ตั้งแต่ยามชายฝั่งพม่ายิงเรือประมงไทย เมื่อกลางดึกวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ความจริงว่าอะไรเป็นเหตุจูงใจให้กองทัพพม่ารุนแรงกับประมงไทย ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย และจับกุมคุมขังลูกเรือประมงไทยไว้โดยไม่รู้ว่าต้องถูกดำเนินคดีร้ายแรงหรือไม่ และจะได้รับอิสรภาพเมื่อไหร่
ครอบครัวลูกเรือประมงไทยได้ยินเพียงข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ว่า พม่าจะปล่อยตัววันนี้วันนั้น แต่ไม่รู้รายละเอียดว่า พม่าจะดำเนินคดีร้ายแรงกับลูกเรือไทยหรือไม่
และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลโดย นายกฯ บอกว่ามีข่าวดี ได้พูดคุยกับพล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมารวมถึงได้พูดคุยกับทูตไทย ที่เมียนมาแล้ว แต่ติดเรื่องขั้นตอนกฎหมายในการส่งตัวออกมา โดย คาดว่าประมาณหลังปีใหม่เล็กน้อย ทุกอย่างจะเรียบร้อย
คำแถลงของนายกฯบอกได้เพียงว่า ติดเรื่องขั้นตอนกฎหมายในการส่งตัวออกมา โดยคาดว่าประมาณหลังปีใหม่เล็กน้อยทุกอย่างจะเรียบร้อย การพูดเช่นนี้แสดงว่านายกฯไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรและที่อ้างว่าได้พูดกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเมียนมาแสดงว่านายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจพิธีการทูต และกฎระเบียบวิธีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน
ธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตลอดเวลาหลายสิบปีเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับความความมั่นคงตลอดถึงปัญหารุกล้ำละเมิดชายแดนกับเพื่อนบ้าน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีทหารทุกเหล่าทัพและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นสมาชิก สมช.ร่วมกันปรึกษาเตรียมการล่วงหน้ารวมทั้งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าเช่นปัญหารุกล้ำเขตแดนหรือมีการปะทะกันตามแนวชายแดน ทหารซึ่งเป็น สมาชิก สมช.จะเปิดปฏิบัติการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรายงานให้ สมช.และรัฐบาลทราบ แต่เชื่อว่าปัจจุบันทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ส่วนหน้าตามแนวชายแดน และทหารที่มีหน้าที่ประสานงานเฉพาะหน้า ไม่มั่นใจว่าจะรายงานเหตุการณ์ให้รัฐบาลรับทราบหรือไม่ เนื่องจากมีกรณีศึกษา เช่น กรณีที่ทหารไทยปะทะกับทหารว้าแดง ปี 2545
ปี 2545 มีรายงานว่าทหารไทยปะทะกับทหารว้าแดงซึ่งต่อเนื่องติดพันจากปราบปรามยาเสพติดที่ทั้งสองฝ่ายไม่แน่ใจว่าการปะทะกับว้าแดงได้รุกล้ำเข้าในเขตแดนของฝ่ายไหน แต่การปะทะกับว้าแดงครั้งนั้นสร้างความเดือดดาลให้นายกรัฐมนตรีไทยถึงขนาดสำรอกออกมาว่า ผู้บัญชาการทหารไทย “Overreact” และต่อมาผู้บัญชาทหารท่านนั้นก็ถูกย้าย
วันนี้คนที่ตำหนิว่า ผู้บัญชาการทหารไทย Over react และสั่งย้ายผู้บัญชาการที่ปฏิบัติทหารกับว้าแดง ได้กลับมายิ่งใหญ่เหนือรัฐบาลเพื่อไทย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่ได้รับความร่วมมือจากทหารหน้างานเท่าที่ควรจะเป็น โดยประเพณีทหารถือว่ารัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ทหารไม่มั่นใจว่า รายงานหรือเสนอแนะไปแล้ว จะถูกใจผู้ยิ่งใหญ่เหนือรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่ ที่สำคัญรายงานเรื่องละเอียดอ่อนเข้าไป นายกฯจะเข้าใจหรือไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทิศไหนของประเทศไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนพม่า ไม่ว่าจะเป็นข้อครหาเรื่องว้าแดงทางบก และเรื่องยิงเรือประมงไทยในทะเลอันดามัน ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีวันที่หน่วยงานอยู่หน้างานเกี่ยวข้อง จะรายงานเหตุการณ์จริงให้รัฐบาลเข้าใจและเสนอแนะแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์อย่างไร เพราะรายงานไปอาจได้ผลลัพธ์เหมือนกับปี 2545
ส่วนสื่อมวลชนที่มีแหล่งข่าวเป็นทหารอยู่หน้างาน ก็จะได้รับรู้ข่าวสารหรือคำบอกเล่าที่พูดต่อกันมาดังที่ แหล่งข่าวในจังหวัดระนอง อยู่ตรงข้ามเมืองเกาะสอง พม่าบอกแนวหน้า “เขาพูดกันว่าพบปืน ระเบิดและอาร์พีจีในเรือที่ถูกยิง..”ซึ่งฝ่ายพม่าเชื่อว่า เป็นของฝ่ายต่อต้าน ด้านเจ้าของเรือประมงผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า “ปืน ระเบิดมีไว้ป้องกันตัว มีในเรือประมงทุกลำ เรือบางลำใช้ระเบิดปลา ลูกเรือประมง คงไม่ร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านพม่า พวกเราทำมาหากิน”
นั้นเป็นคำบอกเล่าของคนไทยที่ได้ยินเขาพูดกันในเกาะสอง ที่พม่ากักขังลูกเรือไทยไว้ระหว่างการสอบสวน ด้านแหล่งข่าวกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอนที่มอนิเตอร์ข่าวจากพม่าอย่างใกล้ชิดบอกแนวหน้าว่า กรณียิงเรือประมงและจับกุมลูกเรือประมงไทยนั้น โฆษกรัฐบาลทหารพม่า ซอ มินตุน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า“พบอุปกรณ์จำนวนมากที่ไม่ใช้กับเรือประมงหรือไม่ใช่อุปกรณ์จับปลา สงสัยว่าอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นของฝ่ายต่อต้าน..” แหล่งข่าวกล่าว และเสริมว่า ทหารไทยและผู้ประสานงานชายแดนรู้แล้วว่าอุปกรณ์ที่ ซอ มินตุนกล่าวถึงเป็นอะไร
แหล่งข่าวในอำเภอแม่สอด ตรงข้ามเมืองเมียวดีของพม่ากล่าวว่า “คนในเมียวดีพูดกันว่า เวลานี้พม่าตั้งข้อหาคนไทย 1.เข้าเมืองผิดกฎหมาย 2.ทำประมงในน่านน้ำเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนเรื่องอุปกรณ์นอกเหนือใช้ทำการประมง เป็นหน้าที่ของหน่วยงานมั่นคงของพม่าจะสอบสวนภายหลัง
กล่าวโดยสรุป คือ ลูกเรือประมงไทย คงไม่ได้รับการปล่อยตัวในเร็ววัน ดังที่นายกรัฐมนตรีไทยคาดหมายว่าหลังปีใหม่จะเรียบร้อยเนื่องจากว่าคนไทยทั้งสี่คน ตกเป็นผู้ต้องหา ที่ต้องรอศาลพิจารณาซึ่งในพม่าต้องใช้เวลานานส่วนลูกเรือ 27 คน ที่เป็นชาวพม่าต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาหนักกว่าและโอกาสที่ได้กลับมาทำมาหากินในประเทศไทย แทบไม่มี
จากประสบการณ์ทำข่าวกับ กลุ่มขบถ กลุ่มกองโจร กลุ่มต่อต้านรัฐบาล ตลอดถึงขบวนการค้ายาเสพติด ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยผู้เขียนเคยถูกทหารต่างชาติจับตัวหลายครั้ง ทั้งในกัมพูชา ลาว และประเทศเมียนมา การถูกจับในประเทศเพื่อนบ้านทำให้รู้ว่า ประเทศไทยมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยประสานงานที่ว่า ช่วยเจรจาให้เราได้รับการปล่อยตัวในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง
ครั้งสุดท้ายเราถูกทหารเขมรจับในจังหวัดพระวิหารประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ทหารเขมรกล่าวหาเรา เป็นสายลับให้รัฐบาลไทย โชคดีที่ทูตอินโดนีเซียประจำกรุงพนมเปญ ช่วยเจรจาให้ปล่อยตัวเป็นอิสระภายในยี่สิบชั่วโมง (ทูตอินโดนีเซียช่วย เพราะวันนั้นมีผู้ประกาศหญิงกับช่างภาพทีวีชายชาวอินโดนีเซียเข้าไปทำข่าวทีมงานเดียวกับเรา)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในขณะนั้น ต่างกับสถานการณ์ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์และการประสานงานกับรัฐบาลทหารพม่า ที่เย็นชากันลงไป เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายชัดเจน
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้มีโอกาสทวิภาคีกับพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเมื่อครั้งไปประชุมความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-อิรวดี ที่เมืองยูนนานประเทศจีน นายกฯแพทองธารแถลงว่า ทางฝ่ายพม่าแสดงความกังวลว่า แรงงานพม่าในประเทศไทยมีมากกว่าสี่ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ ทางพม่าขอให้ไทยตรวจสอบว่าแรงงานพม่าที่มีจริงจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าง นายกฯแพทองธารสนองตอบ แต่เพียงว่าได้มอบให้กระทรวงต่างประเทศแล้ว
นายกฯแพทองธารไม่ได้ใส่ใจว่าทางการพม่ามีความกังวลเรื่องคนพม่าที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวระดมคน ระดมเงินซื้ออาวุธในประเทศไทย รัฐบาลไทยไม่เคยรับรู้ว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าโดยเฉพาะกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือ PDF กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาพม่าฝ่ายนางออง ซาน ซู จี เคลื่อนไหวอย่างเสรีตามเมืองชายแดนประเทศไทย
ดังนั้นเมื่อเรือตรวจการพม่าตามล่าเรือประมงไทย และยิงใส่เมื่อไม่ยอมหยุดให้ตรวจตามคำสั่ง และต่อมาทหารพม่า ได้พบอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับการหาปลา ซึ่งเป็นเหตุให้สงสัยว่า เรือประมงไทยถูกใช้โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า
ทั้งประเด็นข้อครหา ว้ารุกล้ำเขตแดนไทย และพม่ายิงเรือประมงไทย หน่วยงานมั่นคง ในพื้นที่ หรือ ผู้ที่อยู่หน้างานรู้ดีว่า อะไรเป็นอะไร และต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน แต่ที่ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าพูดความจริงกับรัฐบาล เพราะทุกฝ่ายกลัวผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐบาลเพื่อไทย ตำหนิว่า Over Reaction และอาจถูกย้ายเหมือน อดีตผู้บัญชาการทหาร เมื่อปี 2545
สรุปว่า ในเมื่อคนไทยเลือกพรรคที่มีผู้ยิ่งใหญ่ เหนือพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล แสดงว่า ท่านทั้งหลายพร้อมใจให้ประเทศไทย เรือหายต่อไป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี