กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว 7 ประเทศหรือที่เรียกว่า Group of Seven–G7 ได้เริ่มทยอยโยกย้ายโรงงาน และกิจการธุรกิจออกจากจีน ไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งอันดับแรกก็คือ เวียดนาม มิใช่ประเทศไทย ทั้งๆ ที่ไทยเรามีการพัฒนาประเทศ และพยายามเชื้อเชิญการลงทุนจากต่างประเทศมานาน เรียกว่าก่อนเวียดนามประมาณ 20-30 ปี มันจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมฝ่ายไทยทั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมสำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไปจนถึงสภาอุตสาหกรรมและแวดวงธนาคารพาณิชย์ ถึงไม่มีปฏิกิริยา หรือร้อนรนเช่นไฟลนก้นแต่อย่างใด?
การนิ่งเฉยนั้นสะท้อนถึงความไม่กระตือรือร้นและไม่เอาใจใส่ของผู้ที่มีความรับผิดชอบแต่อย่างไรก็ตาม มันยังไม่เป็นการสายเกินไปที่จะมีการทบทวนสถานะของประเทศไทยเชิงเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม และอื่นๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย แม้กระทั่งบังกลาเทศเพื่อไทยเราจะได้แก้ไขจุดอ่อนและความบกพร่อง เพื่อจะได้ประโยชน์จากการที่กลุ่ม G7ย้ายโรงงานออกจากจีนดังกล่าว
ก็ขอถือโอกาสทบทวนว่า ทำไมกลุ่ม G7 ถึงตัดสินใจย้ายโรงงานออกจากจีนไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งก็มีหลายสาเหตุผสมผสานกัน เช่น เรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา การเลือกปฏิบัติในตลาดภายในของจีน ที่ให้แต้มต่อต่อบริษัทเอกชนจีน และวิสาหกิจแห่งรัฐจีนที่เหนือกว่าบริษัทจากต่างประเทศ ไปจนถึงการมุ่งผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยระบบอุดหนุนจุนเจือ เพื่อให้ต้นทุนต่ำ และดำเนินการทุ่มตลาดในต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เป็นต้น
อีกทั้งจีนเองก็มุมานะที่จะขึ้นมาเป็นเจ้าโลก ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการท้าทายสหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม G7 และเจ้าโลกในปัจจุบัน ฝ่ายกลุ่ม G7 จึงตอบโต้ด้วยการบีบให้เกิดการย้ายโรงงานภาคการผลิตต่างๆ ออกจากจีน รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน การไม่ร่วมมือค้าขายและถ่ายทอดเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ และอิเล็กทรอนิกส์กับจีน เพื่อกันจีนออกไปและชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อคงความเป็นรองของจีนไว้ เป็นต้น
กลับมาที่เวียดนามที่กำลังได้ประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลจากการโยกย้ายโรงงานออกจากจีน โดยข้อได้เปรียบ หรือจุดดึงดูดหรือแรงจูงใจของเวียดนามก็คือ ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวที่สามารถผูกขาดอำนาจและก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง และมีการตัดสินใจโดยไม่ต้องไถ่ถามประชาชนพลเมือง การที่เวียดนามสามารถจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป เสริมสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจเอกชนต่างประเทศ อีกทั้งด้วยระบบเผด็จการพรรคเดียว การสร้างวินัยและควบคุมแรงงานก็กระทำได้ง่าย
นอกจากนั้นเวียดนามอยู่ติดกับจีน และฉะนั้นสินค้าที่ผลิตที่เวียดนามก็จะถูกส่งกลับไปขายที่จีนด้วยระยะทางที่สั้น และค่าขนส่งที่ถูกกว่า อีกทั้งคนเวียดนามเองมีความขยันหมั่นเพียรใฝ่หาความรู้ เช่นการเล่าเรียนภาษาอังกฤษ และความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่า ไม่เกียจคร้านและอุตสาหะ
ส่วนอินเดียนั้น เป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ จะมีความได้เปรียบด้านภาษาอังกฤษ และระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการ อีกทั้งได้มีการพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านอุตสาหกรรมหนักและเบา ไปจนถึงกิจการอวกาศ และกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านสื่อสารและเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพ
ทั้งหมดนี้คงไม่เกินวิสัยที่ประเทศไทยจะกลับมาทบทวนตัวเอง ปรับปรุงแก้ไข แต่ก็คงต้องเริ่มต้นที่ภาคการเมืองเป็นสำคัญ ที่จะต้องเลิกคิดแบบแคบๆ เรื่องเล็กเรื่องน้อยจิ๊บจ๊อยไม่สลักสำคัญ โดยคิดการที่ใหญ่โต เข้าใจในศักยภาพของประเทศ และต้องตระหนักสถานะของประเทศไทยเชิงเปรียบเทียบอยู่อย่างตลอดเวลา อีกทั้งก็ยุติการคิดหาโครงการที่แฝงด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
คนเวียดนามหรือคนอินเดียทุกระดับเขารักชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง จึงพยายามพัฒนาทรัพยากรบุคคลของตนให้เก่งกาจมาขึ้นทุกวัน โดยมีคณะผู้บริหารประเทศได้กระทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ในขณะที่ไทยเรามักจะมีผู้นำทางการเมืองให้เด็กจดจำเรื่อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นพื้นฐานหากแต่ตนเองมิได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างในการซื่อสัตย์ต่อสถาบันชาติแต่อย่างใด ซึ่งก็ควรจะเป็นสิ่งแรกที่คณะผู้บริหารประเทศไทยควรจะได้เริ่มปรับปรุงตน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี