ปีนี้สื่อทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาให้นายกรัฐมนตรี รวมทั้งฉายารัฐบาล และวาทะแห่งปี ได้เฉียบและลึก
การตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากอคติส่วนตัว
ย้อนขึ้นไปก็เริ่มกันมาตั้งแต่ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531) สมัยนั้นนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลมีศาลายกพื้นตรงสนามหญ้าระหว่างตึกไทยคู่ฟ้า กับตึกบัญชาการ ใช้เป็นที่นั่งพักเพื่อรอทำข่าว เรียกกันว่า“รังนกกระจอก” และในช่วงหลังๆ ก็มีการพัฒนาขยับขยายเรื่อยมา
ฉายา“นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ของพล.อ.เปรม ติณสูลานท์ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์“กบฏเมษาฮาวาย”ในเดือนเมษายน 2524 จากการก่อการรัฐประหารของนายทหาร“จปร.7”ที่ล้มเหลว ก็มาจากสื่อทำเนียบฯในยุคนั้น ที่เป็นหลักก็มี “เจ๊ยุ-ยุวดี ธัญญสิริ” จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์, “พี่โมทย์-ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ” จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, “เจ๊คณิต-คณิต นันทวาณี” จากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และ “พี่ชุ-ชุติมา บูรณรัชดา จากหนังสือพิมพ์มติชน เป็นต้น
นอกจากฉายา“นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”แล้ว สื่อทำเนียบฯในยุคนั้นก็ยังตั้งฉายา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า“เตมีย์ใบ้” โดยตั้งจากบุคลิกของ พล.อ.เปรม ที่เป็นคนพูดน้อย ซึ่งทราบกันดีว่า เวลานักข่าวสัมภาษณ์..พล.อ.เปรมจะตอบน้อยคำมาก หรือไม่ก็ไม่ตอบเลย ยิ่งถ้าเป็นนักข่าวจากสายอื่นๆ ที่ไม่ได้ประจำทำเนียบรัฐบาล ถือว่าไม่คุ้นหน้าคุ้นตา ยิ่งแล้วใหญ่ จะไม่มีคำตอบใดๆ ออกจากปาก พล.อ.เปรมแม้แต่คำเดียว
ส่วนวาทะแห่งปีที่บอกเรื่องราวได้ชัดเจน คือ“กลับบ้านเถอะลูก” วาทะนี้สอดคล้องกับการพูดน้อยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งโดยปกติไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะมีวาระการประชุมยาวนานแค่ไหน ดึกดื่นค่อนคืนเพียงใด นักข่าวก็ต้องเฝ้ารอทำข่าว รอสัมภาษณ์..ปรากฏว่าบ่อยครั้ง หลังการประชุม เมื่อผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ พล.อ.เปรม คำตอบที่มักจะได้จาก พล.อ.เปรม ก็เพียงคำว่า“กลับบ้านเถอะลูก” จะเรียกว่าเป็นการปฏิเสธหรือเลี่ยงที่จะตอบคำถามสื่ออีกวิธีหนึ่งก็ไม่ผิดนัก..ก็เป็นอันว่านักข่าวที่อุตส่าห์เฝ้ารอต้อง“กินแห้ว”ไปตามๆ กัน ไม่มีประเด็นข่าวส่งเข้าไปยังโต๊ะข่าวในกองบรรณาธิการเพื่อเป็นข่าวในวันรุ่งขึ้น
สำหรับปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายารัฐบาลของ“มาดามแพ” ว่ารัฐบาล“พ่อเลี้ยง” มีเหตุผลประกอบว่า ด้วยความเป็น “พ่อ” ของหัวหน้ารัฐบาล ยี่ห้อ "ทักษิณ ชินวัตร" ขึ้นชื่อดีกรีความรักลูกไม่น้อยหน้าใคร ทั้งปกป้อง เลี้ยงดู อุ้มชู ปูทาง จนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น ที่มี DNA เดียวกันเป๊ะ จนไม่พ้นเสียงครหา รัฐบาลนี้ "พ่อคิด-ลูกทำ"
และไม่เพียงแต่แค่การเลี้ยงดูลูกในสนามการเมืองเท่านั้น เหตุผลประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯ ระบุ ก็เนื่องมาจาก“วาทกรรม”ซึ่งอดีตนักโทษเด็ดขาดขาดชายทักษิณ ชินวัตร พูดเรื่อง“เลี้ยงมาม่า" พรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จนเป็นข่าวครึกโครมสะเทือนเลื่อนลั่น โดยผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลผู้ตั้งฉายา ชี้ว่า “เป็นการสะท้อนบทแบ็กอัพที่ไม่ใช่เลี้ยงลูกตัวเองเท่านั้น แต่เลี้ยงรัฐบาลให้เดินอยู่ในรอยด้วย”
ฉายา“รัฐบาลพ่อเลี้ยง”นี้ เหมือนจะธรรมดา แต่จริงๆ แล้วแสบสันต์ ต้องตรงกับข้อเท็จจริง เพราะรัฐบาลชุดนี้..ผู้ทรงอำนาจตัวจริงในฐานะผู้ชักใยรัฐบาลก็คือ“ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมีสถานภาพเป็น“นายกรัฐมนตรีทับซ้อน” ผู้ครอบครองบุตรสาว..และเป็นทั้งผู้เขียนบทและเป็นผู้อำนวยการสร้างที่คอยกำหนดนโยบายรัฐบาล
ขณะที่“แพทองธาร ชินวัตร”ในฐานะนายกรัฐมนตรี นั้น สื่อตั้งฉายาว่า “แพทองโพย” ซึ่งถือว่าผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯยังเอ็นดู ไม่ตั้งเป็น“แพท่องโพย”ตรงๆ ทั้งนี้ เป็นการล้อมาจากชื่อ“แพทองธาร” กับประเด็นดรามา "ไอแพด"คู่ใจ อันเป็นโพยยุคไอที ถือติดมือได้ทุกที่ เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว โดยพกโพยเครื่องเดียว สามารถ“อ่าน-จด-โหลด”ข้อมูลได้เสร็จสรรพ
ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯที่ร่วมกันตั้งฉายา“แพทองโพย” ยังให้รายละเอียดด้วยว่า การท่องโพยของ“มาดามแพ”จากการอ่านไอแพด ยังมีเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเมื่อเธอยกขึ้นอ่าน ระหว่างพบผู้นำ แขกต่างชาติ จนกลายเป็นประเด็นตอบโต้เผ็ดร้อนกับชาวเน็ต และตอกย้ำแบบ“โนสนโนแคร์”ด้วยภาพชูไอแพดคู่ใจ ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือแม้แต่ยกไอแพดขึ้นอ่านแถลงข่าวการระบายน้ำภาคเหนือ ลงสู่แม่น้ำโขง จนถูกวิจารณ์ยกใหญ่
จากฉายา“รัฐบาลพ่อเลี้ยง” กับ “มาดามทองโพย” ก็มาถึงวาทะแห่งปี..ซึ่งนับว่าเด็ดดวงอีกเช่นกัน..โดยผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบล้อคำ“สามีเป็นคนใต้” มาเป็นวาทะแห่งปี 2567..นับว่า“โดนใจ”ของคนในสังคมทีเดียว..เป็นการหยิบคำที่“แพทองธาร ชินวัตร”ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการลงพื้นติดตามการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วม อำแม่สาย จังเชียงราย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 จากการที่เธอได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า เป็นการละเลยพี่น้องภาคใต้ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม
ประเด็นดังกล่าว ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯ ระบุไว้ในเหตุผลว่า “มาดามแพ”ชี้แจงย้ำหนักแน่น ว่าไม่ได้ละเลยคนใต้ ด้วยประโยคว่า “โอ้ คำว่าละเลยภาคใต้ สามีเป็นคนใต้ ครอบครัวสามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ แต่งงานคนใต้ไม่ได้นะคะ” ซึ่งคำชี้แจงของ“มาดามแพ”เท่ากับเป็นการยืนยันคำตอบจากใจของ“มาดามแพ”..ว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติกับประชาชนภาคใด หากแต่เป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี สื่อทำเนียบฯยังขยายรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของวาทะแห่งปี“สามีเป็นคนใต้” อีกว่า “คำตอบของนายกฯยังไม่ใช่เหตุผลที่ตรงใจชาวโซเชียล จึงไม่วายถูกตั้งข้อสงสัยว่า เหตุที่ไม่ลงใต้ เพราะภาคใต้ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ไร้ที่นั่ง สส.มานาน ถึงกับถามย้ำๆ ขอฟังชัดๆ จะลงใต้เมื่อไหร่ กระทั่งนายกฯกลับจากเยือนประเทศมาเลเซีย ช่วงฝนเทภาคใต้รอบสอง จึงเปลี่ยนใจ บินลงพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 17 ธันวาคม2567 จากที่ตั้งใจจะลงไปในช่วงการฟื้นฟู”
บรรทัดนี้ขอยกมือให้คะแนนเต็มสำหรับฉายา รัฐบาล นายกรัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลประจำปี 2567 อย่างสิ้นข้อสงสัยใดๆ-ตรงปกตรงประเด็นทุกข้อครับ !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี