ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นการเริ่มต้นของวาระของการที่มาเลเซีย โดยนายกรัฐมนตรีของเขาจะเข้าเป็นประธานอาเซียนเป็นเวลา 1 ปี ก็มีคำถามตามมาว่า เขาควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง? หรือเขามีเรื่องอะไรที่รอท้าทายเขาอยู่ เพื่อนำพาให้อาเซียนก้าวไกลไปข้างหน้าไปได้อย่างมั่นคงและมั่งคั่ง
ประเด็นปัญหาของอาเซียนที่เป็นที่ตระหนักแล้วค่อนข้างจะทราบกันดีอยู่ ก็มีอาทิ
1.ความไม่สนิทสนมระหว่างผู้นำอาเซียน
2.ความแตกแยกในเรื่องความคิดและวิธีการ และฉะนั้นก็เป็นปัญหาของความเป็นเอกภาพและหนึ่งเดียวกัน
3.ความอ่อนด้อยของอุดมการณ์ หรือแนวคิดว่าด้วยอาเซียนต้องเป็นแกนกลางขับเคลื่อนของความเป็นไปในภูมิภาค (ASEAN Centrality)
4.ความไม่คืบหน้าของการเสริมสร้างของความเป็น “ประชาคม” (Community) หรือนัยหนึ่งการเป็นตลาดเดียวกัน เป็นต้น
ในการนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนตลอดช่วงปี 2568 ก็มีภารกิจค่อนข้างจะหนักหน่วงและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แต่ชาวอาเซียน และชาวโลกก็ต่างตั้งความหวังต่อความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ด้วยว่านายกรัฐมนตรี อันวาร์อิบราฮิม เป็นนักการเมืองอาวุโสของอาเซียนเพียงไม่กี่คนที่เป็นผู้คร่ำหวอดทางการเมือง มีประสบการณ์ทั้งทางการเมืองและการบริหาร และเป็นที่รู้จักในเวทีอาเซียนและต่างประเทศ
ฉะนั้นการเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนจึงไม่ใช่ของแปลกใหม่หรือไม่คุ้นเคย อีกทั้งนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ยังมีความสัมพันธ์
ส่วนตัวกับนักการเมืองอาเซียนอยู่ในระดับหนึ่ง และโดยเฉพาะกับประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย อดีตนายพล ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งจะอำนวยให้ช่วยกันขับเคลื่อนอาเซียนให้รุดหน้าไปได้
ในการทำงานทำการใดๆ มนุษยสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่บรรดาผู้นำอาเซียนในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาดูเหินห่างกัน ขาดความเป็น “เพื่อนซี้” และฉะนั้นก็เป็นความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิมจะได้รื้อฟื้นและกระชับความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำอาเซียนทั้งหลาย เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการเคารพนับถือซึ่งกันและกัน โดยการติดต่อโดยตรง เสริมด้วยการมีผู้แทนพิเศษไปตระเวนเยี่ยมประเทศอาเซียนทั้งหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกระตุ้นการร่วมมือกันเพื่อนำพาอาเซียนไปข้างหน้า และทั้งนี้ก็ต้องเพียรพยายามที่จะป้องกันมิให้มีการออกนอกแถวโดยประเทศสมาชิกหนึ่งใดอีก เช่น ในกรณีเรื่องการร่วมกันแก้ปัญหาที่ประเทศเมียนมา โดยกลับมาขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนในการนำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศเมียนมาให้ได้ หรือจะเป็นกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนตอนใต้ที่จีนดำเนินนโยบายและมาตรการเชิงข่มขู่ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย แต่อาเซียนร่วมกันดูเพิกเฉย เป็นผลเสียต่อศักดิ์ศรีและความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนเอง
นอกจากนั้นโลกก็ยังมีเรื่องเดือดร้อนมากมาย และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็ได้เห็นการเกิดขึ้นและแพร่ขยายของการร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการทหารและความมั่นคง แต่อาเซียนกลับตกอยู่ในสภาพของการถูกลืมเลือน ไม่มีการให้ความสำคัญ ทำให้หลักคิดว่าด้วยการเป็นศูนย์กลางแกนกลาง (Centrality) เป็นแค่วลีและวาทะ ไม่มีพลังความศักดิ์สิทธิ์ หรือเขี้ยวเล็บแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่อาเซียนนั้นก็มีข้อตกลงและแถลงการณ์ว่าด้วยมิตรภาพ ความร่วมมือ ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เสรีภาพ และความเป็นกลาง แต่ก็มิได้มีการนำขึ้นมาพูดจาหรือขับเคลื่อนแต่อย่างใด
ซึ่งเรื่องทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นนี้จัดได้ว่า เป็นการบ้านอันสำคัญที่ท้าทายสำหรับนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม และที่น่ายินดีในชั้นนี้ก็มีข่าวคราวออกมาว่า ได้มีการเตรียมการและปรึกษาหารือทั้งในแวดวงฝ่ายบริหารและแวดวงนิติบัญญัติ ซึ่งคงจะบ่งบอกว่า นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิมก็จะเอาจริงเอาจังกับการเป็นประธานอาเซียนตลอดปี 2568 นี้ โดยชาวอาเซียนก็ควรร่วมกันส่งกำลังใจให้เขา และให้มาเลเซียประสบความสำเร็จ
สำหรับผมเองนั้นก็ได้มีโอกาสไปแสดงความคิดเห็นกับฝ่ายนักการเมือง และแวดวงวิชาการของมาเลเซียไม่นานมานี้ และก็กลับบ้านมาด้วยความรู้สึกว่า ฝ่ายมาเลเซียเขาเอาจริงเอาจังและคงจะประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี