เป็นอันว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ได้ตัดสินใจจะช่วยเหลือชาวนาโดยตรง ผ่านโครงการไร่ละพัน
เท่ากับว่า ทำหมันโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เรียบร้อยแล้ว
1. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเงินช่วยเหลือชาวนาในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท
จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน
วงเงิน 38,578.19 ล้านบาท
ระบุว่า ได้ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศให้ชาวนาทั่วประเทศรับทราบพร้อมกัน
“เมื่อผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว ทาง ธ.ก.ส. จะดำเนินการไปกำหนดการวางแผนจ่ายเงินให้กับชาวนาต่อไป
คาดว่า จะจ่ายภายในปีนี้แน่นอน
โดยทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินไร่ละ 1,000 บาทให้ กำหนดแบ่งการโอนเป็นรอบต่อไป
โดยจะจ่ายได้ไม่เกิน 10 วันทำการ นับจากวันนี้
ส่วนเงื่อนไขเกษตรที่จะได้รับเงินไร่ละ 1,000 บาท ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร” – รมว.เกษตรฯกล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเข้าไปเช็คสถานะทะเบียนเกษตรได้ผ่านออนไลน์ e-Form เว็บไซต์ https://efarmer.doae.go.th/check
2. ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเศรษฐาอนุมัติโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง) กรอบวงเงิน 29,980.1645 ล้านบาท
แต่เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ และปัจจุบันล่วงเลยระยะเวลาการสนับสนุนปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) ไปแล้ว
อีกทั้งเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 72.20 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวและนำผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินงานโครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน ครัวเรือนละ 20,000 บาท เป็นจำนวนมาก
ในที่สุด นบข.ในยุครัฐบาลปัจจุบัน จึงมีมติเห็นชอบยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง
และเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่
3. สรุปว่า ครม.อุ๊งอิ๊งค์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 มีมติเห็นชอบ ดังนี้
3.1 เห็นชอบการยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567
3.2 เห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท
โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 ส่วน ดังนี้
1) กรอบวงเงินโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ จำนวน 29,518.02 ล้านบาท
และ 2) กรอบวงเงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มเติมอีก จำนวน 9,060.20 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
3.3 อนุมัติผ่อนปรนการไม่ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ในกรณีให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกรเฉพาะสินค้าข้าว
โดยโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 จะจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือน 10 ไร่
หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท
4. ภาพรวม ในส่วนของมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 มี 3 โครงการ
รวมวงเงินงบประมาณ 60,085 ล้านบาท ได้แก่
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาท
และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงินงบประมาณ 585 ล้านบาท
ในส่วนของการผลิต มีมาตรการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของการผลิตข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว 2 โครงการ
ได้แก่
1) โครงการศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าข้าว
และ 2) โครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
5. ชัดเจนว่า นโยบายข้าว และโครงการช่วยชาวนา ในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ไม่มีโครงการจำนำข้าว
และก็จะไม่มีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง
แต่จะมีโครงการไร่ละพัน และชุดมาตรการคล้ายๆ กับโครงการในยุครัฐบาลลุงตู่นั่นเอง
ข้อดี คือ เกิดความชัดเจน ชาวนาและผู้เกี่ยวข้องจะได้วางแผนดำเนินงานต่อ
ข้อกังวลเกี่ยวกับปุ๋ยคนละครึ่ง ที่จะต้องมีการจัดซื้อปุ๋ย มีช่องโหว่ครหา ก็จะได้ยุติไปโดยสิ้นเชิง
แต่ข้อเสียสำหรับชาวนา คือ ในยุคนี้ ไม่มีโครงการประกันรายได้ชาวนา ซึ่งเคยช่วยคุ้มครองความเสี่ยงด้านรายได้ของชาวนา เหมือนสมัยรัฐบาลลุงตู่
6. สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.32%
มูลค่า 191,031 ล้านบาท
ชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวขาว 62.04%
รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 16.40% ข้าวนึ่ง 12.10% ข้าวหอมไทย 6.47% ข้าวเหนียว 2.75% และข้าวกล้อง 0.24%
โดยภาพรวมการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567 “กรมการค้าต่างประเทศ” และ “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ประเมินร่วมกันว่า จะทำได้สูงถึง 9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 230,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลราคา FOB ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยของ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ในช่วง 10 เดือน พบว่า “ข้าวหอมมะลิ (ข้าวใหม่)” ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7.59% “ข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย)” ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24.64% ซึ่งทำสถิติราคาปรับตัวขึ้นสูงสุด ส่งผลดีต่อ “ราคาข้าวเปลือก” ในประเทศ ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน นบข. ได้ประเมินสถานการณ์ข้าวไทย ปีการผลิต 2567/68 สรุปว่า
พื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก
โดยรอบที่ 1 นาปี มีพื้นที่เพาะปลูก 62.12 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.2
พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.29 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.03 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.05
ผลผลิตที่ได้ 27.04 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.21 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 1
และในรอบที่ 2 นาปรัง มีผลผลิต 7.17 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.95 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 15
ในส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 15 ได้แก่
ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 บาท
ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,050 บาท เพิ่มจากปีก่อน 500 บาท
ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,550 บาท ลดลง 1,600 บาท
ข้าวเหนียว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 200 บาท
ในส่วนราคาข้าวเปลือกค่าความชื้นร้อยละ 30 ได้แก่
ข้าวหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 800 บาท
ข้าวปทุมธานี มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,100 บาท เพิ่มจากปีก่อน 400 บาท
ข้าวเจ้า มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7,400 บาท ลดลง 1,200 บาท
ข้าวเหนียว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100 บาท
ทั้งหมดนี้ ต้องติดตามว่า สถานการณ์ข้าวและชาวนา จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน?
และชุดมาตรการที่มีอยู่นั้น จะเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการแล้วหรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี