นักกิจกรรมทางการเมือง นักวิพากษ์วิจารณ์ตลอดถึงนักวิชาการ พากันชื่นชมประชาชนและนักการเมืองเกาหลีใต้ที่ปกป้องการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ได้โดยไม่ให้กองทัพแทรกแซง
ประชาชนและนักการเมืองเกาหลีใต้ใช้กระบวนการคานอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการขัดขวางอำนาจฝ่ายบริหาร ที่ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกได้สำเร็จ
กลางดึกคืนวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา สส.ฝ่ายค้าน ร่วมมือสส.รัฐบาลบางส่วนรวมกัน 195 คน ฝ่าด่านทหารที่ปิดกั้นสภาเข้าไปลงมติยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกได้ ความสำเร็จในครั้งนั้น ถือเป็นการต่อสู้อย่างกล้าหาญของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ สส.ฝ่ายค้านโดยการสนับสนุนชาวเกาหลีใต้หลายพันคน ชุมนุมประท้วงประกาศกฎอัยการศึกหน้าสภา เป็นแรงผลักด้นให้ สส. บางคนจับกระบอกปืน ปัดปืนทหารพ้นจากการปิดกั้นผลักดันเปิดทางให้ สส. ได้เข้าประชุมสภาลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก
เพื่อความเป็นธรรม พูดได้ว่าความสำเร็จในคืนวันที่ 3 ธ.ค. ต้องยกคุณงามความดีและความมีสปิริต ประชาธิปไตยให้ทหาร ที่อดกลั้นไม่ลั่นกระสุนใส่ และไม่ลาก สส.ออกจากสภา ตามคำสั่งผู้บัญชาการ
กฎอัยการศึก จึงพูดได้ว่า ความสำเร็จในการปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยเกาหลีใต้ เพราะทุกฝ่ายมีจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคมประชาธิปไตย
ความมีจิตอาสารับผิดชอบต่อสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทยกับเกาหลีใต้ต่างกันอย่างไร พูดได้ว่าในส่วนพลเมืองความเด็ดเดี่ยวของคนไทยมีไม่น้อยกว่าคนเกาหลีใต้ แต่สปิริตของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารในประเทศไทยเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ไม่ได้ เพราะคำว่าสปิริตไม่มีในจิตวิญญาณนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ การแก้วิกฤตการเมืองในประเทศไทยบทสรุปสุดท้ายจึงไปลงที่ทหาร
ในห้วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยกับเกาหลีใต้ ประสบปัญหาทางการเมืองคล้ายๆกัน คือปัญหาใหญ่เกิดจากการทุจริต คอร์รัปชั่นของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2004 ถึง ปี 2024 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถูกสภาลงมติถอดถอน 3 คน และทั้งสามครั้งที่มีการถอดถอนในสภาเกิดจากปัญหาผู้นำฝ่ายบริหารรับสินบน ทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ปี 2004 (2547) สภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดีโนห์ มู-ฮยอน ในความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นและรับสินบน แต่หลังจากสภาลงมติถอดถอน ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคืนตำแหน่งประธานาธิบดีให้ อย่างไรก็ตาม โนห์ มู-ฮยอน ฆ่าตัวตายในปี 2009 ตามรายงานว่า สาเหตุมาจากข้อครหาคอร์รัปชั่น
ปี 2016 สภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดีพัก กึน-ฮเย ในความผิดรับสินบนทุจริตคอร์รัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ปล่อยให้เพื่อนหญิงคนสนิทของเธอแทรกแซงก้าวก่ายงานรัฐบาลและรับสินบนทุจริตคอร์รัปชั่น ในปี 2017 อดีตประธานาธิบดีพัก ถูกตัดสินจำคุก 24 ปี
และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2024 (2567) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันโหวตเห็นชอบ 204 คน ถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ในความผิดประกาศกฎอัยการศึกขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีทันที และมีเวลา 180 วันให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าต้องพ้นจากหน้าที่ หรือ ศาลฯ อาจจะคืนตำแหน่งหน้าที่ให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่อไปในวาระสองปีที่เหลือ แต่หากศาลฯตัดสินให้พ้นจากหน้าที่ ก็ต้องจัดให้มีเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ภายใน 60 วัน หลังจากศาลฯตัดสิน
หากมองผิวเผินดูเหมือนว่า นักการเมืองเกาหลีใต้มีสปิริต ที่แม้แต่ สส.พรรครัฐบาลบางส่วนยังร่วมลงมติถอดถอนประธานาธิบดีที่มีความผิด แต่หากพิเคราะห์จากความเป็นจริงพบว่า สส.พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ต่างกับ สส. พรรคร่วมรัฐบาลในประเทศไทย ที่ไม่เข้าตาจนจริงๆจะไม่ยอมสละเรือโจรง่ายๆ ดูได้จากญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา สส. พรรครัฐบาลพร้อมใจกันบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมสภา ทำให้ญัตติถอดถอนตกไปเพราะฝ่ายค้านมีเพียง 192 เสียง
ไม่ถึง 200 คน หรือ 2 ใน 3 ของ สส. 300 คนที่ลงมติถอดถอนประธานาธิบดีได้ตามกฎหมาย
สส.พรรครัฐบาลที่ขัดขวางญัตติถอดถอนเมื่อเจ็ดวันก่อน คงถูกสังคมกดดันถึงได้กลับลำยกมือร่วมกับฝ่ายค้าน 12 คน รวมเป็น 204 เสียง ถอดถอนประธานาธิบดีได้ตามกฎหมาย พิเคราะห์จากความเป็นจริงพบว่า สส.ฝ่ายรัฐบาลยังมีความหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาคืนตำแหน่งประธานาธิบดีให้ดังที่ยุน ประกาศสู้ต่อไป
นายกรัฐมนตรีนายฮัน ด็อก-ซู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากยุน ก้าวขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี ในระหว่างที่ ยุน ยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่อำนาจประธานาธิบดีของเขาถูกพักเอาไว้ ในขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขาเพิ่งผ่านมาได้แค่ครึ่งทาง
“ผมจะใช้ทุกความเข้มแข็งที่ผมมีและทุกความพยายามในการรักษาเสถียรภาพแก่รัฐบาล” ยุนบอกกับผู้สื่อข่าวหลังการโหวต และเสริมว่า “แม้ว่าผมจะหยุดแล้วในตอนนี้ แต่การเดินทางเคียงข้างประชาชนของผมในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ในการมุ่งหน้าสู่อนาคต จะไม่มีวันหยุดลง ผมจะไม่มีวันยอมแพ้” ยุน กล่าว
ยุน ตัองสู้หัวชนฝาเพราะไม่เพียงแต่ตำแหน่งประธานาธิบดีที่เหลือเป็นเดิมพัน หากแพ้ในชั้นพิจารณาของศาลฯเขาต้องเข้าคุกในข้อหาคอร์รัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเหมือนอดีตประธานาธิบดีพัก กึน-ฮเย
เมื่อนำพฤติกรรมผู้นำทางการเมืองเกาหลีใต้กับนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ในประเทศไทยมาเปรียบเทียบกัน พบว่าในห้วงเวลายี่สิบปีมีทั้งความเหมือน และแตกต่างกัน ความเหมือนกันคือผู้นำทางการเมืองฝ่ายบริหารพ้นจากหน้าที่เพราะทุจริตคอร์รัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่มิชอบถึงสามครั้ง
และมีความแตกต่างกันตรงที่ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ทำงานตามกระบวนการคานอำนาจโดยสมบูรณ์ คือเมื่อผู้นำฝ่ายบริหารทุจริตคอร์รัปชั่น ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ถอดถอน ส่วนฝ่ายตุลาการดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย
ส่วนในประเทศไทยฝ่ายบริหารทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระบวนการดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงาน ฝ่ายบริหารย่ามใจเพราะกำกับควบคุมทุกภาคส่วนได้ แต่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยต้องไปเพราะประชาชนขับไล่
ปี 2549 รัฐบาลมีความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกระบวนการประชาธิปไตยไม่ทำงาน ถูกทหารยึดอำนาจ หลังจากประชาชนนับแสนนับล้านคนประท้วงขับไล่ จนเกิดความวุ่นวายปล่อยไว้ประเทศไทยต้องกลายเป็นรัฐล้มเหลว
ปี 2557 รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทุจริตคอร์รัปชั่น กระบวนการคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงาน ประชาชนนับแสนนับล้านออกมาขับไล่ บ้านเมืองวุ่นวายสุดท้ายทหารยึดอำนาจ
ปี 2567 รัฐบาลประชาธิปไตยพ้นจากหน้าที่เพราะละเมิดรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ นายเศรษฐา ทวีสิน จึงเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบทักษิณเพียงคนเดียวในรอบยี่สิบปีที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยไม่มีคดีอาญาติดตัว
หากมองจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะพบว่า อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจในห้วงเวลายี่สิบปี ล้วนมาจากคดีคอร์รัปชั่น และถูกประชาชนขับไล่ เนื่องจากกระบวนการคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงาน ระบบราชการถูกฝ่ายบริหารครอบงำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องทำ
จึงสรุปได้ว่านักการเมืองในประเทศเกาหลีใต้กับนักการเมืองในประเทศไทย มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำฝ่ายบริหารที่สืบสันดานครอบครัวคอร์รัปชั่น สืบสันดานอำนาจนิยม ไม่มีความรู้ความสามารถต้องให้คนใกล้ชิดแทรกแซงทำงานแทนให้ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ทำให้ถูกถอดถอนและลงโทษจำคุกได้เหมือนอดีตประธานาธิบดีพัก กึนฮเย แห่งเกาหลีใต้
แต่ผู้นำสืบสันดานอำนาจนิยมคอร์รัปชั่นในประเทศไทยกับเกาหลีใต้ ต่างกันตรงที่ในประเทศไทยกระบวนการคานอำนาจประชาธิปไตยไม่ทำงาน จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยชาวบ้านทั่วไป คานอำนาจแทนกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะจัดการกับรัฐบาลไร้สติปัญญาที่มอบหมายให้ผู้มีอิทธิพลบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ทุจริตคอร์รัปชั่นบริหารรัฐบาลแทนได้
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี