อาเซียน เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความมั่นคงทางการเมือง การเจริญเติบโตทางการค้าและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางสังคมของประเทศสมาชิก
สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กัมพูชา บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม หมุนเวียนเป็นประธานอาเซียนชาติละหนึ่งปี และในห้วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมาไม่พบว่า ทักษิณ ชินวัตร เคยมีบทบาทสำคัญใดๆ ในอาเซียน จึงแปลกใจ และประหลาดใจที่ อันวาร์ อิบราฮิมนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแต่งตั้ง ทักษิณเป็นหนึ่ง ในคณะที่ปรึกษาประธานอาเซียนปี 2025
นายอันวาร์ แถลงว่า “ขอบคุณที่นายทักษิณตกลงรับตำแหน่งนี้ เพราะผมต้องการประสบการณ์อันมีค่าในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล”
คำแถลงของนายอันวาร์จึงเหมือนเป็นการเยาะเย้ยหยามหยัน ประเทศไทย เพราะในห้วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา นายทักษิณไม่เคยมีบทบาทสร้างสรรค์ใดๆ ให้อาเซียน ในทางกลับกันนายทักษิณมีส่วนสำคัญในการทำลายอาเซียน ที่สนับสนุนผลักดันให้คนเสื้อแดงบุกถล่มทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาในปี 2552
ดังที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พร้อมแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง รวม 9 คนเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีความผิด จากการนำมวลชนบุกที่ประชุมอาเซียน โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในปี 2552 เป็นเหตุให้ การประชุมต้องถูกเลื่อนออกไป โดยศาลได้ออกหมายจับ นายอริสมันต์และจำเลยบางราย ที่ไม่มาฟังคำพิพากษาแล้ว คดีนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่านายทักษิณได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยและอาเซียนโดยรวม
จากประสบการณ์ทำข่าวการประชุมอาเซียน พบว่าในห้วงเวลาที่ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2547 สปป.ลาว เป็นประธานหมุนเวียนอาเซียน ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ในเวียงจันทน์ ในขณะที่ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้กำลังร้อนแรง มีระเบิด วางเพลิงเผาโรงเรียน เผาสถานที่ราชการ ปล้นค่ายทหารยิงคนตายรายวัน
ทักษิณกลัวว่าประเด็นความรุนแรงชายแดนใต้ จะถูกยกขึ้นมาถกกันในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ก่อนออกเดินทางไปเวียงจันทน์ เขาพูดว่า “หากมีใครยกเรื่องความรุนแรงปัญหาชายแดนใต้ขึ้นมาพูดในที่ประชุมอาเซียน ผมจะเดินออกจากที่ประชุมทันที” คำขู่ของทักษิณ ทำให้ประเด็นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ไม่มีใครพูดถึงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปี 2547
หลังจากไปร่วมประชุมอาเซียนในเวียงจันทน์ ทักษิณวุ่นอยู่กับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่อุบัติขึ้นใหม่ในสมัยเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย สมาชิกอาเซียนด้วยกันไม่พอใจที่ไทยใช้ความรุนแรงกับมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งทางการไทยสงสัยว่าแกนนำผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ส่วนใหญ่มีที่พักพิงในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ปี 2548 ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ ลุกมาน บินลิม่า รักษาการประธานพูโล ในกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย รักษาการประธานพูโลในเวลานั้นกล่าวกับผู้เขียนในนามสำนักข่าวเอพีว่า “ขอบคุณทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยที่ทำให้ขบวนการกู้ชาติปัตตานีได้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่..ฯ” ลุกมาน ระบุว่า ขบวนการ พูโล บีอาร์เอ็นและกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในภาคใต้ เงียบหายไปนานหลายปี ได้ฟื้นชีพขึ้นมา หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่กลุ่มวาดะห์ในมัสยิดกรือเซะ และเหตุสลดใจตากใบที่คนมุสลิมตายในรถบรรทุกทหาร 85 คน “การยิงถล่มในกรือเซะและเหตุการณ์ตากใบ ทำให้พูโล และบีอาร์เอ็นมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน” ลุกมานกล่าว
ยกเรื่องนี้มาเพื่อยืนยันว่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนมีปัญหากับประเทศไทยในประเด็นความรุนแรงครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นอินโดนีเซียและมาเลเซียมีข้อขัดแย้งรุนแรงกับเมียนมาในประเด็นปราบปรามโรฮีนจา จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
ปี 2564 บรูไนเป็นประธานอาเซียน แต่อินโดนีเซีย มีบทบาทสำคัญขัดขวางไม่ให้ นายวีระศักด์ิฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศไทย เป็นทูตพิเศษอาเซียน ตามที่เมียนมาต้องการ นอกจากนั้นอินโดนีเซียยังขัดขวางไม่ให้ พลเอกมิน อ่อง หล่ายเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในอาเซียน ตลอดเวลาหนึ่งปีที่บรูไน เป็นประธานจึงไม่มีผู้แทนอาเซียนคนใดได้เดินทางไปเยือนเมียนมา
ปี 2565 กัมพูชา เป็นประธานอาเซียน รัฐบาลทหารเมียนมามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น เมื่อ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน เดินทางไปเยือนเมียนมา และพบปะเจรจากับพลเอกมิน อ่อง หล่าย
ปี 2566 อินโดนีเซีย เป็นประธานอาเซียน การแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองในเมียนมาไม่คืบหน้าเนื่องจากอินโดนีเซียคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาตามนโยบายของอเมริกา ในเวลาเดียวกันรัฐบาลไทยนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้นโยบายทางการทูตแบบเงียบ (Quiet Diplomacy)จัดให้มีการพบปะเจรจาเรื่องเมียนมาไม่เป็นทางการในประเทศไทย และมอบหมายให้ นายดอนปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางไปพบพลเอกมิน อ่อง หล่าย และได้พบปะเจรจากับนางออง ซาน ซู จี
นายดอน เป็นรัฐมนตรีคนเดียว ที่ได้พบปะหารือกับ ออง ซาน ซู จี ตั้งแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การพบปะครั้งประวัติศาสตร์สำคัญ เป็นเหตุให้สหประชาชาติและอาเซียนมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นคนกลางในการเจรจากับทุกฝ่าย ที่มีส่วนได้เสียในเมียนมา ถือเป็นความคืบหน้าก้าวสำคัญของการแก้วิกฤตปัญหาการเมืองในเมียนมา พูดได้ว่า รัฐบาลไทยสมัยลุงตู่ได้สร้างความคืบหน้าแก้ปัญหาเมียนมาอย่างมีนัย และความพยายามของไทยก็เดินหน้าต่อไปจนกระทั่งประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
ปี 2567 สปป.ลาว เป็นประธานอาเซียนพร้อมๆ กับที่ประเทศไทย มีรัฐบาลใหม่ไม่ปรากฏว่าประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการแก้ปัญหาเมียนมา นอกจากมีรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้พบปะกับผู้แทน NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาเมียนมาของออง ซาน ซู จี และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา โดยทักษิณเสนอเงื่อนไขต่างๆ ให้กลุ่มต่อต้านมอบหมายให้เขาเป็นคนกลางในการเจรจากับทุกกลุ่มทุกฝ่ายเพื่อแสวงหาข้อยุติ ไม่มีรายละเอียดว่าข้อเสนอของทักษิณมีอะไรบ้าง แต่การเสนอตัวของทักษิณถูกโฆษกรัฐบาลเมียนมา ซอ มิน ตุน ตอกหน้าว่า “เป็นการแทรกแซงกิจการภายในเพื่อนบ้านอย่างไร้มารยาท”
ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ สปป.ลาว เป็นประธานอาเซียน ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลไทยมีบทบาทใดๆ ในการแก้ปัญหาเมียนมา นอกจากนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ทวิภาคีกับ พลเอกมินอ่อง หล่าย ระหว่างไปประชุมความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-อิระวดี ในเมืองยูนนาน ประเทศจีน ที่นายกฯแพทองธารกล่าวว่า ประเทศไทยสนับสนุนให้มีการพูดจาเพื่อแสวงหาสันติภาพเมียนมา เธอกล่าวด้วยว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย แสดงความกังวลเรื่องแรงงานเมียนมาในประเทศไทยมีมากกว่าที่ลงทะเบียนไว้หลายล้านคน ทางเมียนมาขอให้เราตรวจสอบว่า คนเมียนมาที่ไม่ได้ลงทะเบียนมีเท่าไหร่อยู่ที่ไหนบ้าง
ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม มีรายงานจากเกาะสอง หรือ วิคตอเรีย พอยท์ ว่า ศาลเมียนมาตัดสินจำคุกลูกเรือไทยสี่คน 4-6 ปี ฐานละเมิดน่านน้ำ และทำประมงในน่านน้ำเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นที่น่าสังเกตว่าศาลเมียนมาสั่งจำคุกลูกเรือไทยในวันเดียวกันกับ ที่นายอันวาร์ แสดงความดีใจ ที่นายทักษิณรับเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน
อาเซียนซึ่งแรกเริ่มก็ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสนับสนุนทุนนิยมประชาธิปไตย กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และจีนตั้งแต่ต้น ต้องยอมรับความจริงว่า ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ปักกิ่ง กับ วอชิงตันมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอาเซียน
ในห้วงเวลาสี่สิบปีมานี้ ประเด็นหลักของความขัดแย้งในอาเซียนอยู่ที่ปัญหาทะเลจีนใต้ สงครามกลางเมืองในกัมพูชา และวิกฤตการเมืองในเมียนมา สามประเด็นสำคัญนี้ ครอบงำการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตลอดมา เนื่องจากว่า มันเป็นประเด็นความขัดแย้งของจีนกับสหรัฐ ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง การเมือง และการค้า
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกาเป็นเหตุให้อาเซียนมีความแตกต่างกันชัดเจนในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ยืนอยู่ข้างวอชิงตัน ในขณะที่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และร่วมอนาคตกับปักกิ่ง ส่วนประเทศไทยเข้ากันได้กับทั้งสองฝ่าย
ประเด็นวิกฤตการเมืองเมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เอนไปทางวอชิงตัน ส่วน ลาว เมียนมา กัมพูชา ประเทศไทยเอนเอียงไปทางจีน เป็นที่น่าสังเกตว่ามาเลเซียไม่เคยแสดงท่าที่ชัดเจนออกว่า อยู่ข้างปักกิ่งหรือวอชิงตัน
จึงอนุมานได้ว่า นายอันวาร์ตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน มีเป้าเพื่อทำลายประเพณีพิธีทางการทูตเงียบของไทย และดำรงไว้ซึ่งความแตกต่างในการแก้ปัญหาของอาเซียน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี