กฎหมายตั้งมหาวิทยาลัยฉบับแรกที่เข้าสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็คือกฎหมายตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2476 รัฐบาล โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีลอยของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้นำเสนอ
“…ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ในรายงานการประชุมตกคำว่า “วิชา” ไป) ซึ่งรัฐบาลเสนอเป็นการด่วนนั้น ความประสงค์ของรัฐบาลในวันนี้ มีเพียงว่าขอให้สภาพิจารณารับหลักการ… แล้วจะได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาได้”
สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 5 ท่าน คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ดร.เดือน บุนนาค พระสารสาสน์ประพันธ์ และ นายนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากษ์ คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ไปประชุมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำกลับมาเสนอต่อสภาฯเพื่อพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2476 ในวันนั้น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายถามเรื่องงบประมาณ และผู้ลุกขึ้นตอบ
คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
“ได้กำหนดในชั้นต้นว่าอยากจะขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในร่างเดิมเราใส่ว่าจะขอเงินเท่ากับที่รัฐบาลอุดหนุนอยู่ในเวลานี้เท่านั้น ไม่ขอเพิ่มอีก คือในเวลานี้ รัฐบาลได้มีการอุดหนุนการศึกษาประเภทนี้คือ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ การอุดหนุนนั้นก็คือได้อุดหนุนโดยที่จ้างศาสตราจารย์หรือแต่งตั้งศาสตราจารย์ให้ได้รับตำแหน่งนั้นๆ นอกจากนั้นยังได้มีการอุดหนุนในเรื่องที่จะอนุญาตให้จ้างผู้สอนชนิดวิสามัญ คือมาสอนชั่วครั้งชั่วคราวในคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้นด้วย… และนอกจากนั้นมหาวิทยาลัยนี้ที่จะเลี้ยงตนเองได้”
การอภิปรายซักถามเกี่ยวกับร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยฉบับนี้มีไม่มาก สำหรับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น ตอนแรกได้ใช้อาคารที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานผ่านพิภพลีลา ทางหัวถนนราชดำเนินกลางไปก่อน ด้วยมหาวิทยาลัยจะมีที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหม่ จะได้ขอซื้อที่บริเวณโรงทหารจากกระทรวงกลาโหม ที่บริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้านั่นเอง เรื่องซื้อที่ได้เข้าสภาฯ ในภายหลังเมื่อตอนต้นปี พ.ศ. 2477 พระยามานฯรัฐมนตรีคลังชี้แจงว่า
“เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอประทานเรียนว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีเงินสะสมที่เก็บไว้ได้เป็นจำนวน 3 แสนบาท ได้มอบเงินจำนวนนี้แก่กระทรวงกลาโหมไปแล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับเงินไป และประกอบกับที่ดินในบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์นี้ทางทหารต้องการจะใช้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงได้รับเอาที่ดินกองพันทหารนี้มาขึ้นเป็นของหลวง และขอโอนให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และความประสงค์ในการโอนนี้ ก็เพื่อจะขยายสถานที่การศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้กว้างขวางและเจริญ สมกับความเป็นอยู่ ณ บัดนี้ …”
นี่เป็นครั้งแรก ต่อมามหาวิทยาลัยก็ซื้อที่เหลืออีกส่วนหนึ่งเป็นครั้งที่ 2 จากรัฐบาล
หลังจากกฎหมายมหาวิทยาลัยนี้ผ่านสภาฯในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2476 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2476 ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2477 ได้มีประกาศโปรดเกล้าฯตั้งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ และก็ได้มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยฯ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477
โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ นับเป็นมหาวิทยาลัย ที่ 2 ของสยาม
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี