นักการเมืองกำลังกระเหี้ยนกระหือรือที่จะ “แก้รัฐธรรมนูญ” โดยกำลังทำให้คนเข้าใจผิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ถูก “ปิดตาย” ให้แก้ไขไม่ได้ จำเป็นจะต้องปลดล็อกเงื่อนไขการทำ “ประชามติ”ที่ซับซ้อนออกไปเสียก่อน
สส. เห็นชอบให้ทำประชามติชั้นเดียว คือ ประชาชนมาลงคะแนนกี่คนก็ได้ แค่ใช้เสียงข้างมากจากการลงคะแนนนั้น
แต่ สว. เห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ชั้น คือกำหนดว่า ประชาชนที่มาใช้สิทธิออกเสียง ต้องมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงคะแนน จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน จึงจะถือเป็น “ประชามติ” ที่แท้จริง
เมื่อความเห็นในชั้น สส. กับ สว. ไม่ตรงกัน จึงต้องตั้งกรรมาธิการร่วม เพื่อหา “มติ” อีกรอบ
ปรากฏว่า มติของกรรมาธิการร่วม ยืนยันให้ทำประชามติ 2 ชั้น
จากนั้นมตินี้ก็ถูกนำเข้าไปยังที่ประชุมวุฒิสภาสว.ก็โหวตเห็นชอบกับการทำประชามติ 2 ชั้น แต่ที่ประชุมสส. ยังคงเห็นชอบกับการทำประชามติชั้นเดียว นำมาสู่การต้องพักกฎหมายนี้ไว้ 180 วัน หลังจากนั้นจึงให้ที่ประชุม สส. โหวตใหม่อีกรอบ ผลเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น
ตอนนี้อยู่ในขั้นของการต้องพักกฎหมายนี้ไว้180 วันก่อน
แต่เหตุการณ์การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรสิครับ วุ่นวายเอาเรื่อง
1) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีมติเห็นชอบตามร่างฯของวุฒิสภา ที่ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการอภิปรายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเกณฑ์การออกเสียงข้างมากแบบชั้นเดียว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมองว่า เกณฑ์การออกเสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้ประชาชนสับสน ยุ่งยาก โดยเฉพาะกับบางพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาในนโยบายรัฐบาล ถ่วงขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เป็นเพียงพรรคเดียว ที่ยืนยันตามหลักการเกณฑ์การออกเสียงข้างมากแบบ 2 ชั้น ที่คำนึงถึงทุกสิทธิ์ทุกเสียง โดยมองว่า เสียงข้างมากชั้นเดียวไม่ใช่การตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ
2) น.ส.ลิณธิภรณ์ วรินวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะเป็นระบบ 2 มาตรฐานแปลกแยกจากระบบที่เป็นอยู่ ในเมื่อระบบการลงคะแนนเสียงที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การใช้เสียงข้างมากปกติโดยตรงจึงเป็นสิ่งสมควร ตนไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นให้ยุ่งยาก กีดกันเสียงแท้จริงของประชาชนออกไป เพื่อความเสี่ยงต่างๆ เช่น การรณรงค์ของผู้ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติแม้อาจมีจำนวนน้อยกว่า แต่เมื่อพิจารณาสิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามด่านพิสดารเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็อาจทำให้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิตามกระบวนการถูกบิดเบือนไปได้ เว้นแต่ผู้สนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น ปรารถนาลึกๆ ในใจให้การใช้สิทธิของประชาชนยากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าใครที่สนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจถูกครหาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560
“ดิฉันขอเรียกร้องให้ยืนยันตามหลักการ 3 ข้อ 1.ยืนยันตามข้อเสนอของกมธ.สภาฯ 2.ยืนยันในหลักการเดิมอย่างตรงไปตรงมา และ 3.ยึดถือสิทธิในฐานะสส.โปรดลงมติสนับสนุนให้ใช้เสียงข้างมากปกติ หรือเสียงข้างมากชั้นเดียว ที่เคยมีมติเอกฉันท์กันมาแล้ว ขอส่งต่อกุญแจดอกที่สมบูรณ์ ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดพิสดารให้ถึงมือประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เพื่อปูทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว
3) นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยอภิปรายว่า ตอนฉีกรัฐธรรมนูญง่ายแสนง่าย เงียบสงัดเหมือนป่าช้า แล้วสร้างประติมากรรมคือรัฐธรรมนูญปี’60 ที่มีปัญหาคือเวลาจะแก้ไขทำได้ยากยิ่ง ยากเกินไป แบบไม่อยากให้แก้ไขเลย ดังนั้น เมื่อความเห็นของสส. และสว.ไม่ตรงกัน ในเรื่องหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก ทำให้ต้องพักไว้ 180 วัน มันเสียเวลา จนทราบมาว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไม่ทันในสมัยนี้
ถามว่าใครเป็นจำเลยในสังคมนี้ ประชาชนต้องหาจำเลยให้ได้ สส.ไม่ใช่จำเลย แต่อีกสภาฯใช่หรือไม่ ก็ต้องใช้วิจารณญาณ ตนผิดหวังที่อยู่ๆ กมธ.ร่วมฯ ฝ่ายสส.ไปงดออกเสียง ถือว่ากลับลำในสิ่งที่ตัวเองเคยลงมติใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว ในชั้นกมธ.สภาฯ และทราบว่าครั้งนี้ก็จะงดออกเสียงอีก มันไปบั่นทอนอำนาจสูงสุดของประชาชน ไปร่วมกับสว. ที่เป็นสภารากฝอยได้อย่างไร
“พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แถลงนโยบายด้วยกันก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามนี้แล้วจะลงเรือลำเดียวกันได้อย่างไร ผมรู้ว่าคุณขวางเพื่อถ่วงไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันแก้ยากอยู่แล้ว หรืออยากจะให้มีตะแล้นแต๊นแต๊นอีก สภาฯแห่งนี้ตั้งอยู่ถนนทหาร เรือรบ 1 ลำ รถถัง 1 คัน ยึดได้แล้วสภาฯแห่งนี้ ทำไมไม่โน้มจิตใจด้วยกันมาแก้รัฐธรรมนูญ เห็นแก่ชาติบ้านเมืองเถอะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งอยู่นานยิ่งเป็นอันตรายต่อสังคม เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ การเมืองทั้งหมด ขอให้กมธ.ร่วมฯฝ่ายสส.ที่กลับลำ กลับใจมาแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เถอะ ที่นี้เป็นที่แก้ไขไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย ใครคนใดไม่แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือถ่วงความเจริญ ผมถือว่าคนนั้นทำลายประชาธิปไตย” นายอดิศร กล่าว
4) นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้ง่าย เป็นธรรม แบบชั้นเดียว แต่สว. หรือกมธ.ร่วมกันฯ จะมาให้ฝ่ายสส.ที่เคยลงมติ 409 เสียง เห็นด้วยกับเสียงข้างมากชั้นเดียวในชั้นกมธ.สภาฯ มาเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามร่างฯของวุฒิสภาไม่ได้ เราต้องยืนยันเพื่อยับยั้ง มีคนถามตนว่า หากรัฐบาลผสม มีพรรคพรรคหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้จะทำอย่างไร ตนก็ตอบไปว่าต้องคุยกันใหม่ คุยกันเรื่อยๆ จนจบ หวังว่าจะต้องคุยกัน หากมีปัญหาขึ้นมา ชาวบ้านจะตัดสินว่าพรรคเหล่านั้นที่บอกว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดีแต่พูดประชาชนจะสั่งสอนในการเลือกตั้งปี 2570 ดังนั้นอย่าพูดเอาหล่อ ขณะนี้บ้านเมืองมันแย่จริงๆ ก็ขอให้สส.ทำเพื่อประชาชน ทำตามกฎหมาย ช่วยกันลงมติเพื่อยับยั้งแล้วรออีก 180 วัน ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง
5) นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า หากเราไม่มีเกณฑ์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการทำประชามติ เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่า นี่คือการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราจะได้รับการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศจริงๆหรือไม่ ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากเพียงพอ หรือเรากำลังเปิดช่องให้เสียงส่วนมากมีโอกาสโดนมองข้ามเพียงเพราะคำว่าง่ายหรือไม่
พรรคภูมิใจไทย ยึดถือเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ตนตกใจว่ามีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวเท่านั้นที่รู้สึก ทั้งๆ ที่เรามีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 4 ยืนยันว่าแม้เราจะเห็นต่าง แต่เราไม่ได้ยึดติดโดยไม่มีหลักการเหตุผล เราไม่ได้ไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจในความเห็นต่างของเพื่อนสมาชิก
“พรรคภูมิใจไทยมีการส่งคำถามจากเพื่อนสส.ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสอบถามความคิดเห็นในเรื่องนี้ผลตอบรับกลับมาประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหตุผลง่ายนิดเดียว คือทุกเรื่องที่ต้องทำประชามติล้วนเป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนจึงต้องการความมั่นใจว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มีปริมาณเพียงพอที่จะมีความน่าเชื่อถือเราไม่อยากเห็นการทำประชามติที่นำไปสู่การกำหนดทิศทางประเทศที่ขาดความเห็นประชาชนค่อนครึ่งหรือมากกว่าของประเทศ
รัฐธรรมนูญฉบับปี’60 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน 16.8 ล้านเสียง ทุกคนพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ความชอบธรรม แล้วสิทธิ์ของประชาชนที่ออกมาใช้เสียงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อคราวที่แล้ว ท่านลืมเขาไปแล้วหรือ แต่ทำไมพอมาถึงการตัดสินใจของผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยแท้จริง พวกเรากลับมองว่าไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ก็ไม่ควรมีสิทธิ์ เพราะเขาไม่สนใจ” นายไชยชนก กล่าว
นายไชยชนก กล่าวด้วยว่า มีเพื่อนสมาชิกพาดพิงว่าพรรคภูมิใจไทยจะงดออกเสียง ไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย และมีเจตนาขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ตนยืนยันว่าไม่จริง ตราบใดที่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆอย่างเห็นได้ชัด พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางมาขัด แต่วันนี้ไม่ว่าอย่างไรตนขอแจ้งว่า วันนี้พรรคภูมิใจไทยไม่งดออกเสียงแน่ๆ แต่ไม่ว่ามติจะออกมาเป็นอย่างไร พรรคภูมิใจไทยจะเคารพในเสียงส่วนมาก ยืนยันอีกครั้งว่า กระบวนการทำประชามติ เป็นการคืนอำนาจจากสภาฯตัวแทนไปสู่เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง คำนึงถึงความเห็นทุกคน และถูกตัดสินใจโดยเสียงส่วนมาก กระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศจำเป็นต้องมีเกณฑ์เพื่อสะท้อนความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ ตนเห็นด้วยที่การทำประชามติควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับประชาชนทุกคน แต่ไม่ควรจะมักง่ายในวิธีการ
6) ในที่สุด พรรคภูมิใจไทย ลงมติสนับสนุนการทำประชามติ 2 ชั้น จน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ คืออีกรูปธรรมหนึ่งของการเมือง 3 ก๊กที่ผมพูดถึง
ก๊กพรรคเพื่อไทยและก๊กพรรคประชาชนโหวตไปทางเดียวกัน แต่พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญโหวตไปอีกทาง ซึ่งตรงกับสว.จากกติกาของก๊กอนุรักษ์นิยม ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และอาจมีให้เห็นอีก แต่ไม่ควรเกิดกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวาระประชาชน ที่ทุกพรรคต่างแสดงท่าทีตรงกันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อถกเถียงว่าประชามติ 2 ชั้น จะทำให้เกิดความชอบธรรม อ้างง่ายแต่ฟังยาก เพราะกติกานี้มัดมือชกคนไม่ลงคะแนนให้เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วย อุ้มเสียงคนนอนบ้านมายัดลงหีบบัตรทั้งที่ความชอบธรรมของประชามติอยู่ที่การเคลื่อนไหวรณรงค์ได้อย่างอิสระ และตัดสินโดยคะแนนข้างมาก
สว.เกิดจากรัฐธรรมนูญนี้ พรรคการเมืองบางพรรคแนบแน่นกับสว. จึงไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำถามในใจคน รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อไป ถึงเดินช้าประชาชนก็เห็นชัดว่าช้าตรงไหน
7) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม สส.-สว. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์จำเป็นต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่า ไม่ต้อง ให้เป็นไปตามกระบวนการสภาฯ เพราะบางที สส.พรรคเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกันไม่เป็นไร ถึงอย่างไรการบริหารงานเราร่วมมือกันอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ในกฎหมายสำคัญเช่นนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีหลายความคิดเห็น แต่สุดท้ายก็ต้องคุยกันให้เข้าใจตรงกัน แต่ถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่อะไร
เมื่อถามว่าผลการลงมติที่ออกมาอาจทำให้การทำประชามติถูกเลื่อนออกไป รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คิดว่าประชามติน่าจะทันแต่ขอคุยกับทางวิปก่อนว่าจะว่าอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่าต้องปรับจูนการทำงานกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่พรรคภูมิใจไทย แต่กับทุกคนเราก็ปรับไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนหรือคนในพรรคด้วยกันเอง
เมื่อถามว่า หมายความว่าหากมีกฎหมายอะไรที่สำคัญนอกเหนือจากนโยบายหลักของรัฐบาลจำเป็นต้องคุยกันก่อน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า บางทีมีเวลาก็ได้คุยกันแต่บางครั้งทุกอย่างมันเร็วก็ไม่ได้คุยกัน แต่ให้สภาฯ เป็นคนจัดการ
เมื่อถามย้ำว่าตัวนายกฯ จะคุยเองหรือให้วิปรัฐบาลเป็นผู้ประสาน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จุดแรกต้องให้วิปสรุปก่อน
สรุป : ขอชื่นชมในหลักการและการทำหน้าที่ของพรรคภูมิใจไทย
1.นักการเมืองต่ำมาตรฐานจำนวนหนึ่ง กำลังพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นฉบับเผด็จการ โดยไม่ให้ค่าการทำ “ประชามติ” ของประชาชนเลยคนพวกนี้ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่แท้จริงและไม่เห็นหัวประชาชน เป็นคนน่ารังเกียจ
2.ทั้ง สส. และ สว. จำนวนหนึ่ง ทำเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตะต้องไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ จริงแก้ได้ และไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องประชามติให้ต้องเสียเงินทองของประเทศ เสียเวลาประชาชนเลย หากพวกเขา “แก้ไขเป็นรายมาตรา”มาตราไหนเป็นปัญหาก็แก้
ประชาชนจึงต้องช่วยกันยืนยันว่า ให้แก้เป็นรายมาตรา โดยชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรานั้นๆ แล้วลงมือแก้ไข จะแก้ไขให้เป็นอย่างไรก็บอกกับประชาชนด้วย
ส่วนประชามติ 2 ชั้น ก็ไม่ต่างจากการประชุมสภา ที่ต้องเริ่มจากชั้นที่ 1 คือ มีองค์ประชุมครบตามจำนวนที่ระบุ จึงค่อยลงมติ และมติต้องมีเสียงเท่านั้นเท่านี้
เห็นไหมว่า ระดับการประชุมธรรมดา ยังใช้ระบบ 2 ชั้นเลย การจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่มีค่าเท่ากับฉีกฉบับเดิมทิ้ง เขียนฉบับใหม่ ทำไมต้องรังเกียจระบบ 2 ชั้น ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญมาตราไหนล่ะ ที่มีปัญหา แก้มันเป็นรายมาตราไปสิ
สุดท้ายที่ต้องแก้จริงๆ มิใช่รัฐธรรมนูญหรอก หากอยากเห็นบ้านเมืองดีกว่านี้ ต้องแก้ “สันดานนักการเมือง” ก่อนครับ !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี