กรณีน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัด เชียงใหม่ ทำให้ปางช้างกว่า 38 แห่งได้รับความเสียหาย
แต่มีช้างล้ม 2 เชือก จากปางช้างแห่งเดียว คือ ปางช้าง ENP
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ปางช้างดังกล่าวไม่มีการจัดการที่ดีพอ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายช้างออกไปจากคอกก่อนน้ำท่วม ไม่มีการจัดการอพยพช้างดุที่ถูกขังในคอก ช้างจมน้ำ แช่น้ำนานเป็นเวลานานข้ามวันข้ามคืน และมีช้างถูกน้ำพัดตายไป 2 เชือก ทั้งๆ ที่ ปางอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันย้ายช้างได้หมด แถมยังต้องระดมกันมาช่วยปางช้าง ENP ด้วย
เหตุใด ปางช้างดังกล่าว ที่มีช้างล้ม 2 เชือก จึงไม่สามารถย้ายช้างหนีน้ำได้เหมือนปางอื่นๆ ?
เหตุใดจึงปรากฏว่า ปล่อยให้มีช้างนับสิบเชือกถูกขังอยู่ในคอกที่น้ำท่วม จนควาญช้างและเจ้าหน้าที่ภายนอกเข้าไปช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่ปางช้างดังกล่าว?
รวมไปถึง “เวทนามาร์เก็ตติ้ง” ในวงการช้างด้วย
กลายเป็นประเด็นครหาว่า ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบ จัดการ เพราะผู้บริหารปางดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองสีส้ม และเป็นขาใหญ่ในวงการเอ็นจีโอ มีเครือข่ายที่สามารถระดมเงินบริจาคได้มากมายจากทั้งในและต่างประเทศหรือไม่?
1. ปรากฏว่า กรณีดังกล่าวนั้น เครือข่ายคนรักช้างได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ดำเนินการตรวจสอบมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง
ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ก็คือ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.พรรคภูมิใจไทย
หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าชี้แจงข้อมูล
แต่ปรากฏว่า ฝ่ายมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่ (Elephant Nature Park : ENP) ไม่ได้เดินทางมาชี้แจง
ทั้งๆ ที่ เวลามีกิจกรรมทางการเมือง นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้บริหารมูลนิธิ ก็เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่สภาผู้แทนราษฎรพบปะกับ สส.พรรคส้มอยู่เป็นประจำ
ล่าสุด คณะกรรมาธิการการปกครองส่งหนังสือเชิญเข้าชี้แจงเป็นครั้งที่ 2 คุณแสงเดือนก็ไม่ได้เดินทางและไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด
2. ประเด็นที่เข้าตรวจสอบ 12 ประเด็น น่าสนใจ ดังนี้
“1. มูลนิธิใช้จ่ายทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมูลนิธิหรือไม่ การดำเนินงานว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และมูลนิธิมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เอลลิแฟนท์ เนเจอร์ปาร์ค จำกัด หรือไม่และอย่างไร
2. มูลนิธิมีรายได้อะไรบ้างและยื่นรายได้เพื่อประเมินภาษีเงินได้ถูกต้องหรือไม่และอย่างไร
3. กรณีที่มีผู้บริจาคเงินให้มูลนิธิ แต่มูลนิธิไม่ได้มีการออกใบเสร็จให้และออกใบเสร็จย้อนหลังให้แก่ผู้ที่บริจาค ข้อเท็จจริงเป็นประการใด
4. ช้างของมูลนิธิได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีตั๋วรูปพรรณหรือไม่ นำเงินส่วนใดไปซื้อช้าง และช้างเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร
5. มูลนิธิขายทัวร์หรือบริการนำเที่ยวซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจหรือไม่และอย่างไร
6. มูลนิธิจ้างลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานหรือไม่อย่างไร
7. มูลนิธิเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยหรือไม่และอย่างไร
8. มูลนิธิดำเนินงานส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่หรือไม่และอย่างไร
9. มูลนิธิปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าการเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างตามพระราชบัญญัติ มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563 หรือไม่และอย่างไร
10. การออกแบบที่อยู่อาศัยหรือคอกที่ใช้สำหรับการเลี้ยงช้างเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวหรือไม่และอย่างไร
11. มูลนิธิปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ รวมถึงขุดเอาลำน้ำไปยังที่ดินของตนเอง ทำให้เกิดผลกระทบต่อบริเวณข้างเคียงหรือไม่และอย่างไร
12. การได้มาของเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าวของมูลนิธิมีรายละเอียดอย่างไร มีเขตขอบเท่าใด”
จะเห็นว่า ทั้งหมด ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเพื่อประโยชน์แห่งการดูแลคุ้มครองช้าง ความถูกต้องของการดำเนินการของมูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย
ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล
จึงควรจะต้องมีคำชี้แจงต่อสังคม
มิให้มีการหมกเม็ด ปกปิด เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง
3. จากการติดตาม ทราบว่า กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ โดยเข้าตรวจสอบปางช้างของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมแล้ว
มีความคืบหน้าน่าสนใจ
มีรายงานว่า จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น ตามข้อร้องเรียน อาทิ
ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการการติดตามนโยบายรัฐ ศึกษากฎหมาย และศึกษาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน มีความเห็นให้จังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เนื่องจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นยังมีบางประเด็นไม่ชัดเจน
จะไม่ใช่เพียงแค่สอบถามผู้ถูกร้อง
ไม่ใช่ว่า เขาตอบมาอย่างไร ก็นำมารายงานต่อ ไม่ใช่เป็นบุรุษไปรษณีย์นำส่งสาร
โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลต่อที่ประชุม
นายธีรภัทร ตรังปราการ กล่าวถึงการที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมไม่ส่งใครมาชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การไม่มาในครั้งแรก โดยให้เหตุผลว่า ต้องฟื้นฟูพื้นที่หลังอุทกภัยเป็นเหตุผลที่พอรับฟังได้ แต่ขณะนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้ว จึงไม่ทราบว่า เหตุใดจึงไม่มา อย่าตั้งธงว่า ผู้นำข้อสงสัยมาร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการให้ตรวจสอบนั้นเป็นฝ่ายตรงข้าม แท้จริงเป็นกลุ่มประชาชนที่กังขาและห่วงใยในสวัสดิภาพสัตว์ ไม่เฉพาะช้าง ยังมีสัตว์หลายชนิดจำนวนมากที่มูลนิธิดูแลอยู่และตายในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ที่ตั้งของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ตามกฎหมายมาตรฐานปางช้างระบุว่า ปางช้างที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานต้องไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หากคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ก็จำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุและแผนรับมือภัยพิบัติ กรณีน้ำหลากท่วมฉับพลันจะอพยพช้างอย่างไร โดยเฉพาะช้างที่ขังคอกอยู่ จะเปิดประตู แล้วพาไปยังที่ปลอดภัยได้หรือไม่ หวังว่า จะไม่ปล่อยให้ช้างแช่น้ำอยู่เช่นนั้นอีก
ทั้งนี้ไม่นานฤดูฝนใหม่ก็จะมาถึง มูลนิธิจึงต้องชี้แจงให้กระจ่างว่า มีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ให้สูญเสียชีวิตช้างซ้ำรอยปีนี้ การที่มีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบเพราะผู้เสียหายคือ ช้างและสัตว์อื่นๆ ที่ร้องเรียนด้วยตัวเองไม่ได้
สำหรับการดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่ นายธีรภัทรเห็นว่า ต้องตรวจสอบตามประเด็นที่ตั้งไว้ในเชิงลึกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงแค่สอบถามผู้ถูกร้องหรือให้ผู้ถูกร้องตอบเป็นหนังสือ แล้วสรุปผลเช่น ประเด็นการรับบริจาคของมูลนิธิซึ่งโครงการเดียว แต่ทำผ่านหลายองค์กร ต้องตรวจสอบให้ทราบว่า รายได้จากการรับบริจาคทั้งหมดเป็นเท่าไรและนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิหรือไม่ จึงต้องการให้การตรวจสอบเพิ่มเติมของจังหวัดเชียงใหม่เป็นการตรวจสอบเชิงลึกจนได้คำตอบที่ชัดเจน
ส่วนผลตรวจสอบด้านสวัสดิภาพสัตว์ของกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ที่รายงานต่อที่ประชุม พบว่า ตั้งประเด็นการตรวจสอบครอบคลุมด้านหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้ดีโดยไม่ได้มองเพียงว่า ช้างอ้วนหรือผอมและมีบาดแผลหรือไม่แต่ได้ตั้งคำถามเชิงลึกถึงมาตรการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของช้างกลุ่มที่ขังคอกอยู่ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ลอยคอแช่น้ำตอนน้ำท่วมนั่นเอง
ผู้แทนกรมปศุสัตว์ยังรายงานต่อที่ประชุมว่า กรมปศุสัตว์แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ
โดยคณะกรรมการชุดแรกเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
อีกชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาโทษ ซึ่งจะนำข้อมูลจากคณะกรรมการชุดแรกมาพิจารณาว่า การดูแลช้างและสัตว์อื่นๆ ของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่
นายธีรภัทรกล่าวย้ำว่า หวังให้เรื่องนี้เกิดความกระจ่าง ก่อนที่ช้างในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมต้องเข้าสู่ภาวะเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อถึงฤดูฝนปีหน้า โดยเฉพาะช้างที่ขังอยู่ในคอกจะต้องเสียสละชีวิตเพิ่มอีกหรือไม่ กว่าที่หน่วยงานรัฐที่รอบผิดชอบจะตระหนักว่า วิธีดูแลช้าลักษณะนั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์
4. ขอชื่นชมและสนับสนุนให้มีการตรวจสอบและจัดการให้ถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขการจัดการดูแลช้าง ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยดีกว่าเดิม
ไม่ใช่ปล่อยให้เสี่ยงจะเกิดเหตุซ้ำอีก หรือจุดบอดเดิมไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
กลายเป็นช้างจะรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโชคชะตาว่าน้ำจะมามากหรือน้อยแค่ไหน
รวมไปถึงหาความกระจ่างในการจัดการมูลนิธิฯ ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือมีการพลิกแพลงหลบเลี่ยง เพื่อผลประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
ช้างตายทั้งตัว จะปล่อยให้เอาใบบัวมาปิดได้อย่างไร
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี