เต็มไปด้วยสาระและข้อเท็จจริง คือ หนังสือพิมพ์แนวหน้า www.naewna.com ทุกบรรทัด ตรงไป ตรงมา...
■■ จบไปแล้วการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือคอป 29 (COP29) ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ตัวแทนจากเกือบ 200 ประเทศถกเถียงกันอย่างหนัก โดยตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกาะบางแห่งเดินออกจากที่ประชุมด้วยความไม่พอใจ...
■■ เพราะข้อตกลงเป็นภาพลวงตา ไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงของปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น อินเดียจึงขอคัดค้านการยอมรับข้อตกลงนี้...
■■ ไซมอน สตีลล์ เลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยอมรับว่า เป็นการเจรจาที่ยากเย็น แต่ก็ได้ข้อตกลงที่เปรียบเสมือนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่มนุษยชาติในการรับมือกับภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ดี กรมธรรม์นี้จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีการจ่ายเบี้ยประกันอย่างครบถ้วนและตรงต่อเวลาเท่านั้น...
■■ ภายใต้ข้อตกลงนี้ประเทศร่ำรวยรับปากจะจัดสรรเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภาวะโลกร้อนปีละ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ราว 10.34 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2578 เพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิมที่รับปากจะจัดสรรปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.45 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2563...
■■ แต่เพิ่งทำได้จริงเมื่อปี 2565 และจะหมดอายุในปี 2568 ข้อตกลงนี้ยังได้วางกรอบสำหรับการประชุมคอป 30 (COP30) ที่บราซิลในปีหน้า ให้ภาคีจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่จะดำเนินการในช่วงทศวรรษหน้าด้วย...
■■ ของประเทศไทยไม่รู้ว่ามีการส่งใครประชุมเพราะยังไม่เห็นข่าวคราว ออกมา และไม่รู้ว่าประเทศไทยจะได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่...
■■ พรรคเพื่อไทย สบายใจ หลัง ศาลรัฐธรรมนูญลงมติยกคำร้องกรณี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น...
■■ แต่ช้าก่อนเพราะ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะยกคำร้องดังกล่าว ก็ไม่กระทบต่อกกต.ในการเดินหน้าสอบคดียุบพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่เป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับไม่กระทบต่อการทำงานของ ที่สามารถเดินหน้าสอบคดียุบพรรคได้...
■■ เพราะศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการใช้เสรีภาพ เฉพาะมาตรา 49เขียนว่าการใช้เสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองฯทำไม่ได้ เสรีภาพถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ นั่นคือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองจะพิจารณาสิ่งที่กฎหมายห้ามกระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง จะต่างกันจึงไม่เกี่ยวกัน...
■■ ครับเราๆ ท่านๆ อาจจะไม่เข้าใจ แค่อยากรู้ในบรรทัดสุดท้ายว่ายุบหรือไม่ยุบเท่านั้น...
■■ ออกทะเลไปเรื่อยๆสำหรับความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันก่อน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ไปพบ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่...
■■ ทั้งเสนอประเด็นการแก้ไขกฎหมายสูงสุดให้ทำประชามติแค่ 2 ครั้ง วางตารางไว้ชัด จะแล้วเสร็จกันวันไหน...
■■ ฝ่าย นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา และผอ.พรรคชาติไทยพัฒนาก็บอกว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ...
■■ ก็มีคำถามอยู่อย่างเดียวที่ “มือปราบ” อยากจะถามคือ แก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้อะไรบ้าง คำตอบคือมองไม่เห็นนอกจากแก้ไขปัญหานักการเมืองด้วยกันเอง...
■■ กลับบ้านเถอะครับ สำหรับคนที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปลงพื้นที่พบปะประชาชนยังได้คะแนนเสียงมากกว่า...
■■ สวัสดีครับ
มือปราบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี