๑.
บรรทัดฐานในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จากจารึกของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ ประกาศเมื่อจุลศักราช ๑๑๖๖ อันตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ “พระธรรมศาสตร์” อันเป็นโบราณราชนิติของกฎหมายนั้น เป็นหลักของกฎหมายอันมีชั้นสูงสุดเปรียบเสมือนพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นธรรมชั้นสูงในพระไตรปิฎกนั้นเอง
พระธรรมศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวงดังกล่าวนั้น ได้กำหนดบทกฎหมายที่จะนำมาใช้ปกครองบ้าน ปกครองเมืองนั้น จะต้องถูกกำหนดขึ้น โดย ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ได้แก่องค์พระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในบาญแผนกกฎหมายตราสามดวง ความว่า
“แลฝ่ายข้างอาณาจักรนี้กระษัตริย์ ผู้จะดำรงแผ่นดินนั้นอาไศรยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระไอยการอันกระษัตริย์แต่ก่อนบัญญัติไว้ได้เป็นบันทัตถาน จึงพิพากษาตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกำหนดบทพระไอยการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตซ้ำต่างกันไปเป็นอันมากด้วยคนอันโลภหลงหาความละอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิพากษาพาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นไปก็มีบ้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อม...ชำระพระราชกำหนดบทพระไอยการ......ครั้นชำระแล้ว ให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกฉบับไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่งไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ ณ ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ ไว้ บัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ ถ้าพระเกษมไกรสี เชิญพระสมุด พระราชกำหนดบกพระไอยการออกมาพิพากษาถึงคดีใดๆ สู่ขุนทั้งปวงใช่เห็นปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว สามดวงนี้”
นี่คือบรรทัดฐานอันเป็นรูปแบบของกฎหมายตามพระธรรมศาสตร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัยเยี่ยงนานาประเทศนั้น ศาลยุติธรรมก็ได้วินิจฉัยคดีตามหลักนิติศาสตร์ของอารยประเทศ คือพระบรมราชโองการใดๆ ของมหากษัตริย์จะเป็นคำสั่ง คำบังคับปวงชนได้นั้นก็ต้องตราเป็น “บทกฎหมาย” คือ พระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด ประกาศพระบรมราชโองการ ถ้าพระราชดำรัสหรือพระหัตถเลขา ซึ่งเป็นเพียงความเห็นของพระองค์นั้นขัดแย้งกับบทกฎหมายที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นก็ดี หรือที่พระมหากษัตริย์ปางก่อนทรงบัญญัติขึ้นก็ดีซึ่งยังมิได้ยกเลิกนั้น ก็ต้องเชื่อถือตามบทกฎหมายใหญ่ๆ มิใช่พระมหากษัตริย์ตรัสคำใดก็แก้บทความหมายได้
๒.
บรรทัดฐานในระบอบประชาธิปไตย
แม้ภายหลังประเทศไทยจะได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วก็ตาม แต่รูปแบบของบทกฎหมายไทย ก็หาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมของโบราณราชนิติแต่อย่างใดไม่ เพราะประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจทางรัฐสภาคณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติที่ถือเป็นกฎหมายอันมีความสำคัญมาจากรัฐธรรมนูญนั้นจะตราขึ้น ก็แต่โดยคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้ผ่านขบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา หรือในกรณีที่เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารอันได้แก่ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและบทกฎหมายพระราชหัตถเลขาหรือพระบรมราชโองการใด อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น จะต้องมีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
จะเห็นได้ว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ดีในสมัยระบอบประชาธิปไตยก็ดี บทกฎหมายทุกรูปแบบนั้นจะต้องตราขึ้นโดยการลงปรมาภิไธย
๓.
กำเนิดของคำสั่งคณะปฏิวัติ
ขบวนการนิติบัญญัติของไทยที่สืบตกทอดมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี และขบวนการนิติบัญญัติตามตามระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมานั้นจะต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าโบราณราชนิตินั้น ได้ถูกลบล้างไปในยุคของเผด็จการที่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เผด็จการนั้นไม่เพียงแต่ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่าง อันนำชาติไปสู่การถอยหลังกลับเท่านั้น แม้แต่ในขบวนการนิติบัญญัติ อันได้แก่ บทกฎหมายต่างๆ เผด็จการโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่อันนับว่าเป็นรอยด่างอันเศร้าหมองของกฎหมายและขบวนการนิติบัญญัติของไทย สิ่งนี้ได้แก่
ประกาศของหัวหน้าคณะปฏิวัติและคณะปฏิรูป ซึ่งมีผลเป็นกฎหมาย กำเนิดคำสั่งคณะปฏิวัติและคณะปฏิวัติอันเป็นรากเหง้าต่อมาของคำสั่งคณะปฏิรูปได้เริ่มอุบัติขึ้น เมื่อ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวกบริวารได้ร่วมกันจัดตั้งคณะปฏิวัติโดยทำการล้มระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แล้วสถาปนาระบอบการปกครองเผด็จการใช้วิธีการปกครองโดย “คำสั่งของคณะปฏิวัติ” ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายสูงสุด อันทำให้คนไทยอกสั่นขวัญหาย เพราะคณะปฏิวัติมีอำนาจจับคนไปประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลสถิตยุติธรรม
ประกาศของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ปฏิรูปนั้น ต้องยอมรับว่ามีสภาพเป็นกฎหมายและยังมีผลใช้บังคับอยู่ เพราะการรับรองผลของการปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้นเมื่อได้กระทำสำเร็จย่อมเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงในรัฐ แม้ในตอนกระทำตอนแรกก่อนที่จะได้รับความสำเร็จจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อได้กระทำสำเร็จมีอำนาจที่แท้จริงโดยสมบูรณ์แล้ว และคณะนั้นสามารถยืนหยัดอันแท้จริงนั้นได้ ก็อยู่ในฐานะที่จะให้รัฐธรรมนูญยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมหรือจะตราบทบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่ ตามความต้องการของหัวหน้าคณะปฏิวัติอย่างไรก็ได้
คำสั่งของคณะปฏิวัตินั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕/๒๔๙๑ และ ๑๖๖๒/๒๕๐๕ ก็ได้พิพากษารับรองผลในทางกฎหมายของประกาศของคณะรัฐประหารไว้ว่า
“คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จย่อมมีอำนาจออกและยกเลิกแก้ไขกฎหมายได้”
“ประกาศของคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายแม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม”
แม้ว่าคำสั่งของคณะปฏิวัติ ปฏิรูป จะมีผลเป็นกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่สาธุชนที่รักชาติและประชาธิปไตย คงจะเห็นได้ว่า คำสั่งของคณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูปนั้นเผด็จการได้นำเอาคำว่า “ปฏิวัติ” ไปใช้เรียกการกระทำของตน สมดังความหมายตามมูลศัพท์ว่า “การเปลี่ยนหลักมูลกลับ” หรือ การถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการนำชาติถอยหลัง ฉะนั้น สาธุชนผู้รักชาติและประชาธิปไตย ซึ่งมีความต้องการที่จะพัฒนาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้า สู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จึงไม่ควรปล่อยให้คำว่า “ปฏิวัติ” หรือ “ปฏิรูป” ซึ่งมีความหมายเฉพาะการกระทำของเผด็จการกับพวก คงไว้สำหรับเรียกชื่อบทกฎหมายของไทย.....
ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี