“ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ ที่เรามองว่าพร้อมกว่าจังหวัดอื่น เราก็พบว่าภายใต้ความพร้อม มีระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย มีความเหลื่อมล้ำกับผู้บริโภคและประชาชน การที่เราจะยอมจอดรถไว้ที่บ้านแล้วออกไป เราต้องเสียค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ รถไฟฟ้า เพราะรถไฟฟ้าไม่ได้จอดอยู่หน้าบ้านทุกคน ดังนั้นเขาลงจากรถไฟฟ้าก็ต้องเจอค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง”
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวในวงเสวนา “นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตลาดนัดนโยบาย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ.2567 เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2567ที่ผ่านมา โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้คนยอมไม่ใช้พาหนะส่วนบุคคล แต่เปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะ เพราะแม้กระทั่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็ยังไม่สะดวก มีข้อจำกัดเรื่องราคาและการเข้าถึง
และสถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม หากออกจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นๆ เพราะหลายจังหวัดไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ หรือบางจังหวัดแม้จะมีแต่ก็น้อยมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการขาดการสนับสนุนจากรัฐ โดยรัฐไทยทำเพียงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งสาธารณะให้เท่านั้น ที่เหลือเป็นเรื่องของผู้ประกอบการต้องไปหาทางดิ้นรนกันเอง อนึ่ง เด็กถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพแบบนี้ เพราะผู้ใหญ่ยังสามารถถอยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์มาใช้เองได้ ในขณะที่เด็กต้องพึ่งพาธุรกิจรถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่
“เชื่อไหมครับว่า ณ ปัจจุบัน ตัวเลขที่ปรากฏตามกรมการขนส่งทางบก เท่าที่ผมดูประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมามีไม่ถึง 4-5 พันคันที่ขึ้นทะเบียน แต่เราเชื่อว่ามีรถที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 4-5 หมื่นคัน บางจังหวัดมีรถเป็นพันคันขึ้นทะเบียนในจังหวัดไม่ถึงร้อยคัน จากาการทำงานมา 7-8 ปีเราพบตัวเลขแบบนี้ แล้วเราก็อาจรู้สึกว่าก็เป็นปัญหากลไกของรัฐเอง เขาอาจจะเข้มงวดมากจนเกินไป บริบทรถรับ-ส่งนักเรียนในแต่ละพื้นที่ อาจจะไม่สอดคล้องกับตัวกฎหมายของรัฐ”คงศักดิ์ ระบุ
ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ยังกล่าวอีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยทำการศึกษาและเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกลายเป็นรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 แต่หลังจากนั้นผ่านมาปีเศษรถรับ-ส่งนักเรียนก็ยังมีปัญหาอุบัติเหตุ ทั้งจากที่เสียหลักเองและที่ถูกยานพาหนะอื่นๆ เฉี่ยวชน ยังคงมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเด็กอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการทำงาน 7 ปี สภาองค์กรของผู้บริโภค สังเคราะห์ออกมาเป็น “องค์ประกอบ 9 ด้าน 2 กลไก และ 7 ระบบการจัดการ” ที่โรงเรียนสามารถทำได้ในการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน โดย 2 กลไกการจัดการ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานระดับจังหวัด กับ 2.การจัดการของโรงเรียน ส่วน 7 ระบบการจัดการ ประกอบด้วย 1.ระบบข้อมูล 2.การดูแลนักเรียนภายในรถ
3.การรับรองรถ 4.การเฝ้าระวังรวมกลุ่ม 5.พัฒนาจุดจอดปลอดภัย 6.ประกันรถ และ 7.การติดตามประเมิน ซึ่งแม้จะมีนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่ปี 2562 แต่แนวปฏิบัตินั้นโรงเรียนจำนวนมากยังไม่ทราบ ดังนั้นองค์ความรู้นี้อาจถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้โรงเรียนมีความรู้ และสภาองค์กรของผู้บริโภคก็พร้อมทำงานกับสภาเด็กและเยาวชน
ขณะที่ สุธี ชุดชา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ประเด็นอุบัติเหตุบนท้องถนนกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ว่า คนรุ่นใหม่จะเชื่อหากเป็นข้อมูลที่มีสถิติยืนยัน เป็นข้อเท็จจริงที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล อย่างไรก็ตาม เวทีที่เปิดให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น มองว่ายังมีค่อนข้างน้อย เช่น คณะกรรมการหรืออนุกรรมการชุดหนึ่ง จะมีเด็กเป็นตัวแทนเพียง 1-2 คน ในขณะที่มีผู้ใหญ่ราว 20 คน ทำให้เด็กอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
“เด็กบางทีเขาก็อยากจะมีพื้นที่การสื่อสารพูดคุย แต่พอไปสื่อสารในรูปแบบที่อาจจะเป็นการอคติ แล้วจะโดนผู้ใหญ่แอนตี้หรือเปล่า แต่จริงๆ เด็กเขาก็อยากเห็นภาพฝัน เห็นในเรื่องความปลอดภัย เห็นในเรื่องของสังคมว่าอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา แล้วก็เป็นเมืองที่น่าอยู่ เพราะถ้าเกิดเขาเกิดมาแล้วเจอปัญหา หรือต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เขาก็ไม่อยากจะอยู่ในสังคมนั้น ก็จะไปพ่วงกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสังคมที่พ่วงกันไป” สุธี กล่าว
ด้าน วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางความปลอดภัยป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เรื่องที่ใหญ่คือประเทศไทยไม่สามารถตอบองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ว่าเหตุใดจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก ในบางช่วงเคยขึ้นไปถึงอันดับ 1-2 ของโลก ยอดแตะ 3 หมื่นคน ขณะที่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1.8-2 หมื่นคน หรือเทียบได้กับร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศ ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นนี้หลายหน่วย และแต่ละหน่วยก็มุ่งแต่ทำงานตามภารกิจหน้าที่ของตน ทำให้ตนไปขอกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล สช. ให้ออกคำสั่งมาฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือเวียนส่งถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือกับ คศป. ในการเชื่อมต่อข้อมูล เช่น สถานะของป้ายทะเบียนรถว่ามีการต่อภาษีประจำปีหรือไม่อนึ่ง ภายในเดือน ม.ค. 2568 คศป. จะมีรายงานผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาล
“ถ้าเกิดเขามีชีวิตอยู่แล้วสามารถใช้แรงงานได้ 5 แสนล้านจากการดูแลเรื่องบาดเจ็บอุบัติเหตุต่างๆ ประมาณ 5 แสนล้านบาท กับคนที่ป่วยนอนเจ็บจากอุบัติเหตุ นอนอยู่ในโรงพยาบาล 1.2 ล้านคน ผมว่าคนเหล่านี้สมควรที่จะนอนติดเตียงไหม?” วิชาญ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี