ในวันเดียวกันกับที่สภาฯได้รับใบลาออก จากสมาชิกสภาฯ ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนั้น ที่ประชุมสภาสภาฯได้มีมติเลือกนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนีย์ เป็นประธานสภาฯแทนตำแหน่งที่ว่างลง พระยาศรยุทธฯท่านนี้ แม้มิได้เป็นสมาชิกของคณะราษฎร ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาฯครั้งแรกแทนนายพลตรีพระยาอินทรวิชิตที่ขอลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯและสมาชิกสภาฯเพื่อไปรับตำแหน่งทูตที่ญี่ปุ่น มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2475 ในสมัยของประธานสภา เจ้าพระยาพิชัยญาติ ซึ่งได้เข้ามาเป็นประธานสภาฯคนที่ 2 ต่อจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาศรยุทธฯเป็นรองประธานสืบต่อมาจนหมดวาระการเป็นสมาชิกชุดแรกในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดใหม่ขึ้นมา ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และเมื่อสภาฯเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯเป็นประธานสภาฯ ครั้งที่ 2 สภาฯก็ได้เลือกพระยาศรยุทธฯเป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่งด้วย
พระยาศรยุทธฯ (กระแส ประวาหะนาวิน) เกิดในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2431 เรียนจบจากโรงเรียนนายเรือ เข้ารับราชการเป็นนายเรือตรี เมื่อพ.ศ. 2452 ระหว่างที่รับราชการ ได้มีโอกาสเป็นราชองครักษ์ จึงได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ใน
วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ท่านเป็นเจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ ไม่ได้ร่วมก่อการด้วย แต่เชื่อว่าน่า
จะเป็นนายทหารเรืออาวุโสที่คณะผู้ก่อการฯสายทหารเรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัยให้ความนับถือ เพราะในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน 70 คนนั้นมีนายทหารเรือที่ไม่ใช่ผู้ก่อการฯได้รับการแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาเพียง 3 คน คือท่านกับนายพลเรือตรีพระยาปรีชาชลยุทธ และพระยาวิชิตชลธี ทั้ง 3 ท่านล้วนเป็นนายทหารระดับนายพลเรือตรี และมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่แรก ทางสภาฯ ได้พยายามเลือกประธานสภาฯที่ไม่ได้เป็นคนของคณะราษฎร และเมื่อ 2 คนแรกเป็นพลเรือน คนที่ 3 จึงเป็นทหารและพระยาศรยุทธเสนีย์เป็นนายทหารคนแรกที่ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
การทำหน้าที่ประธานสภาในช่วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ไปจนถึง 22 กันยายน พ.ศ. 2477 เป็นระยะเวลาประมาณปีครึ่งนั้น อยู่ในสมัยที่พระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงแรก การเมืองยังไม่ค่อยมีปัญหา การดำเนินงานในสภาฯ จึงราบเรียบเป็นไปด้วยดี ที่พระยาศรยุทธฯพ้นจากตำแหน่งประธานสภาฯ เนื่องจากลาออกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลพระยาพหลฯนั่นเอง พระยาศรยุทธฯยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาฯสืบต่อมาอย่างยาวนาน ในสภาฯตอนนั้นมีประธานสภาฯคนใหม่สืบต่อตำแหน่งมาอีก 2 ท่านโดยท่านแรกที่สืบต่อตำแหน่งจากพระยาศรยุทธฯคือเจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ ส่วนคนที่สองที่เป็นอยู่เป็นเวลานานคือพระยามานวราชเสวีต่อมาเมื่อพระยามานฯลาออก สภาฯจึงได้เลือกพระยาศรยุทธฯให้มาเป็นประธานสภาฯอีกครั้งในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2486 โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม เมื่ออำนาจทางการเมืองของหลวงพิบูลฯอ่อนลง พระยาศรยุทธฯจึงพ้นตำแหน่งประธานสภาฯ โดยสภาได้เลือกพระยามานฯกลับมาเป็นประธานสภาฯอีกครั้ง
เมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 มีระบบสองสภา คือพฤฒสภากับสภาผู้แทนราษฎร พระยาศรยุทธฯก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกด้วย และต่อมาเมื่อประธานพฤฒสภาคนแรกคือนายวิลาศ โอสถานนท์ ได้พ้นตำแหน่ง ทางพฤฒสภาฯก็ได้เลือกพระยาศรยุทธฯ เป็นประธานฯ นับเป็นคนที่สอง ท่านจึงเคยเป็นทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานพฤฒสภา และประธานรัฐสภา และท่านเป็นประธานรัฐสภาอยู่ในวันที่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี