ปัจจุบัน ประเทศไทย มีทุนสำรองระหว่าง ประเทศรวม (gross international reserves) ราวๆ 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราวๆ 8,024,000,000,000 บาท
หรือราวๆ 8 ล้านล้านบาท !!!
เป็นจำนวนเงินมหาศาล
นักเล่นหุ้นเห็นก็คงตาโต
คงอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าแบ่งมาปั่นหุ้นเอ๊ย... เอามาลงทุนในตลาดหุ้นสัก 1-2 ล้านล้านบาท จะปั่นฟองสบู่ราคาหุ้นไปถึงไหนต่อไหน
หรือมองในแง่ดี หากรัฐบาลได้เงินมาอัดฉีดช่วยเหลือประชาชนเพิ่มอีกสัก 1-2 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องไปกู้มา เพราะปัจจุบันก็เกือบเต็มเพดานอยู่แล้ว ย่อมจะเป็นผลดีต่อกลุ่มที่จะได้รับเงินไปอย่างแน่นอน
เม็ดเงินระดับ 1-2 ล้านล้าน หากอัดฉีดลงไปเมื่อไหร่ เศรษฐกิจก็เหมือนได้ยาโด๊ป ปึ๋งปั๋งฉับพลันแน่นอน อย่างน้อยก็เฉพาะหน้า
แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น เขามีไว้เพื่ออะไร? มีไว้ให้นักการเมืองนำมาถลุง หรือเอาไปลงทุน หรือเอามาทำนโยบายประชานิยม ได้หรือไม่?
1.“เงินสำรองระหว่างประเทศ” ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุนสำรองฯ หมายถึง เงินตราและสินทรัพย์ในสกุลเงินตราต่างประเทศ รวมถึงทองคำ ที่ธนาคารกลางถือครองและบริหารจัดการอยู่ เพื่อใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร ดูแลเสถียรภาพด้านต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและคนต่างชาติทั่วโลก
ทุนสำรองฯ ไม่ได้ใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรเท่านั้น
แต่ยังเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน บริษัทต่างชาติต้องเชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถแลกเงินดอลลาร์มาชำระค่าสินค้าได้เสมอ แล้วไทยเรามีทุนสำรองอยู่มากแค่ไหนล่ะ ต่างชาติจึงจะมั่นใจว่าจะให้เอกชนไทยเรากู้ยืมเงิน การซื้อหุ้นและพันธบัตร รวมถึงการลงทุนโดยตรง ว่าไทยเรามีหน้าตักทุนสำรองระหว่างประเทศให้เขาแลกคืนกลับไปได้ตลอดเวลานะ
2.การพิจารณาว่า ทุนสำรองฯ ของเรามากหรือน้อย ตามมาตรฐานสากล เขามีตัวชี้วัดอยู่
ตัวชี้วัดที่นักลงทุนต่างชาติใช้ดูเบื้องต้น คือ สัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และสัดส่วนทุนสำรองต่อมูลค่าการนำเข้า
2.1 หนี้ต่างประเทศระยะสั้น คือ หนี้ที่จะมีกำหนดใช้คืนทั้งหมดในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า
เกณฑ์มาตรฐาน คือ ประเทศควรจะมีสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 1 เท่า
หมายความว่า แม้ไม่มีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาเลย ประเทศยังมีเงินตราต่างประเทศมาจ่ายคืนได้อีก 1 ปี โดยไม่ผิดนัดชำระหนี้
ในความเป็นจริง ทุนสำรองฯ ของไทยในขณะนี้ มีสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกือบ 3 เท่า
นับว่า สูงกว่าเกณฑ์
2.2 มูลค่านำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมันและอาหาร ที่เราต้องนำเข้าต่อเนื่อง
เกณฑ์ คือ ประเทศควรจะมีทุนสำรองเพียงพอที่จะนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนทุนสำรองต่อมูลค่าการนำเข้ามากถึง 8 เดือน
นับว่า สูงกว่าเกณฑ์ทั่วไป
ทั้งนี้ เป็นการคิดจากทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (gross international reserves) ซึ่งจริงๆ จะต้องกันส่วนที่ใช้หนุนหลังการออกเงินตราไว้ด้วย
เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติจริง จะไม่ได้เหลือเยอะขนาดนั้น
3.ประการสำคัญ อย่าหลงคิดว่าทุนสำรองฯ จะตายตัว เห็นว่ามีสูง ก็อย่าชะล่าใจ
เพราะทุนสำรองฯ มีลดลงได้อย่างรวดเร็ว หากเมื่อใดประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจ เช่น หากรายได้ส่งออกหรือท่องเที่ยวหายไปเยอะ ไม่มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้า แต่ยังมีหนี้ต่างประเทศต้องจ่าย ทุนสำรองฯ ก็จะลดลง สัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และสัดส่วนทุนสำรองต่อมูลค่าการนำเข้า ก็จะลดลงตามไปด้วย ในระยะเวลาอันสั้นก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติได้กระทบต่อค่าเงินบาทได้ ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่จะต้องแพงขึ้นอีก โดยเฉพาะน้ำมัน และส่งผลให้เงินเฟ้อภายในประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ด้วย
ที่ว่ามานี้ เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ
เกิดเงินเฟ้อแบบหฤโหด ไปซื้อของกินของใช้ ต้องหอบเงินไปเป็นกระสอบ
4.การจะพิจารณาว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมราวๆ 8 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่ามากเกินไปหรือไม่? เอาไปลงทุนเรื่องอื่นๆ
ดีหรือไม่?
ในทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (gross international reserves) 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ประกอบด้วย
สินทรัพย์ต่างประเทศ 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (89%)
ทองคำ 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (8%)
สินทรัพย์ส่งสมทบที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.5%)
และสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Right: SDR) 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4%)
ถือว่า ประเทศไทยมีทองคำในทุนสำรองจำนวนมาก เมื่อใดราคาทองคำสูงขึ้น มูลค่าทองคำในทุนสำรองฯของเราก็สูงขึ้นด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติสะสมทองคำเพิ่มต่อเนื่อง (ศิษย์หลวงตามหาบัวก็บริจาคสมทบเข้ามาด้วย) นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
การพิจารณาจะเอาทุนสำรองฯ ส่วนใดก็ตามบางส่วน ไปลงทุนที่มีผลได้-เสีย หรือไปปล่อยกู้ หรือไปใช้จ่ายใดๆ ก็ตาม ที่มีผลเสี่ยง หรือลดมูลค่าลง ย่อมกระทบต่อเสถียรภาพความเชื่อมั่นในอนาคตได้
จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง
ไม่ควรใจเร็วด่วนได้ หรือคิดโลดโผนในทางเสี่ยง หวังแต่ผลได้ถ่ายเดียว
ประการสำคัญ การนำเงินสำรองฯ ไปลงทุน จะทำให้เงินสำรองฯ ส่วนนั้น หมดสภาพความเป็นเงินสำรองฯ ไปโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาเพื่อใช้นำมาดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศได้
ถ้าให้รัฐบาลนำไปใช้ มันก็มีผลเหมือนการพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้เพิ่มนั่นเอง
จะกระทบต่อความเชื่อมั่น และกระทบต่อเงินเฟ้อทันที
5.การนำเงินทุนสำรอง มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ (Fiscal budget)
ต้องไม่ลืมว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ เงินตราและสินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย ทำหน้าที่ เป็น “กันชน” รองรับความเสี่ยงภายนอก ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เงินสำรอง ต้องมี “เพียงพอ” และ “พร้อมใช้” ทันที หากมีความจำเป็นต้องใช้
ในบริบทของประเทศไทย เห็นว่าไม่ควรนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จ่ายในโครงการของรัฐ
โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเราไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งรายได้จากการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติประเภทน้ำมันเยอะๆ ที่การันตีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เกือบตายตัว เพราะถ้าเมื่อไหร่เกิดความผันผวน รายได้ส่งออกหายไป ท่องเที่ยวหายไป เงินทุนสำรองฯของไทยเสี่ยงมากที่จะลดลงเร็ว จนคิดว่ามีเยอะๆ ก็จะหายไปรวดเร็ว กระทบต่อค่าเงินบาท และเงินเฟ้อภายในรุนแรง
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ไม่ได้มีไว้ให้นักการเมืองถลุง
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี