อดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ประกาศศักดาเหยียบหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในที่ประชุมสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็ยังมีเรื่องให้พูดกันไม่รู้จบ
เพราะ“ทักษิณ ชินวัตร”คงไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ เหมือนกับที่ออกตัวว่า “ผมเป็นคน positive thinking พูดเล่น พูดอะไรไปก็อย่าแปลกใจ” แต่เป็นการพูดที่หวังผลเพื่อป้องปรามพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่ให้แตกแถว และต้องการให้สนองประโยชน์พรรคเพื่อไทยเป็นประการสำคัญ
และแน่นอนว่า พรรคร่วมรัฐบาลที่น่าจะอยู่ในข่ายซึ่ง“ทักษิณ ชินวัตร”กล่าวพาดพิง ก็คงไม่พ้นไปจาก 2 พรรคใหญ่ คือพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในเวลานี้
เนื่องจาก 2 พรรคการเมืองนี้ แสดงให้“ทักษิณ ชินวัตร”เห็นแล้วว่า อะไรที่ไม่ชอบมาพากลจากการกระทำของพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคภูมิใจไทยที่ถือว่าเป็นพรรคใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลลำดับสอง และพรรครวมไทยสร้างชาติลำดับสาม ต่างก็ไม่เออออตามน้ำไปด้วย ชนิดที่ต้องร่วมหัวจมท้ายอย่างที่ทักษิณต้องการ แบบ“เลือดสุพรรณไม่ทิ้งกัน”อะไรทำนองนั้น
เป้าใหญ่ของ“ทักษิณ ชินวัตร”นั้นอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย ก่อนหน้านี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็เคยถูกทักษิณ“แทง”มาแล้วดอกหนึ่ง เรื่องการแก้ไขระเบียบกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายอนุทินพูดไม่เข้าง่ามทักษิณ และทักษิณได้ซัดกลับว่า “พรรคภูมิใจไทยอาจจะพูดเร็วไป ซึ่งยังไม่ได้ถามว่าเป็นมติของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ภูมิใจไทยรีบหล่อเร็วไปนิด ขอให้หล่อช้าๆ หน่อย”
กรณีที่“ทักษิณ ชินวัตร”พูดที่หัวหินนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็น 1 ใน 7 รัฐมนตรี รวมทั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ลาประชุม ครม.ในวันที่มีการพิจารณา“พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศ” และถึงแม้ว่านายอนุทินจะออกตัวจากการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า “ไม่ใช่หมายถึงผมแน่ๆ” เพราะนายอนุทินได้มาในภายหลังก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่ได้ร่วมประชุม ครม.ตั้งแต่ต้น
ตรงประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นพระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ก็ไม่รู้ว่า 2 รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติที่ลาไม่เข้าประชุม ครม.ในวันนั้น คือวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา จะเป็น“นกรู้”หรือไม่ เพราะขืนไปลงมติหากเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาก็สุ่มเสี่ยงที่จะติดคุกเอาได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า“การออกมาพูดเช่นนี้ของนายทักษิณเป็นการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลหรือไม่” นายอนุทินตอบว่าไม่ทราบว่าทักษิณพูดในฐานะอะไร แต่เรื่องนี้ผ่านไปแล้ว ไม่มีอะไรต่อเนื่องออกมา และไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นตัวเอง
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังยืนยันด้วยว่า การทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันที่ผ่านมานั้น ไม่มีอะไรติดขัด พร้อมกับกล่าวว่า “โดยหลักการก็ถูกต้องแล้วที่ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน พรรคไหนเสนออะไร พรรคร่วมรัฐบาลก็สนับสนุนเช่นเดียวกัน ทุกอย่างคือความต้องการทั้งสองฝั่ง”
“แต่”-มีระหว่างบรรทัดของ“อนุทิน ชาญวีรกูล” ซึ่งเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ในโอกาสเดียวกันนี้ว่า “ตราบใดที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ และไม่ผิดกฎหมาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ จะไม่ทำได้อย่างไร เราพูดชัดเจน อะไรที่อยู่ในนโยบายเรารับทราบและต้องสนับสนุน ส่วนอะไรที่ไม่ได้อยู่ในนโยบาย ถ้าจะทำต้องมาพูดคุยกัน เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบาย ก็มาพูดคุยและสนับสนุนกัน โดยอยู่ในกรอบที่ไม่ผิดกฎหมาย อย่าทำร้าย และเป็นผลร้ายกับประเทศและประชาชน ถ้าเป็นตามกรอบนี้เราก็ตกลง ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราก็ No”
ความหมายของคำว่า “อยู่ในกรอบที่ไม่ผิดกฎหมาย อย่าทำร้ายและเป็นผลร้ายกับประเทศและประชาชน” ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล พูดนี่แหละ จึงทำให้“ทักษิณ ชินวัตร”นายกรัฐมนตรีทับซ้อนบุตรสาว ต้องออกมาฟาดงวงฟาดงาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เสมือนเป็นการขู่เตือนล่วงหน้า
เนื่องจากในเวลานี้มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ที่จะต้องผ่านมติของ ครม. ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังจดๆ จ้องๆ ไม่กล้านำเข้าสู่วาระการประชุม เพราะกลัวว่าพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติจะกระโดดขวางไม่เอาด้วย
นั่นก็คือ การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยโดยกระทรวงการคลังยังไม่เสนอ เพราะอาจจะ“อยู่ในกรอบที่ผิดกฎหมาย”เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ และอาจจะเป็น“ผลร้ายกับประเทศและประชาชน” กรณีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงแบงก์ชาติ จากการเข้าไปเป็นประธานบอร์แบงก์ชาติของนายกิตติรัตน์ ดังเงื่อนไขที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูดตั้งธงเอาไว้
อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการตั้งคณะกรรมการ“JTC” ที่คาบเกี่ยวกับเรื่อง “MOU 44” ซึ่งมีเสียงต่อต้านดังกระหึ่มอยู่ในเวลานี้ ว่าเป็น“MOUขายชาติ”และมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยที่“สนธิ ลิ้มทองกุล”อดีตแกนนำพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ไปยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา-ให้รัฐบาลหยุดหยุดดำเนินการตาม“MOU 44” มีกำหนดภายใน 30 วัน และจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลภายใน 15 วัน
สองเรื่องที่กล่าวนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่“ทักษิณ ชินวัตร”ไม่ได้รับการสนองตอบ และยังยาวไปถึงในวันหน้าอีก ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความเห็นแย้งกับพรรคเพื่อไทย ทั้งเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ, เรื่องกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ, เรื่องจะพา“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”กลับบ้านโดยไม่ต้องติดคุก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตแข็งแรงของพรรคภูมิใจไทย ที่นับวันยิ่งโตวันโตคืน อันจะเป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่จะเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเวลานี้ไม่เพียงแต่สนามใหญ่ในภาคอีสานเท่านั้น สนามท้องถิ่นอย่างการเลือกนายก อบจ. พรรคภูมิใจไทยก็เบียดแทรกเข้ามาเรื่อยๆ ชนิดที่หายใจรดต้นคอพรรคเพื่อไทยอย่างน่าหวาดเสียว
น่าจับตาสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2568 ทั้งการ“ลงถนน”เรื่อง“MOU 44”ถ้ารัฐบาลยังดึงดัน และศึกภายในของรัฐบาลเองที่อาจจะถึงขั้น“แตกหัก” ต้องมีการปรับขั้วเปลี่ยนข้าง
อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็มีพรรคประชาชน 143 เสียงที่“ค้านไปรอเสียบไป” พร้อมจะผสมพันธุ์อยู่แล้ว หาก“เขี่ยทิ้ง”พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ!
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี