เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” พร้อมประกาศเดินหน้า 5 นโยบายหลัก “ล้างหนี้ให้ประชาชน-บ้านเพื่อคนไทย-ทุนการศึกษา-รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย-ดิจิทัล วอลเล็ต” พร้อมนำเสนอภาพโครงการต่างๆ ที่จะเป็นเรือธงในการบริหารประเทศในปีหน้า เช่น โครงการขุดลอกคูคลอง การพัฒนาโครงสร้างพลังงาน และการนำธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประเทศ
แม้การแถลงผลงานและนโยบายในครั้งนี้จะพยายามสื่อว่า ภายหลังการทำงานครบ 90 วัน รัฐบาลแพทองธารมีผลงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ทำได้จริง และภาพรวมของการแถลงจะเน้นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาประเทศ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการนำเสนอนโยบายที่จับต้องได้และมีความชัดเจนในแง่ของการปฏิบัติ ตลอดสองชั่วโมงของการแถลงผลการดำเนินงาน จึงเป็นการมอบหมายงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการที่จะร่วมทำงานในฐานะทีมประเทศไทย รวมไปถึงแจ้งความก้าวหน้าแต่เพียงว่ารัฐบาลจะนำไปศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงการอนุญาตให้ประชาชนขุดลอกคูคลองเพื่อนำดินไปใช้หรือขายได้ แทนที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขกฎหมายอย่างไร หรือจะควบคุมอย่างไรเพื่อป้องกันการกระทำผิดกรณีบุกรุกลำน้ำสาธารณะ กลับบอกแต่เพียงว่าจะขอมอบหมายให้ รมว.คมนาคม และ รมว.ดิจิทัล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางแก้ไขกฎหมายเท่านั้น
การแถลงเช่นนี้ฟังดูเหมือนแนวคิดทั่วไปที่ยังไม่ได้ผ่านการวางแผนเชิงลึก และไม่มีแผนรองรับว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หนึ่งในประโยคที่โด่งดังในวงการสตาร์ทอัพคือ “Ideas are cheap, execution is everything” หรือที่แปลได้ว่า“การคิดหรือหาไอเดียออกมาได้นั้นมีราคาถูก แต่การลงมือทำต่างหากคือทุกอย่างที่จะบอกได้ว่าไอเดียนั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่” สะท้อนถึงความสำคัญของการวางแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยังขาดไปในนโยบายของรัฐบาลที่นำเสนอ นโยบายอย่างการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2-3 การจัดการธุรกิจใต้ดิน หรือแม้แต่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ แม้จะมีแนวคิดที่ดูดี แต่ยังขาดรายละเอียดและกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการดำเนินงาน
ที่น่าสังเกตคือ รูปแบบการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทยยังคงเน้น “จากบนลงล่าง” โดยให้นายกฯ แพทองธาร และ “นายกฯ หลังม่าน”เป็นผู้คิดและกำหนดทิศทาง ก่อนส่งต่อให้รัฐมนตรีหลักและหน่วยงานราชการดำเนินการต่อ แทนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดและนำเสนอนโยบายเชิงสร้างสรรค์นี่อาจเป็นคำถามสำคัญว่ารูปแบบการบริหารนี้ยังเหมาะสมในยุคที่ความหลากหลายของความคิดเห็นและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญหรือไม่
5 นโยบายระยะสั้นที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างแน่นอน อาทิ โครงการ SML ดิจิทัลวอลเล็ต หรือหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงทั้งนั้น หากให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีสิทธิ์มีเสียง เสนอวิธีการที่เป็นไปได้ตามบริบทของแต่ละสังคม จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับไปดำเนินการอย่างจริงจัง ช่วยขจัดหรือลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบและกฎหมาย รวมถึงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจเริ่มได้จากการกระจายอำนาจและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะสะท้อนถึงความโปร่งใสและการบริหารที่สอดคล้องกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะในโลกยุคใหม่ ไอเดียที่ดีอาจไม่เพียงพอหากขาดการวางแผนและการลงมือทำอย่างเป็นระบบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี