ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองที่สำคัญตั้งแต่ ได้ร่วมยึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
บุคคลคณะนี้ใช้นามว่า “คณะราษฎร” ประกอบด้วยฝ่ายทหารบกที่มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบกและเป็นหัวหน้าคณะราษฎร สายทหารเรือมี นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้าสายทหารเรือ ในตอนนั้นยังไม่มีสายทหารอากาศ ส่วนสายพลเรือนมีอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
(นายปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้าสายพลเรือน
บุคคลสำคัญในคณะราษฎรอีกคนหนึ่งคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็อยู่ในสายทหารบก ขณะนั้นมียศนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ และเป็นถึง ๘ ครั้ง เจ้าของคำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ถือเป็นนายทหารคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพไทย เริ่มตั้งแต่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนที่สุดถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องที่ใกล้ชิดเป็นมือขวาของท่านที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นทำการรัฐประหารและขับท่านออกนอกประเทศเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๐๐
คงจะเป็นเพราะ จอมพล ป. ได้เป็นทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุด หรือจะเป็นว่าเพราะท่านเริ่มมองเห็นถึงความเกี่ยวข้องของทหารกับการเมืองก็ไม่ทราบแน่ชัด หรือได้เห็นสัจธรรมของการที่ทหารเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป จอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้นจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติของข้าราชการกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไว้ โดยตราข้อบังคับชื่อว่า “ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
ข้อบังคับนี้ยังไม่มีการยกเลิกไป เพราะทางกระทรวงกลาโหมได้นำมาแก้ไขปรับปรุงจนถึงฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๙ แสดงว่ายังต้องการให้ใช้บังคับอยู่ และข้อบังคับนี้ตามกฎหมายของทหารมิใช่เป็นเพียงแนวปฏิบัติเท่านั้น ถือเป็นวินัยอันเคร่งครัดของทหาร มีผลเป็นกฎหมายที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องรับโทษ ที่เรียกว่า “อาญาทหาร” ทีเดียว
ในสาระสำคัญของข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมืองนั้นมีสาระในข้อบังคับอันเป็นทางปฏิบัติของข้าราชการกลาโหม บังคับข้าราชการประจำการในสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งทหารและพลเรือน นักเรียนทหาร ทหารกองประจำการ ตลอดจนลูกจ้างและคนงานสังกัดกระทรวงกลาโหม เรียกว่า บังคับทุกประเภททีเดียว
ส่วนการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามก็ได้กำหนดไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่ามีข้อห้ามอะไรบ้าง เช่น ข้อ ๗ ข้อ ๘ (๒) ดูรายละเอียดข้อบังคับ
ดังกล่าวในกรอบข้างล่าง
--------------------------------------
ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง
พ.ศ. ๒๔๙๙
เนื่องจากคณะรัฐมนตรีลงมติให้ข้าราชการประจําการมีเสรีภาพทางการเมืองทํานองเดียวกับประชาชนทั่วไป และเปิดโอกาสให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองได้ กระทรวงกลาโหมเห็นควรวางแนวทางปฏิบัติของข้าราชการกลาโหมที่เกี่ยวกับการเมืองไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยจึงตรา ข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๙”
ข้อ ๒. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓. ให้ยกเลิกข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจําการกับการเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๙ และข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจําการกับการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๙
ข้อ ๔. ข้าราชการกลาโหมตามข้อบังคับนี้ให้หมายความว่า
(๑) ข้าราชการประจําการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งทหารและพลเรือนเว้นแต่ข้าราชการประเภทการเมือง
(๒) นักเรียนทหาร
(๓) ทหารกองประจำการ
(๔) ลูกจ้างและคนงานสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งจ้างประจําและจ้างชั่วคราว
*ข้อ ๕. ข้าราชการกลาโหมผู้ใดได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งขึ้น โดยชอบด้วยกฎหมายให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้นจนถึง
ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณีเพื่อทราบ
*ข้อ ๖. ข้าราชการกลาโหมจะเข้าร่วมประชุมอันเป็นการประชุมของพรรคการเมืองเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมิใช่ในเวลาราชการ
ความในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับข้าราชการกลาโหมที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา
ข้อ ๗. ข้าราชการกลาโหมจะต้องปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือเกี่ยวกับประชาชนด้วย การวางตนเป็นกลางโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะแต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและไม่กระทําการให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายกฎข้อบังคับ ระเบียบ คําสั่ง และ แบบธรรมเนียมของทหาร
*ข้อ ๘. ข้าราชการกลาโหมจะต้องไม่กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม ดังต่อไปนี้
*(๑) ห้ามมิให้ใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เขตสถานที่ราชการในกิจการทางการเมืองไม่ว่าด้วยการกระทำหรือด้วยวาจา ยกเว้นสโมสรซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ในกิจการต่างๆ ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ
(๒) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน
(๓) ไม่แต่งเครื่องแบบซึ่งทางราชการได้กำหนดไว้ร่วมประชุมพรรคการเมืองหรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใดๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
(๔) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในสถานที่ราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในเวลาสวมเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้
(๕) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการทุกๆ แห่ง
(๖) ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือประชาชนทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือโทษเฉพาะเหตุที่
ผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
(๗) ไม่ทำการขอร้องหรือบังคับให้บุคคลใดอุทิศเงิน หรือทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
(๘) ไม่เขียนจดหมาย หรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์หรือใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมือง และไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน
(๙) ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่างๆ อาทิ วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นต้น
(๑๐) ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เว้นแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองให้กระทำการ
ดังกล่าวเช่นนั้นได้ และในทางกลับกัน ไม่กีดกันตำหนิติเตียนทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(๑๑) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
(ลงชื่อ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
หมายเหตุ * ข้อ ๕. แก้ไขเพิ่มเติมตามข้อบังคับ กห.(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๙
* ข้อ ๖. แก้ไขเพิ่มเติมตามข้อบังคับ กห.(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
* ข้อ ๘. แก้ไขเพิ่มเติมตามข้อบังคับ กห.(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒
--------------------------------------
จะเห็นได้ว่า ทหารนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับการเมืองได้แต่จะต้องอยู่ในเกณฑ์ของข้อบังคับไว้ดังกล่าว จอมพล ป. ได้ออกข้อบังคับกลาโหมช้าไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ ภายหลังที่ตราข้อบังคับนี้ได้ไม่กี่เดือนก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขับออกนอกประเทศไป ต้องไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ญี่ปุ่นและสิ้นชีวิตลงที่นั้นในปี ๒๕๐๗ จอมพล ป. จึงไม่มีโอกาสได้เห็นข้อบังคับที่ท่านได้วางไว้ว่าสัมฤทธิผลหรือไม่อย่างไร
และถ้าทหารปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวนี้
ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสำหรับทหาร ก็จะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้เลย
ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี