ไม่ค่อยจะปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนนักว่าพุทธศาสนาถูกเผยแพร่เข้ามาสู่อาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยใด แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาสนาพุทธถูกกำหนดเป็นศาสนาประจำชาติ โดยมีชาวไทยนับถือศาสนาพุทธมากกว่า ๙๐% แต่เรื่องที่ควรได้รับการสรรเสริญก็คือ แม้พระมหากษัตริย์จะนับถือศาสนาพุทธ แต่พระองค์ก็ยึดมั่นในความเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
อาณาจักรแรกของชาติไทยคืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งศาสนาพุทธได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างมากในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง โดยมีหลักฐานที่ยืนยันได้ก็คือวัดในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในอาณาจักรนี้ รวมทั้งพระพุทธรูปสำคัญของชาติหลายองค์ก็ถูกจัดสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดคือในสมัยของพระยาลิไทหรือพระมหาธรรมราชา ที่ ๑ กษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของราชวงศ์พระร่วง และเป็นหลานปู่ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์เป็นผู้แต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๑๘๙๐
ในสมัยอาณาจักรอยุธยา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และบางพระองค์จะมีความผูกพันกับพระสงฆ์บางรูปจนมีการกล่าวขวัญถึงเช่น สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ชื่อเดิมคือมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระชาวมอญที่ได้เคยเลี้ยงดูสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสมัยที่พระองค์ ถูกพระเจ้าบุเรงนองนำไปเลี้ยงที่เมืองหงสาวดี และได้เคยช่วยชีวิตสมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพจะไปร่วมกับทัพของหงสาวดีเพื่อไปตีเมืองอังวะ แต่ถูกพระเจ้านันทบุเรงหมายปองร้าย สั่งให้พระยาเกียรติและพระยารามชาวมอญหาทางกำจัดสมเด็จพระนเรศวร แต่พระยาทั้งสองนั้นนำความมาบอกแก่พระมหาเถรคันฉ่องเสียก่อน พระนเรศวรจึงรีบยกทัพกลับ และเมื่อเสด็จกลับมาถึงเมืองแครง ทรงหลั่งน้ำด้วยสุวรรณภิงคารคือน้ำเต้าทองคำ และทรงประกาศอิสรภาพว่านับแต่นี้ไปกรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป
พระมหาเถรคันฉ่องได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรกลับมายังอาณาจักรอยุธยา ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ และทรงได้รับการสถาปนาโดยสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี นามว่า สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิบดีฯ ได้ปฏิบัติภารกิจใกล้ชิดกับสมเด็จพระนเรศวรตลอดมา
หลังจากการเสียอิสรภาพ ครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้ทรงกอบกู้ชาติก็ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการแต่งตั้งพระผู้ปฏิบัติดีโปรดให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชคือ สมเด็จพระสังฆราชศรี ที่เคยเป็นพระสังฆราชแล้วครั้งหนึ่งให้กลับมาเป็นพระสังฆราชอีกครั้งหนึ่ง
พระสงฆ์คือผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาได้รับการสืบทอดมาโดยตลอด โดยอาศัยพระธรรมคือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการสืบทอด ศาสนาพุทธในประเทศไทยนั้นเป็นนิกายเถรวาทคือถือแบบดั้งเดิมที่ยึดเอาตาม ตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา โดยเชื่อว่าเข้ามาสู่อาณาจักรไทยผ่านทางศรีลังกา นิกายเถรวาทนี้แบ่งออกอีกเป็น ๒ นิกายคือมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย
พระผู้ปฏิบัติดี ส่วนใหญ่จะเป็นพระสายป่าและอยู่ในธรรมยุติกนิกาย เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่ขาว อนาลโยหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และที่ต้องกล่าวถึงอีกองค์หนึ่งคือหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แต่ที่อยู่ในมหานิกายที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีก็มี อาทิ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง และพระอาจารย์ชยสาโร สำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี
ในสมัยของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง ทรงบรรพชาเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน ได้รับสมญานามว่า ภูมิพโลภิกขุ
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นบุตรของนายใสกับนางแก้ว รามศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๑ ที่บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน อำเภอเมืองจังหวัดเลย ได้บวชเป็นสามเณรตามคำร้องขอของแม่ที่เสียชีวิตไปก่อน ตั้งแต่ท่านยังอายุเพียงแค่ ๕ ขวบ โดยขอให้หลวงปู่บวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิต ท่านได้บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๘ ขวบที่วัดโพธิ์ชัยและพระอาจารย์อ้วนซึ่งเป็นอาได้พาไปฝากให้ร่ำเรียนกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จนกระทั่งเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะกับพระอาจารย์มั่น โดยตลอด ก่อนที่จะเริ่มออกจาริกแสวงธรรม ในปี ๒๔๖๔ ได้เข้าศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งต่อมาทำให้ได้เปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุติกนิกายที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับฉายาว่าสุจิณโณ ท่านยังคงจาริกแสวงบุญโดยตลอด จนปี ๒๔๘๙ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ในพรรษานั้นเองที่ท่านมีอาการอาพาธเป็นแผลอักเสบที่ขาเรื้อรังต้องผ่าตัด จึงได้พบกับพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งได้นิมนต์ให้ท่านมาอยู่ด้วยกันเพื่อจะได้เป็นผู้ดูแลที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าวตลอดมา ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ ๗๕ ปีแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีสายสัมพันธ์แห่งธรรมะและความเมตตากับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ อย่างยาวนาน เริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระประชวรขณะประทับอยู่ที่เชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จไปยังวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อพบกับหลวงปู่แหวน ซึ่งหลวงปู่ได้กราบทูลว่าพระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
อีกครั้งหนึ่งขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ประชวร ข้าราชบริพารได้นิมนต์หลวงปู่ไปช่วยแผ่เมตตารักษาพระองค์ แต่หลวงปู่ได้กล่าวว่า อยู่ที่ไหนเราก็ส่งใจไปถึงพระองค์ได้ ก็ส่งไปทุกวันอยู่แล้ว
หลวงปู่ได้สร้างสัจจะอธิษฐานว่ายามที่เจ็บป่วยจะไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เมื่อหลวงปู่อาพาธ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงอาราธนาให้ท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งหลวงปู่ยินยอมทำตามพระราชประสงค์นั้น ด้วยเหตุผลว่าท่านเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง จึงไม่อาจจะขัดพระราชประสงค์
หลวงปู่แหวนเป็นผู้ที่มีความห่วงใยในความเจ็บป่วยของประชาชนคนทั่วไปเป็นอย่างมากซึ่งศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดจะทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นในวาระที่หลวงปู่มีอายุครบ ๙๐ ปี จึงได้รวมตัวกันขออนุญาตสร้างอาคารผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่ามหาราช
เนื่องจากหลวงปู่เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่และในภาคเหนืออย่างมาก จึงได้มีผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อสร้างอาคารผู้ป่วย โดยมีผู้ที่ร่วมบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก มีการจัดสร้างเหรียญหลวงปู่แหวนรุ่น ภปร สร้างตึกพยาบาล ที่ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่แหวน ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธย ภปร ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาลงไว้ ได้เงินมาประมาณ ๘๐ ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น และได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากราชการอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็นเงินที่ใช้ก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๕๑ ล้านบาท โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๑ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๓ และแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี ๒๕๒๗ เป็นอาคารสูง ๑๕ ชั้น ออกแบบเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้ เป็นอาคารที่สูงสุดของเชียงใหม่ในยุคนั้น และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๒๘
หลวงปู่แหวนได้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗ โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระราชวงศ์ ได้เสด็จฯมาทรงเยี่ยมหลวงปู่เป็นระยะ และรับหลวงปู่เป็นคนไข้ของพระองค์เอง แต่จากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังหลายโรค แม้ทีมแพทย์จะได้พยายามรักษาอย่างเต็มที่ หลวงปู่ก็ได้ละขันธ์อย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๒๘ รวมสิริอายุ ๙๗ ปี
๔๐ ปีที่ผ่านไป อาคารสุจิณโณ มีความทรุดโทรมจากการถูกใช้งานหนัก ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ระดมทุนเพื่อบูรณะปรับปรุงอาคารสุจิณโณทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนคนทั่วไป ได้เงินจำนวนมากและใช้ไปในการบูรณะอาคารหลวงปู่แหวนเป็นเงินประมาณ ๑,๒๕๔ ล้านบาท จนการบูรณะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นอาคารที่ทันสมัยและเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์การแพทย์ ที่พร้อมต่อการให้บริการประชาชน ทั้งในส่วนของแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ห้องผ่าตัด รวมทั้งแผนกฉุกเฉินที่มีห้องตรวจและสวนหัวใจติดตั้งอยู่ด้วยที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย อันจะทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการขณะนี้ปีละประมาณ ๑,๗๐๐,๐๐๐ รายได้รับการรักษาโดยคณะแพทย์ พยาบาลที่มีศักยภาพในระดับมาตรฐานสากลไปอีกยาวนาน
นับเป็นพระมหาเมตตาบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเมตตาบารมีของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระผู้ปฏิบัติดี ที่มีต่อปวงชนชาวไทย
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี