ปัจจุบัน นายทักษิณ ชินวัตร กำลังตระเวนป่าวประกาศต้องการพัฒนาประเทศไทย ต้องการหารายได้ให้ประเทศ ต้องการลดภาษี ต้องการให้ใช้บิตคอยน์ ฯลฯ
แต่จนถึงป่านนี้ ประเด็นค่าเสียหายจากกรณีทุจริตประพฤติคดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ มีใครรับผิดชอบอะไรแล้วหรือยัง?
ปีที่แล้ว เมื่อทวงถาม ก็มีรายงานความคืบหน้าว่ากำลังดำเนินการที
มาปีนี้ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?
1. ปลายปีที่แล้ว (2566) ป.ป.ช.ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีเอ็กซิมแบงก์
ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท
โดยมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ชดให้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ไปแล้ว
ระบุว่า ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ปช 1129/1355 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง
แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ระหว่าง ป.ป.ช. (โจทก์) และนายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น การกระทำ
ของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี
ป.ป.ช. ยืนยันว่า ได้แจ้งผลคดีดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย
ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย
หลังจากนั้น ก็ไม่มีรายงานความคืบหน้าใดๆ จากทางกระทรวงการคลังและ ป.ป.ช.อีกเลย
2. ในความเป็นจริง กรณีคดีทุจริตเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯถึงที่สุดแล้ว
ชี้ว่า มีการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบจริง ก่อให้เกิดความเสียหายจริง
แม้แต่นายทักษิณ จำเลย ก็ยอมรับตามคำพิพากษา ขอถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี
ดังนั้น ในส่วนของค่าเสียหาย ไม่เกี่ยวกับกรณีได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปีแต่อย่างใด
3. ค่าเสียหายที่ต้องติดตามทวงถามในวันนี้ มิใช่ตัวสินเชื่อที่ให้รัฐบาลทหารพม่า เพราะนั่นเขาชำระหนี้คืนแล้ว
แต่ค่าเสียหายในที่นี้ คือ เงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศที่กระทรวงการคลังต้องจัดสรรนำไปจ่ายชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่สินเชื่อดังกล่าว
มูลค่ารวมหลายร้อยล้านบาท !!!
เงินส่วนนี้ หลวงจ่ายไปแล้ว และเสียหายไปแล้ว
โดยที่ผู้กระทำผิดยังไม่ได้ชดใช้คืนแก่แผ่นดิน!
3. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีทุจริตเงินกู้เอ็กซิมแบงก์
เหตุเกิด ช่วงปี 2546 - 2547 นายทักษิณ ชินวัตร อาศัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สั่งการเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลทหารพม่า 4,000 ล้านบาท
เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของครอบครัวตัวเอง
โดยมีการไปตกลงกับนายทหารระดับสูงของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในขณะนั้น 3 พันล้านบาท
ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 มีการประชุมสุดยอดผู้นำกัมพูชา ลาว พม่า และไทย ที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า นายกฯ ทักษิณถึงขนาดอนุมัติให้นายพานทองแท้ บุตรชาย ร่วมเดินทางเป็นคณะทางการด้วย
พนักงานบริษัทชินแซทเทลไลท์ฯ และบริษัทเอไอเอส กิจการของทักษิณ ได้เข้าไปโชว์สินค้าบริเวณสถานที่จัดการประชุมด้วย
ทั้งๆ ที่ การประชุมดังกล่าวไม่มีความตกลงความร่วมมือด้านโทรคมนาคมอยู่ในวาระ
หลังจากนั้น ทักษิณ ชินวัตร นายกฯไทย สั่งให้เพิ่มเงินกู้สนับสนุนการพัฒนาโทรคมนาคมในชนบทของพม่า 3 โครงการ มูลค่า 24 ล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทชินแชทเทลไลน์เป็นผู้ดำเนินโครงการ
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่งจะอนุมัติให้เงินกู้พม่าไป 3 พันล้าน และยืนยันว่า
“ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไทยเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง”
นายทักษิณลุแก่อำนาจถึงขนาดสั่งการว่า “เราให้หลักการขอไว้ 3,000 ล้านบาท เมื่อเขาขอมา 5,000 ล้านบาท ก็ให้พบกันครึ่งทาง ให้เขา 4,000 ล้านบาท
และให้นายสุรเกียรติ์ แจ้งไปว่า นายกฯ ทักษิณสั่งการว่าให้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาทและจะให้การอุดหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย”
ในที่สุด เอ็กซิมแบงก์ต้องอนุมัติสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลพม่า
ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนในขณะนั้น
รวมทั้งขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคาร
นั่นเป็นเหตุให้เอ็กซิมแบงก์ได้รับความเสียหายตามประมาณการโครงการทั้งสิ้น 670 ล้านบาท
โดยกระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ปี’49 และปี’50 ชดเชยความเสียหาย คำนวณถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2551 เป็นเงิน 189 ล้านบาท (ตามคำพิพากษาของศาล)
แม้ในภายหลัง ทางพม่าจะได้ชำระหนี้จนครบถ้วน เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 แต่นั่นก็ภายหลังจากการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และเป็นการชำระหนี้ในยุคหลัง
ในความเป็นจริง กระทรวงการคลังต้องเอาเงินภาษีคนไทยทั้งประเทศ ไปชดเชยให้เอ็กซิมแบงก์ เพราะอดีตนายกฯ ทักษิณต้องการช่วยให้กิจการของตนประกอบธุรกิจในพม่าอย่างราบรื่น ได้รับประโยชน์จากการขายสินค้า รวมทั้งเป็นผู้บริหารและที่ปรึกษาโครงการโทรคมนาคมแก่สหภาพพม่า
เป็นบทเรียนกรณีศึกษา ผลประโยชน์ชาติ แลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง
กระทั่งเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จำคุก 3 ปี
ในที่สุด ทักษิณบอกว่าสำนึกในการกระทำผิด ยอมรับผิดตามคำพิพากษา และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุก 1 ปี (3 คดี)
แต่เรื่องการเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ จะต้องดำเนินการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการแผ่นดิน
ใครละเว้น ก็จะต้องถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่นายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่?
ถึงบัดนี้ ผ่านไปแล้ว 5 ปี หากยังไม่มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการแผ่นดิน ก็น่าจะถึงเวลาที่ข้าราชการที่ละเว้น จะต้องรับกรรม
ใครจะติดคุกแทนการชำระค่าเสียหาย ขอให้คนไทยช่วยกันติดตาม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี