หากเทียบการศึกสงครามที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณกับสงครามสมัยใหม่แล้ว ต้องบอกว่าการศึกสงครามในสมัยโบราณนั้นมีความยิ่งใหญ่กว่าอย่างมาก เพราะเป็นการต่อสู้ในรูปแบบตัวต่อตัวของนักรบผู้กล้าหาญ และการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือสงครามยุทธหัตถี
สงครามยุทธหัตถีคือการต่อสู้กันบนหลังช้างระหว่างองค์พระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราชา หรือแม่ทัพใหญ่ และครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยคือยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชามังกะยอชวา พระราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศแห่งอาณาจักรหงสาวดี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยากำลังจะกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงยกทัพใหญ่มีกำลังพล ๒๔๐,๐๐๐ คน ให้พระมหาอุปราชามังกะยอชวาเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพออกไปตั้งรับ โดยทัพของพระองค์ได้ยกไปถึงตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากช้างพระที่นั่งคือเจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างชนะงาที่กำลังตกมัน ได้อาละวาดวิ่งฝ่าเข้าไปในกองทัพของพม่า เมื่อสามารถบังคับช้างได้นั้น พบว่าช้างของพระองค์ทรงตกอยู่หว่างกลางทัพพม่าและมีโอกาสที่จะเสียทีพ่ายแพ้ในการศึก
ด้วยพระปฏิญาณไหวพริบของพระองค์ เมื่อเห็นว่ามหาอุปราชมังกะยอชวา ประทับอยู่บนหลังช้างทรงพลายพัทธกอใต้ร่มไม้ที่ไม่ไกลมากนัก พระองค์จึงตรัสเชิญให้
มังกะยอชวาออกมาทำยุทธหัตถีเพื่อเป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินอันเป็นเรื่องที่มังกะยอชวายากที่จะปฏิเสธ จึงไสช้างพระที่นั่งเข้าชนช้างของสมเด็จพระนเรศวรที่ตัวเล็กกว่าจนเสียที มังกะยอชวาใช้พระแสงของ้าวฟันสมเด็จพระนเรศวร แต่พระองค์ทรงเบี่ยงตัวหลบได้ แต่ถึงกระนั้นพระมาลาที่พระองค์ทรงสวมใส่อยู่ก็ถูกฟันแหว่งไป ต่อมาช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพก็สามารถใช้พละกำลังดันช้างทรงของมังกะยอชวาจนได้ล่าง เป็นโอกาสให้สมเด็จพระนเรศวรใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชมังกะยอชวาบริเวณไหล่ขวาจนขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์บนคอช้าง เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรและทำให้พม่าต้องยกทัพกลับ
ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาก็ทรงทำยุทธหัตถี และทรงมีชัยชนะต่อแม่ทัพพม่าเช่นเดียวกัน
การศึกสงครามในสมัยโบราณนั้นจะมีการสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะได้มีการปูนบำเหน็จให้กับนักรบผู้กล้าหาญ ทั้งผู้ที่รอดชีวิตและผู้ที่ต้องเสียชีวิตในการรบที่ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนด้วย จึงได้มีการเรียกประชุมเหล่าเสนาบดีเพื่อพิจารณาการปูนบำเหน็จ ตามที่มีบันทึกไว้ดังนี้
“ศุภมัศดุศักราช ๙๕๕ พยัฆวสังวัจฉระ มาฆมาศกาลปักษย เอกาทศมีดฤษถีครุวารกาลบรเฉทกำหนด พระบาทสมเดจ์เอกาทธรฐ อิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสดจ์ออก ณ พระธินั่งมงกุฏพิมาน สถานภิมุขไพชนมหาปราสาท มีพระราชโองการมา ณ พระบันทูลสุรสีหนาทดำรัสสั่งแก่พระยาศรีธรรมาว่า พระหลวงเมืองขุนหมื่นเข้าทูลอองทุลีพระบาทฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน เกนเข้ากระบวนทับ ได้รบพุ่งด้วยสมเดจ์บรมบราบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดบรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี มีไชยชำนะแก่มหาอุปราชาหน่อพระเจ้าไชยทศทิศเมืองหงษาวดีนั้น ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ล้มตายในการณรงค์สงครามเปนอันมาก แลรอดชีวิตเข้ามาได้เปนอันมากนั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานปูนบำเหนจ์ แลซึ่งขุนหมื่นนายอากอน นายพาศรี แลนายหมวดข้าส่วยขึ้นณะพระคลังหลวงแลส่วยสาอากรติดค้างนั้น เข้ารณรงค์รบพุ่งล้มตายในที่รบเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาตรัสประกาศว่ามันทำการณรงค์สงครามมีบำเหนจ์ความชอบอยู่นั้น ถ้าแลหนี้สินส่วยสาอากอนขึ้นแกพระคลังหลวง ติดค้างอยู่มากน้อยเท่าใดให้ยกไว้ มีลูกหลานให้รับราชการแทนเลี้ยงไว้สืบไป ถ้าแลขุนหมื่นนายอากอน นายพาศรี ซึ่งขึ้นพระคลังติดค้างอยู่ ก็ให้ยกเป็นบำเหนจ์ผู้ตาย ในการณรงค์ผู้เป็นเจ้าแล้ว อย่าให้บุตรภรรยาใช้หนี้เลย ถ้าแลมีพี่น้องลูกหลานให้เลี้ยงเปนข้าเฝ้า แลเลี้ยงไว้ในที่ทหารใช้ราชการสืบไป”
ข้อความทั้งหมดนี้คือเรื่องที่แสดงให้เห็นพระเมตตาและมหากรุณาธิคุณที่มีแก่ประชาราษฎร์ผู้ทำคุณประโยชน์ ยอมพลีแม้แต่ชีวิตเพื่อชาติบ้านเมืองจึงทรงรับสั่งให้มีการปูนบำเหน็จในหลายรูปแบบ รวมไปถึงครอบครัวของนักรบผู้กล้าที่เสียชีวิตลงในสนามรบด้วย ถือว่าเป็นทานอันเป็นลักษณะอามิสทานที่พระองค์ ทรงมีแก่อาณาประชาราษฎร์
การให้ทานตามบทบัญญัติของธรรมะนั้น หมายถึงการให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่ แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทองข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่บุคคลอื่นจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับและสังคมโดยส่วนรวม
อานิสงส์ของการให้ทานสรุปได้ ๕ ประการคือ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก ทำให้สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน กิตติศักดิ์ อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไปทั่ว ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมะของคฤหัสถ์ และประการสุดท้ายผู้ให้ทานเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลก
ส่วนการให้ทานจะได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ ผู้รับจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมความดีมีศีล วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต และประการสุดท้ายผู้ให้ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดอุทกภัยใหญ่ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดที่ได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุดน่าจะเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีน้ำท่วมสูงเกือบจะทุกอำเภอ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ ก็ตาม
รัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่รัฐพึงต้องปฏิบัติอยู่แล้ว รวมทั้งมีการส่งรัฐมนตรีไปติดตามกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด เสียงเรียกร้องของประชาชนก็คืออยากจะให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบให้มาก อย่าให้ซ้ำรอยกับการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดเชียงราย
ในที่สุดนายกฯพร้อมกับสามี ซึ่งไม่แน่ใจว่าจำเป็นจะต้องเดินทางไปด้วยหรือไม่ ก็ได้เดินทางลงไปยังพื้นที่ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ และภาพที่มักจะเห็นจนชินตาเมื่อนายกฯลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมเยียนปกติหรือในพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนก็คือภาพการเซลฟี่ของนายกฯผู้นี้กับประชาชนบางกลุ่มอยู่เสมอ
นายกฯได้ป่าวประกาศ ว่าให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมไปลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลบ้านละ ๙,๐๐๐ บาท สร้างความฮือฮา ให้กับประชาชนทั้งที่เดือดร้อนและที่ติดตามข่าวนี้มากพอสมควร เพราะนายกฯได้บอกให้ประชาชนที่เดือดร้อนไปลงทะเบียนโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าในขณะที่น้ำยังท่วมบ้านเรือนอยู่นั้น ใครจะมีกะจิตกะใจที่จะฝ่ากระแสน้ำออกไปลงทะเบียนเพื่อรับเงิน ซึ่งเงินจำนวนนั้นก็น่าจะมาจากงบกลางของรัฐบาลที่ให้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องตั้งงบประมาณล่วงหน้า
การไปประกาศว่าจะแจกเงินให้ผู้เดือดร้อนครั้งนี้ ในความรู้สึกของผู้เดือดร้อนคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย แต่เรื่องนี้ต้องไม่ถือว่าเป็นการให้แบบอามิสทาน เพราะไม่น่าจะเข้าหลักเกณฑ์ที่โยงไปถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากเงินที่นำไปแจกไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายกฯ และเจตนาของการไปแจกก็น่าคิดว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์ที่ไม่มีเรื่องอันอาจจะเป็นผลประโยชน์แอบแฝงอยู่หรือไม่อย่างไร
การที่ประเทศไทยเกิดระบบที่เรียกว่าประชานิยมและถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยในหลายรัฐบาลนั้น ถึงแม้จะสร้างคะแนนเสียงได้บางส่วน แต่ก็น่าจะเป็นผลเสียต่อพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไปที่จะแบมือรอรับอยู่เรื่อยๆ จนทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคต้องหาเสียงก่อนเลือกตั้งโดยการสัญญาว่าจะให้อะไรต่อมิอะไร จึงจะได้รับคะแนนเสียง ซึ่งก็ชัดเจนแล้วว่าเมื่อได้มาเป็นรัฐบาลจึงห่วงแต่ฐานเสียงไม่อาจปรับโครงสร้างที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้ ทำให้บ้านเมืองไม่เจริญก้าวหน้า มีผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประชาชนไม่อาจมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขโดยแท้จริง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี