คณะพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ มีมติเอกฉันท์ สั่งฟ้องผู้ต้องหากลุ่มบอส คดี The iCon Group
ดำเนินคดี 4 ข้อหา ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน-แชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.คอมพ์-พ.ร.บ.ขายตรง
มีเอกสารมากกว่า 3 แสนแผ่น
จำนวนผู้เสียหายทั้งหมด 7,875 ราย ความเสียหายล่าสุดทะลุ 1,644 ล้านบาทเศษ
เท่ากับว่า คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ครึกโครม อื้อฉาวและได้รับความสนใจมากที่สุดในรอบหลายปี กำลังเดินหน้าไปอีกขั้นตามกระบวนการยุติธรรม
โดยดีเอสไอจะส่งสำนวนให้อัยการ 23 ธ.ค. นี้
ยังไม่มีการเปิดเผยถึงผู้ต้องหาระดับแม่ข่ายเพิ่มเติม ว่าจะมีใครอีกบ้างหรือไม่?
1. คดีนี้ เป็นที่สนใจของสังคม เพราะผู้ต้องหาเป็นคนดัง ดารา บรรดาบอส ที่อวดสถานะร่ำรวย อวดชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า ดึงดูดความสนใจของสังคมมาก่อน
ปรากฏผ่านสื่อทั้งออนไลน์ ออนไซต์ ต่อเนื่องมาหลายปี
อวดยอดขายหลายพันล้านบาท โอ้อวดความสำเร็จของดีลเลอร์ ดึงดูดให้คนเข้าเป็นสมาชิกหลายแสนคน
ปัจจุบัน กลุ่มผู้ต้องหา 18 บอส นำโดย นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล, นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม, น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน, นายกันต์กันตถาวร หรือบอสกันต์ รวมถึงดีลเลอร์รายใหญ่และผู้เกี่ยวข้อง ยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์มีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
2. กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีดิ ไอคอน กรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ โดยรับมอบสำนวนจากตำรวจสอบสวนกลางเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันประชุมสรุปสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีการดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก 18 คน
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแต่งตั้ง ที่ประชุมมีความเห็นว่าการสอบสวนคดีนี้ ได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเสร็จสิ้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติแล้ว มีการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทุกฝ่ายและการแก้ข้อกล่าวหา ทำให้ที่ประชุมมีมติสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย และอีก 1 นิติบุคคล
ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า การมีมติสั่งฟ้องในวันนี้ คณะพนักงานสอบสวนได้นำการแก้ข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ของผู้ต้องหามาพิจารณาทั้งหมด รวมถึงสำนวนการสอบปากคำพยานของผู้ต้องหาด้วย จำนวนพยานของผู้ต้องหาทำเข้าสำนวนมีประมาณ 50 ราย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเป็นเครือข่ายดิไอคอน และเป็นรายที่ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดา 18 บอส
“ยืนยันว่า ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหา ได้นำมาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ รวมไปถึงคำแก้ข้อกล่าวหาทุกรายทุกกรณีด้วย ผู้ต้องหาทั้ง 18 รายได้ส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครบทุกราย..... มีลักษณะพฤติการณ์แผนธุรกิจ เน้นหาสมาชิกมากกว่าการเน้นขายผลิตภัณฑ์สินค้า เนื่องจากได้ตรวจดูเรื่องรายได้ส่วนใหญ่มาจากการที่ขายสินค้าให้กับหมู่สมาชิกด้วยกัน จำนวนสินค้าที่ไปยังผู้บริโภคนั้นน้อย
แท้จริง ยังมีอีกหลายประเด็น เพียงแค่ไม่ต้องการที่จะเปิดเผยรายละเอียดในสำนวน ส่วนกรณีที่กล่าวอ้างถึงการเก็บสินค้าในสต๊อกโกดังมีจำนวนจริงเท่ากับจำนวนลูกค้าหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ได้สอบสวนเข้าในสำนวนเรียบร้อยแล้ว ...คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นตรงกันว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหา ส่วนขั้นตอนอื่นเป็นการพิจารณาของพนักงานอัยการและศาล
การจะพิจารณาตัดสินว่าผิดหรือถูกก็เป็นศาลที่เป็นผู้พิจารณา” - พ.ต.ต.ยุทธนากล่าว
3. คุณวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล ระบุว่า ดีเอสไอไม่ใช่ศาล ไม่รู้ว่ามีธงในใจหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า ตนมีหลักฐานที่จะไปต่อสู้ในชั้นศาล และจะไปร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการ
ก่อนหน้านี้ บอสพอลก็มีเขียนจดหมายจากเรือนจำออกมาร้องขอความเป็นธรรมทางสาธารณะ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก บางส่วนระบุว่า
“ผมเฝ้าถามตัวเองทุกๆ วันว่า “ผมผิดอะไร”....“คดีนี้ไม่มีผู้เสียหายเลยแม้แต่คนเดียว” ..มีใครสักคนไหนที่ซื้อสินค้าจากบริษัทแล้วไม่ได้สินค้า มีใครสักคนไหมที่ขายของมีกำไรในระบบแล้วบริษัทไม่จ่ายเงินให้ มีใครสักคนไหมที่ได้โปรโมชั่นทริปท่องเที่ยวแล้วบริษัทไม่พาไปเที่ยว แล้วคุณจะพบความจริงที่ว่า “ไม่มีเลยสักคน”...”
4. คดีดิไอคอนกรุ๊ปนี้ ผู้ต้องหาทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาและยังมีสิทธิต่อสู้คดีต่อไป
บอสดาราก็อ้างว่าแค่รับงาน รับจ้างเท่านั้น
ส่วนบอสพอล ก็ยืนยันทำธุรกิจขายสินค้า ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้ฉ้อโกงประชาชน ไม่มีใครเสียหาย
แต่ความจริงที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วไป คือ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ให้ข้อมูลสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เกี่ยวกับพฤติการณ์ในการดำเนินธุรกิจของเครือข่าย The iCon Group
ผู้เสียหายส่วนใหญ่มีฐานะเป็นลูกข่าย หรือผู้ที่เปิดบิลซื้อสินค้า The iCon Group แล้วขายสินค้าไม่ได้
มีระดับแม่ข่ายอยู่บ้าง นั่นคือ ผู้ที่เชิญชวนลูกข่ายมาเปิดบิล แต่ก็รีบแสดงตนเป็นผู้เสียหาย เข้าแจ้งความ ให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่
ตัวละครหลักในคดีนี้ ได้แก่
บอสพอล คือบอสใหญ่ บทบาทเป็นผู้บริหาร ปรากฏภาพการมอบรางวัลให้บอสๆ มีการสร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อ ว่าเป็นคนใจบุญ สร้างตัวจากยากจนกระทั่งร่ำรวย
บอสดารา คือ ดนดัง ดารา ที่เข้ามาทำหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและองค์กร บางคนมีรายได้แปรผันตามยอดขายสินค้า
ส่วนบอสนักขาย ที่มียอดขายมหาศาล คือ ผู้ทำหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือแก่เครือข่าย หาคนเข้ามาเป็นสมาชิก จูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก หรือแม่ข่ายและลูกข่ายใหม่ๆ
มีการอวดความร่ำรวย ชีวิตหรูหรา เที่ยวต่างประเทศ สร้างสตอรี่ชีวิตที่ผ่านความยากลำบาก แต่สามารถร่ำรวย มีบ้าน รถ เครื่องประดับ
สอนวิธีขายผ่านออนไลน์ หว่านล้อมให้เปิดบิล และยิงแอด เพื่อหาสมาชิกใหม่ๆ เข้ามา แลกกับผลประโยชน์ที่จะได้จากการมีเครือข่ายรายใหม่ๆ
บอสนักขายทั้งหลาย แต่ละคนก็จะมีแม่ข่ายหรือสมาชิกในเครือจำนวนมาก นับร้อยนับพันคน หรือนับหมื่น
มีรายงานว่า รายใหม่ ใครจะเริ่มต้น ต้องเปิดบิลขั้นต่ำ 2,500 บาท (Distributor)
แต่ถ้าจะสร้างทีมได้ ก็ต้องเปิด 25,000 บาท (Supervisor)
ถ้าจะเข้าทีมแม่ข่าย ต้องเปิด 250,000 บาท (Dealer)
โดยที่ดีลเลอร์ ยังมีระดับให้ไต่เต้าอีกหลายระดับ กว่าจะได้เป็นระดับบอส (Boss – Emperor-Royal Crown-Crown Dealer-Wisdom Dealer-Presidential Dealer-Grand Dealer)
แต่ละขั้น มีผลประโยชน์จูงใจ เป็นคอมมิชชั่น เป็นทริปท่องเที่ยว ที่สามารถขายทริปคืนเป็นเงินได้ เป็นต้น
มีระบบสร้างแรงจูงใจให้หาสมาชิกใหม่เข้ามา ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์หรือไม่
5. กล่องดวงใจทศกัณฑ์ กล่องดำดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group)
คุณทองธาร เหลืองเรืองรอง พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ เขียนบทความว่าด้วยเรื่อง “มองคดี “ดิไอคอน กรุ๊ป” ผ่านคำพิพากษาศาลฎีกา” (เผยแพร่ในเว็บสำนักข่าวอิศรา)
เนื้อหาบางส่วนบางตอน สรุปใจความน่าสนใจ ดังนี้
“...ธุรกิจขายสินค้าโดยวิธีการสมัครสมาชิกและให้สมาชิกซื้อสินค้านั้น จะเป็นการฉ้อโกงหรือไม่ จะดูจาก “รายได้” ว่า รายได้ที่แท้จริงนั้นมาจากอะไร
.. รายได้มาจากการสมัครสมาชิกและการบังคับซื้อสินค้า วิธีการนี้ดูเผินๆเหมือนจะเป็นการตั้งใจประกอบธุรกิจ แต่ถ้าดูให้ละเอียดจะพบว่า ไม่ได้มีเจตนาประกอบธุรกิจจริงๆ แต่เป็นการหลอกให้ซื้อสินค้าไปเยอะๆ แต่ไม่สามารถขายสินค้าได้ ฉะนั้น รายได้จริงๆ ของเจ้าของธุรกิจ จึงไม่ใช่ผลกำไรจากการขายสินค้าทั่วไป แต่เป็น
รายได้ที่ได้จากการให้สมาชิกต้องซื้อสินค้าจำนวนหนึ่ง รายได้ของธุรกิจจะต้องได้จากการขายสินให้คนทั่วไป ไม่ใช่รายได้จากการบังคับให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ เรียกว่า รายได้หรือกำไรเทียม วิธีการแบบนี้เข้าลักษณะแชร์ลูกโซ่เช่นกัน เพราะรายได้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าทั่วไป แต่เกิดจากการหลอกลวงให้สมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากๆ
...ดูไทม์ไลน์ ดังนี้ 1. ผลิตสินค้า 2. หาสมาชิก 3. ให้สมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมาก สร้างรายได้ให้แก่บริษัท 4. สมาชิกนำสินค้าที่ซื้อไปขาย
จะเห็นว่า รายได้ของบริษัทเกิดขึ้นก่อนที่สมาชิกจะเอาสินค้าไปขายและเป็นรายได้ที่ได้มาจากสมาชิกเอง
วิธีการที่จะจูงใจสมาชิกให้มาสมัครเป็นสมาชิก และให้ซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ ได้นั้น จะต้องอาศัยเครื่องมือ ที่เรียกว่า ดาราหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ธุรกิจพวกนี้จะให้ดาราหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ มาช่วยโปรโมทธุรกิจของตนเอง
โดยมีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกตัดสินใจซื้อสินค้าให้เยอะขึ้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกนำสินค้าไปขายได้ง่ายขึ้น..”
ดู คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2901/2547 วินิจฉัยว่า
“ .....ถ้ารายได้หรือผลกำไร มาจากค่าสมัครสมาชิกและจะได้มากขึ้นเมื่อสามารถชักชวนคนอื่นให้เข้ามาเป็นสมาชิกได้ อันแสดงว่ารายได้หรือผลกำไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับสินค้าหรือบริการ แต่ขึ้นอยู่กับการชักชวนหรือการหาสมาชิกให้ได้จำนวนมากๆ และเมื่อรายได้หรือผลกำไรเกิดจากค่าสมัครสมาชิกไม่ได้เกิดจากสินค้าหรือบริการโดยตรง จึงต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ม.3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน .....”
ทองธาร เหลืองเรืองรอง พ.อาวุโสศาลอุทธรณ์ สรุปว่า ...เส้นแบ่งว่าจะเป็นฉ้อโกงหรือไม่ ให้ดูจากรายได้ของบริษัท ว่า รายได้หรือกำไรมาจากการที่สมาชิกขายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไปได้ หรือเป็นรายได้หรือกำไรที่ได้มาจากการซื้อสินค้าของสมาชิกเอง ถ้ารายได้ของบริษัท ไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วๆ ไป แต่เกิดจากการบังคับหรือหลอกลวงให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ แบบนี้ก็จะเข้าข่ายฉ้อโกง โดยศาลจะถือว่า“รู้อยู่แล้วว่าสินค้าไม่สามารถขายได้” และการใช้ดาราหรืออินฟลูเอ็นเซอร์มาโฆษณานั้น ก็ด้วยวัตถุประสงค์ให้สมาชิกซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการขายหรือช่วยให้สมาชิกขายสินค้าได้แต่อย่างใด”
สุดท้าย กรณีคดีดิไอคอน กรุ๊ป จะเข้าลักษณะใด ก็ขึ้นกับพยานหลักฐานที่สอบสวนกันมา
และจะต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลยุติธรรมต่อไป โดยขณะนี้ผู้ต้องหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี