เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากการดื่มเหล้าผสมเมทิลแอลกอฮอล์ (Methanol)ที่เมืองวังเวียง สปป.ลาว ไม่เพียงแต่เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับครอบครัวและผู้สูญเสีย ซึ่งรายงานล่าสุดระบุว่ามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพ จากเหตุการณ์นี้ แต่ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยธรรมชาติอันงดงามในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยอีกด้วย เพราะเหตุการณ์ได้กลายเป็นข่าวที่สำนักพิมพ์ทั่วโลกรายงานกันอย่างกว้างขวาง
สำนักข่าวบีบีซีอ้างถึงรายงานขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน หรือ Medicins Sans Frontiers (MSF) ระบุว่าประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีความชุกของการพบผู้ป่วยด้วยพิษของเมทานอลสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในโลก
การใช้เมทิลแอลกอฮอล์ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านมักมาจากความเข้าใจผิด หรือบางครั้งอาจเกิดจากความตั้งใจลดต้นทุนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และไม่ได้จำกัดอยู่ใน สปป.ลาว เท่านั้น เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็มีข่าวการเสียชีวิตด้วยอาการพิษจากเมทานอลจากการดื่มสุราเถื่อนที่ซุ้มยาดอง กรณีเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความเปราะบางในระบบการผลิตและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน
ในหลายชุมชน การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารพื้นเมืองที่มีความเสี่ยง เช่น ลาบหมูดิบ ซึ่งทุกปีเราจะเห็นรายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิและแบคทีเรียจากการบริโภคลาบหมูดิบ แม้จะมีการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง แต่หลายคนยังคงเลือกที่จะบริโภคโดยอ้างว่า “ทำมาแบบนี้ไม่เคยเป็นอะไร”
ความคล้ายคลึงกันนี้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของ“วิถีชาวบ้าน” กับการให้ความรู้ ซึ่งการจะเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก การให้ความรู้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากปราศจากการสร้างความตระหนักที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การหาวิธีเข้าถึงผู้ผลิตและผู้บริโภคในชุมชนอย่างเข้าใจและเคารพในบริบทนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
และที่สำคัญ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้ผลิตในท้องถิ่นหรือผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง มีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในระดับชุมชน สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ให้ข้อมูลและคำเตือนเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มประจำถิ่นเพื่อการปกป้องนักท่องเที่ยวจากความเสี่ยงในพื้นที่
ท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้างสมดุลระหว่างการเคารพในวัฒนธรรมท้องถิ่นและการส่งเสริมความปลอดภัย หากเราไม่เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา บทเรียนราคาแพงเหล่านี้อาจเกิดซ้ำอีกในอนาคตในประเทศไทยก็เป็นได้ และผู้ที่ต้องจ่ายราคานั้นก็คือชีวิตของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวที่อาจไม่มีโอกาสได้รับความรู้และทางเลือกที่ปลอดภัยมากพอ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี