“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2497 มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ในขณะนั้นสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมยังไม่อำนวยให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับ ปัจจุบันนี้การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ก้าวหน้าไปมาก สมควรสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น โดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง และบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร
กรณีชราภาพ และสำหรับกรณีว่างงานซึ่งให้หลักประกันเฉพาะลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ส่วนท้ายของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งตามข้อมูลจากบทความ “ความเป็นมาของการประกันสังคมในประเทศไทย” ในฐานข้อมูลวิจัยแรงงาน เว็บไซต์ http://nlrc.mol.go.th/ ของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีความพยายามสร้างระบบประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2495 ก่อนจะออกมาเป็น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2497 แต่เจอแรงต้านจนรัฐบาลในขณะนั้นต้องประกาศระงับการบังคับใช้กฎหมายไว้ ซึ่งก็อยู่ในสภาพนั้นมาตลอดจนถึงปี 2533 ที่รัฐบาลและรัฐสภาตัดสินใจออก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาใช้แทน
จากนั้นในปี 2534 จึงได้มีการก่อตั้ง “กองทุนประกันสังคม” ที่เป็นการ “ร่วมจ่าย” สมทบกันของ 3 ฝ่าย คือนายจ้าง ร้อยละ 5 ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ร้อยละ 5 และรัฐอีกร้อยละ 2.75 อย่างไรก็ตาม จากระยะหลังๆ ที่มีความกังวลเรื่อง “ความน่าจะเป็นที่เงินกองทุนอาจหมดในอนาคตอันใกล้” ก็ทำให้แนวคิด “ปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนให้สูงขึ้น” จาก ณ ปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าถึงเวลาจำเป็นต้องทำเสียที
อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 ทางกระทรวงแรงงาน มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง ซึ่ง บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้มาเป็นประธานเปิดการประชุม ได้กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลา 34 ปีแล้ว
สำหรับกองทุนประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เริ่มกำหนดให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2534 โดย ณ เวลานั้น เงินเดือนของคนจบปริญญาตรีอยู่ที่ราว 4,000-6,000 บาท ส่วนข้าราชการอยู่ที่ 4,000-4,500 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่วันละ 75-80 บาท การกำหนดเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท จึงเหมาะสมกับค่าจ้างและค่าครองชีพในช่วงดังกล่าว แต่การกำหนดเพดานนี้ก็ไม่เคยถูกปรับปรุงแก้ไขมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
“สำนักงานประกันสังคมตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงของสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าสำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับนายจ้างและผู้ประกันตน จาก 15,000 บาท ปี 2569-2571 ปรับเป็น 17,500 บาท ปี 2572-2574 ปรับเป็น 2 หมื่นบาท และบันไดขั้นสุดท้ายในปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเป็น 23,000 บาท”ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ตามข้อมูลที่ทางสำนักงานประกันสังคมประชาสัมพันธ์ไว้ ขอยกตัวอย่าง “บำนาญชราภาพ” ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่คนทำงานสนใจมากที่สุด โดยปัจจุบันที่ใช้สูตรคำนวณอิงกับฐานเงินเดือนตั้งเพดานไว้ที่ 15,000 บาท ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบในอัตราสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 750 บาท หากส่งต่อเนื่อง 15 ปี จะได้ 3,000 บาทต่อเดือน แต่หากส่งต่อเนื่อง 25 ปี จะได้ 5,250 บาทต่อเดือน,
ในปี 2569-2571 ที่จะมีการปรับเพดานขึ้นไปอยู่ที่ 17,500 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบในอัตราสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 875 บาทต่อเดือน หากส่งต่อเนื่อง 15 ปี จะได้ 3,500 บาทต่อเดือน แต่หากส่งต่อเนื่อง 25 ปี จะได้6,215 บาทต่อเดือน , ในปี 2572-2574 ที่จะมีการปรับเพดานขึ้นไปอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบในอัตราสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน หากส่งต่อเนื่อง15 ปี จะได้ 4,000 บาทต่อเดือน แต่หากส่งต่อเนื่อง 25 ปี จะได้ 7,000 บาทต่อเดือน
และในปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเพดานขึ้นไปอยู่ที่ 23,000 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบในอัตราสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 1,150 บาทต่อเดือน หากส่งต่อเนื่อง 15 ปี จะได้ 4,600 บาทต่อเดือน แต่หากส่งต่อเนื่อง 25 ปี จะได้ 8,050 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าว ณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม ระบุว่า จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ต้องจ่ายเพิ่มเพราะมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ในขณะที่อีกร้อยละ 65 จะไม่ต้องจ่ายเพิ่มเพราะเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ เคยมีความพยายามปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนมามาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งสาเหตุเพราะแม้จะมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ แต่ไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้จึงเกิดกระแสต่อต้าน ยิ่งเจอกระแสสื่อสังคมออนไลน์พาดหัวแชร์กันไปคนก็ยิ่งไม่เห็นด้วย บอกว่าเก็บแต่เงินไม่เห็นได้สิทธิ์อะไรเลย ดังนั้น เรื่องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“เราเอาข้อมูลมาดูคนที่ตอบ คนที่เงินเดือนเกิน 15,000 สัดส่วนเห็นด้วยเยอะกว่าคนเงินเดือนไม่ถึง 15,000 อีก มันแปลกๆ พอไปอ่านความเห็น บอกว่าเงินเดือนก็น้อยยังต้องส่งเพิ่ม ก็เริ่มไม่ใช่แล้ว คือเขาก็ไปตอบในเว็บไซต์ เป็นอารมณ์ที่แชร์กันในโซเชียลว่าต้องส่งเงินเพิ่ม ครั้งนี้เราก็เลยทำงานกันจริงจังมากขึ้นเรื่องการสื่อสาร ก็เป็นบทเรียน คือเรื่องวิชาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมเรื่องการสื่อสาร” ณภูมิ กล่าว
เช่นเดียวกับ จตุรงค์ ไพรสิงห์ ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม เล่าว่า จากที่ลงพื้นที่ไปสอบถามผู้ประกันตน จะพบคนที่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท มีท่าทีต่อต้านไว้ก่อน ซึ่งสะท้อนความไม่เข้าใจ ในขณะที่คนที่เงินเดือนเกิน 15,000 บาท กลับอยากให้ปรับมากกว่าเพดานใหม่ที่ตั้งไว้เสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องดูความพร้อมของนายจ้างที่เป็นผู้ส่งเงินสมทบในอัตราเท่ากับผู้ประกันตนด้วย
“อย่างหนึ่งที่ผู้ประกันตนพยายามพูด ผมรับฟังความคิดเห็นมาเขาพูดว่าการจ่ายเพิ่มขึ้น เขาต้องการปรับฐานค่าจ้างให้เกิน 15,000ขึ้นไป เขาจ่ายได้แต่เขาต้องการความโปร่งใส ความยั่งยืน การชี้แจงที่ตรงไปตรงมาต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง” จตุรงค์ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี