาเหตุทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอบได้ทันทีว่าเพราะฝนตกหนัก ผสมกับน้ำทะเลหนุน บวกกับน้ำเหนือไหลลงมา แต่ก็มีคำตอบเพิ่มเติมว่า เพราะผู้บริหารกรุงเทพฯ และรัฐบาลไม่มีปัญญาแก้ปัญหา บ้างก็ตอบว่า เพราะระบายน้ำไม่ได้ เนื่องจากมี big bag ไปขวางกันทางน้ำไหลบ้างก็บอกว่าเพราะท่อระบายน้ำตัน และยังมีอีกคำตอบคือ เพราะคูคลองในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยขยะ และตื้นเขิน ส่วนคำถามต่อมาคือ แล้วที่สร้างอุโมงค์ระบายน้ำกันหลายที่ ทำไมแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ ตอบว่าเพราะน้ำมันไม่ไหลไปลงอุโมงค์ น้ำก็จึงเอ่อล้นอยู่บนผิวดินต่อไป ทั้งๆ ที่เสียเงินขุดอุโมงค์ไปหลายพันหลายหมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาดินในเขตกรุงเทพฯ ทรุดตัวลงทุกๆ ปี ทำให้ปัจจุบันพื้นดินของกรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น และคาดว่ากรุงเทพฯ อาจจะจมน้ำทะเลในปี 2573
เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่า กรุงเทพฯ น่าจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ นานา ที่ได้กล่าวในข้างต้นได้ แล้วจะทำอย่างไรเล่าที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยไม่ต้องย้ายไปอยู่บนดอย คำตอบคือต้องอาศัยสติปัญญาของผู้บริหารประเทศ และสติปัญญาของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ส่วนคนอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ต้องไม่ทำให้ท่อระบายน้ำตัน ต้องไม่ทิ้งขยะลงในคูคลอง และต้องช่วยกันขุดลอกคูคลอง และท่อระบายน้ำ (ขอบอกว่าพูดได้แต่ไม่น่าจะทำได้ เพราะประชาชนทั่วไปไม่น่าจะมีปัญญาเปิดหรือยกแผ่นปูนขนาดใหญ่ที่ปิดท่อระบายน้ำได้ แล้วก็ไม่ต้องหวังว่าคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ จะลงไปขุดลอกคูคลองหนองบึง)
เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ด้วยความหดหู่ว่า ถ้าหากเกิดฝนตกหนักในกรุงเทพฯ วันละ 500 มิลลิเมตร และถ้าตกต่อเนื่องสัก 3-5 วัน ก็มีหวังกรุงเทพฯ จมใต้น้ำอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก็ไปตามที่แต่ละคนจะมีปัญญาหาทางออกขอย้ำว่าไม่ต้องหวังพึ่งรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือผู้ว่าฯ กรุงเทพฯเพราะคนเหล่านั้นก็จมน้ำเหมือนกัน
ทางที่ดีคืออย่าอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จงไปหาบ้านบนดอยอยู่ (แต่ก็จะหนีไม่พ้นดินถล่มเวลาฝนตกหนัก) แต่ทางที่ดีกว่านั้นคือ ต้องเลือกรัฐบาลที่มีสติปัญญา สามารถบริหารจัดการระบบน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ต้องเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่มีสติปัญญา ทำงานได้จริง ไม่ใช่ดีแต่คุยว่าศึกษาปัญหากรุงเทพฯ มากว่าสองปีแล้ว แต่ก็ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ ได้แม้แต่เรื่องเดียว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี