ปัญหาราคาตั๋วโดยสารสายการบินโลว์คอสต์ราคาสูง เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์
เพราะผู้บริหารสายการบินใหญ่ได้ยอมรับเองว่า ราคาค่าโดยสารปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนทรงตัว
การแก้ปัญหาของกระทรวงคมนาคม จึงต้องกล้าชนกับผลประโยชน์ที่มากเกินควรของนายทุนสายการบิน
ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบไร้น้ำยา ถึงขนาดเอาการตลาดของสายการบินมาโชว์ แล้วบอกว่านี่คือผลงานการแก้ปัญหาแล้ว
1. เพิ่ม 50,000 ที่นั่ง จัดโปรโมชั่นส่วนลด 30% เฉพาะคนที่ซื้อช่วง 5-7 ธันวาคม?
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “มาตรการแก้ไขปัญหาตั๋วเครื่องบินแพง” ในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะช่วงปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้
โดยประชุมร่วมกับ 6 สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส,ไทยแอร์เอเชีย,นกแอร์,ไทยไลอ้อนแอร์,ไทยเวียตเจ็ท และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ได้ข้อสรุปว่า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน กระทรวงคมนาคมพร้อมด้วยทุกสายการบินได้ร่วมกันจัดทำมาตรการตั๋วในราคาพิเศษ โดยมีที่นั่งรวมทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ที่นั่ง
ในเส้นทางไป-กลับ ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-อุดรธานี, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ขอนแก่น และกรุงเทพฯ-น่าน
ระบุว่า เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 - 5 มกราคม 2568 โดยมีส่วนลด 30% จากราคาค่าโดยสารสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำการสำรองที่นั่งโดยตรงกับสายการบินและผ่านช่องทางที่กำหนด ในช่วงระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2567 เท่านั้น
นอกจากนี้ ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ติดตามสถานการณ์ค่าโดยสารอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและราคาต้องเป็นธรรมกับผู้โดยสาร
2. ไร้น้ำยา ไร้ความจริงใจ
มาตรการที่ออกมานั้น หากเป็นการประชาสัมพันธ์การตลาด หรือโปรโมชั่นของสายการบิน จะไม่มีอะไรน่าแปลกใจ
แต่เป็นที่น่าหดหู่ เวทนา หม่นหมองเศร้าใจ และสิ้นหวัง ก็เพราะนั่นคือผลการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เคยประกาศว่าจะแก้ปัญหาราคาตั๋วโดยสารสายการบินโลว์คอสต์ราคาแพง
อะไร คือ “ส่วนลด 30% จากราคาตั๋วสูงสุดในช่วง 26 ธ.ค. 2567- 5 ม.ค. 2568” ?
อะไร คือ การแก้ปัญหาที่ให้ซื้อราคานี้ได้เฉพาะช่วง 5-7 ธันวาคม 2567 เท่านั้น ?
นี่มันคือการตลาดโปรโมชั่นของสายการบินเท่านั้น !
ทำแบบชั่วครู่ ชั่วคราว ชั่วเสี้ยวเวลา แค่บางส่วน
หาได้เป็นการใช้อำนาจรัฐ แก้ปัญหาอย่างกล้าหาญ รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ในฐานะผู้ต้องกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนส่วนรวม
3. ย้ำอีกครั้งว่า ปีนี้กิจการสายการบินกลับมาอู้ฟู่ น่ายินดี
แต่ผู้บริโภคกำลังเดือดร้อน โดยที่เศรษฐกิจรายได้ยังไม่กลับคืนมาเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่ต้องเผชิญกับราคาค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ โดยเฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ราคาโดยทั่วไปแพงขึ้นอย่างหฤโหด
หลายครั้ง แพงกว่าค่าโดยสารเดินทางไปต่างประเทศ
บินไปเชียงใหม่ เที่ยวเดียว ราคา 5 พันกว่าบาท
บินไป-กลับ หมื่นกว่าบาท
เส้นทางไปภูเก็ต ก็ยิ่งหนักหน่วง
เป็น “โลว์คอสต์” แต่ไม่ใช่ “Low price” !!
สายการบินยอมรับเองว่า ราคาค่าโดยสารสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนสายการบินทรงตัว
โดยนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2567 AAV มีรายได้รวม 15,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“โดยจำนวนผู้โดยสารและราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม
..ส่วนต้นทุนโดยรวมทรงตัวจากปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ลดลงและแผนปรับกลยุทธ์เน้นเส้นทางบินที่มีผลตอบแทนดี รายงานกำไรสุทธิ 3,446 ล้านบาทซึ่งพลิกจากขาดทุนสุทธิ (1,695) ล้านบาท…
..สำหรับตลาดภายในประเทศ TAA ยังมีส่วนเเบ่งการตลาดอันดับหนึ่งที่ 39% และอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 93% แม้จะเป็นนอกฤดูท่องเที่ยวและเกิดน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา…” - ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าว
4. เมื่อความจริงปรากฏชัดเจนว่า ราคาค่าโดยสารสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนสายการบินทรงตัว
ถ้ารัฐบาลรักประชาชน รักความเป็นธรรม และมีน้ำยา มีสติปัญญาจะต้องใช้อำนาจรัฐเข้าไปตรวจสอบและขอความร่วมมือกับสายการบินอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องมิให้เกิดการค้ากำไรเกินควรกับประชาชน
อาทิ
ตรวจสอบการกำหนดเพดานค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ เมื่อมีเพดานราคาอยู่ แต่ราคาค่าโดยสารก็ยังสูงได้ขนาดนี้ หมายความว่า มันต้องมีบางอย่างผิดปกติ ไม่เหมาะสม หรือไม่เวิร์ก
เพดานราคาน่าจะยังสูงไป จึงมีพื้นที่ให้สายการบินกำหนดราคากอบโกยกำไรพิเศษ โขกสับผู้บริโภค หรือไม่? หรือปล่อยให้มีการถ่ายเทตั๋วไปขายผ่านตัวแทน เลี่ยงเกณฑ์ราคาเพดาน อย่างไม่รับผิดชอบ หรือไม่?
ปัจจุบัน CAAT ได้กำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไว้ ดังนี้
- สายการบิน Low Cost ราคาไม่เกิน 9.40 บาท/กม.
- สายการบิน Full Service ราคาไม่เกิน 13 บาท/กม.
เท่ากับว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ราคาเพดานสายการบินต้นทุนต่ำกำหนดให้ไม่เกิน 5,320 บาท
ปรากฏว่า ผู้โดยสารโดนกัน 3,000 บาท – 5,000 กว่าบาท เป็นประจำ (ราคานี้ไม่รวมค่าสัมภาระ)
ทั้งๆ ที่ ราคาปกติเคยอยู่ที่ราวๆ 1,600 – 2,500 บาท
ราคานี้ สายการบินก็มีกำไรแล้ว
แต่หนักกว่านั้น บางราย โดนไป 6 พันกว่าบาท เมื่อซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย
เพดานที่กำหนดสูงเกินไป ก็เสมือนไร้เพดานควบคุมนั่นเอง
ถ้าภาครัฐไม่เข้าไปทำอะไรได้ ก็เท่ากับปล่อยให้กลุ่มธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทย สามารถค้ากำไรเกินควร
ปล่อยให้มีการกอบโกย ขูดรีดค่าโดยสาร แสวงหากำไรพิเศษ จากเลือดเนื้อของคนไทยที่ใช้บริการโลว์คอสต์แบบไม่โลว์ไพรซ์ในประเทศ
ทางสายการบินอาจชี้แจงว่า ในหนึ่งลำ จะมีราคาค่าโดยสารคละกันไป บางที่นั่งได้ถูก บางที่นั่งได้แพง แต่เฉลี่ยแล้ว ต่ำกว่าราคาเพดาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ราคาเพดานจะต้องไม่สูงเกินควรตั้งแต่ต้น
ถ้าเพดานราคาค่าโดยสารยังสูงเว่อร์ คำอธิบายแบบนี้ เท่ากับจะให้ยอมรับว่า ในหนึ่งลำ จะต้องมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกฟันหัวแบะ ด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว ทั้งๆ ที่ ต้นทุนของสายการบินไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
ยิ่งกว่านั้น ใครเป็นคนตรวจสอบว่า แต่ละเที่ยวบิน สายการบินได้จัดสรรที่นั่งราคาเท่าไหร่ เป็นสัดส่วนเท่าใดอย่างแท้จริง เพราะผู้โดยสารไม่มีทางรู้ค่าโดยสารของคนอื่น มีแต่สายการบินตั้งราคาเอง เก็บเงินเอง
รัฐบาลอย่าแก้ปัญหาแบบไร้น้ำยา ไร้ปัญญา ไร้ความกล้าหาญ ไร้ความรักในประชาชน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี