“Santa doesn’t know you like I do. Maybe this Christmastime you’ll finally realize that I could be the one to give you everything you want.”
สวัสดีปีใหม่และสุขสันต์วันคริสต์มาสแด่นักอ่านแนวหน้าทุกท่าน ในเทศกาลแห่งความสุขนี้ ผู้เขียนขอมอบเพลง Santa Doesn’t Know You Like I Do ของ Sabrina Carpenter เพื่อเป็นหนึ่งในเพลงที่เหมาะสำหรับการฟังในช่วงเวลาพิเศษนี้ เนื้อเพลงได้สื่อถึงความรักของคนคนหนึ่งที่สามารถเติมเต็มความปรารถนาของคนรักได้โดยไม่ต้องพึ่งคุณพ่อฤดูหนาวหรือซานต้า เพราะซานต้านั้นไม่ได้รู้จักตัวตนของเราดีไปกว่าคนใกล้ชิดหรือคนใกล้ตัว
เมื่อผู้เขียนได้ฟังเพลงนี้ ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นมาในใจเกี่ยวกับการฝากความหวังไว้กับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราร้องขอเพื่อให้ประสบความสำเร็จ เราในฐานะมนุษย์นั้นรู้ใจหรือรู้จักสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือดีเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราบนบานต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์สามารถแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราสัญญาไว้จะตรงกับความต้องการของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง
อีกทั้ง ประเด็นนี้ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงมุมมองที่เชื่อมโยงการบนบานศาลกล่าวกับการติดสินบน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าทั้งสองสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกันบนพื้นฐานของการร้องขอให้บุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ความปรารถนาเป็นจริงโดยมีการตอบแทน และยังมีความคิดเห็นหรือข้อถกเถียงว่าสาเหตุของพฤติกรรมการติดสินบนอาจมีที่มาจากวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องการบนบานของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับข้อถกเถียงหรือมุมมองดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์ย่อมรู้ใจกันเองดีที่สุด มนุษย์เลือกที่จะติดสินบนบนพื้นฐานของการเข้าใจมนุษย์ว่าสิ่งที่มอบไปนั้นจะทำให้อีกคนยอมกระทำผิดบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนได้ ดังนั้นความสำเร็จของการติดสินบนนั้นอาจจะมีมากกว่าการบนบาน ซึ่งอาศัยเพียงความศรัทธาและความหวังโดยปราศจากการยืนยันถึงผลลัพธ์ที่แน่นอน
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำพาผู้อ่านทุกท่านร่วมกันถกเถียงถึงความหมายและความต่างของการบนบานและการติดสินบน และผู้เขียนขอเชิญผู้อ่านร่วมกันตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของการติดสินบนว่ามีที่มาจากการบนบานจริงหรือไหม
นิยามของ “การบนบาน” และ “การติดสินบน”
“บนบาน” ตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย โดยให้คำมั่นว่าจะมอบสิ่งของตอบแทนหรือปฏิบัติตามที่ให้สัญญาไว้เมื่อคำขอนั้นสัมฤทธิผล การบนบานถือเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอารยธรรมโบราณ เช่น อารยธรรมกรีกโบราณ ที่มักพบผ่านการบนบานต่อเทพเจ้าโดยมีการถวายเครื่องสังเวยแด่เทพเจ้าแห่งสงครามเพื่ออวยพรให้การทำศึกสงครามลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนี้ วัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการบนบานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่ยังพบได้ในอารยธรรมตะวันออก เช่น อินเดียและจีน เช่นเดียวกัน ดังนั้น การบนบานจึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของการติดสินบนนั้น มีความหมายที่คล้ายคลึงกับการบนบานเป็นอย่างมาก เนื่องจาก “สินบน” หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ดังนั้น การติดหรือการให้สินบนจึงหมายถึงการเสนอหรือมอบทรัพย์สินเพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการใดๆ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ติดสินบน โดยลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายสินบนไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในแวดวงของราชการเท่านั้น แต่ยังนับรวมไปถึงการรับ “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” ที่มักเกิดขึ้นในวงการศึกษาด้วยเช่นกัน
“การบนบาน” VS “การติดสินบน” ความเหมือนที่แตกต่าง
แม้ทั้งสองคำจะเป็นการอธิบายถึงพฤติกรรมของการมอบสิ่งของให้แก่บุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน แต่สำหรับผู้เขียน ความแตกต่างอย่างชัดเจนของสองคำนี้คือ “ความเป็นไปได้(possibility)” ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการติดสินบนและการบนบาน อย่างที่ได้กล่าวไปในส่วนต้นนั้น การบนบานไม่ได้มีการการันตีอย่างชัดเจนว่าผู้ที่ทำการบนบานจะประสบความสำเร็จในทุกครั้ง อีกทั้งยังไม่มีสิ่งใดสามารถการันตีว่าสิ่งของที่นำไปบนบานจะถูกใจเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ทำให้ผลลัพธ์ของการบนบานมีโอกาสประสบความสำเร็จได้น้อยกว่าการติดสินบน
แม้ว่าการติดสินบนจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกครั้ง แต่ผู้กระทำสามารถเสนอสินบนที่ถูกใจแก่ผู้รับได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่าง “ค่าดำเนินการ” และ “ค่าอำนวยความสะดวก” ที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบางอย่างให้อย่างรวดเร็วหรือได้รับสิทธิพิเศษ โดยสินบนเหล่านี้อาจจะมาในรูปแบบของเงินหรือของขวัญพิเศษที่สามารถซื้อใจเจ้าหน้าที่รัฐได้มากกว่าการซื้อใจเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ความเป็นไปได้ของการติดสินบนมีโอกาสความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้น
นอกจากเรื่องความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่แตกต่างกันแล้วผลกระทบที่เกิดจากทั้งสองการกระทำนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน การบนบานเป็นการกระทำบนพื้นฐานของความเชื่อและวัฒนธรรม และมีผลกระทบทางจิตใจของผู้ทำการบนบานเป็นหลักดังนั้น แม้ว่าการบนบานนั้นจะประสบความสำเร็จ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อระบบทางสังคม เช่น เมื่อมีการบนบานให้สอบติดมหาวิทยาลัย และคำขอนั้นประสบผลสำเร็จ แต่การสอบติดดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อสิทธิของผู้สอบท่านอื่นๆ ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับการติดสินบน หรือ การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้สอบติดหรือสามารถเข้าเรียนได้ โดยการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายในวงกว้างต่อสถานศึกษาอย่างชัดเจน
การบนบานนำไปสู่การติดสินบนจริงหรือไม่
หนึ่งในข้อถกเถียงถึงสาเหตุของการเกิดสินบน คือ พฤติกรรมของมนุษย์ที่เคยชินกับการบนบาน จนนำมาสู่การติดสินบนในที่สุดสำหรับข้อถกเถียงดังกล่าว ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยโดยทั้งหมด เนื่องจากการบนบานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อ แม้ผลลัพธ์ในสิ่งที่บนบานไปนั้นจะไม่สามารถการันตีได้แต่มนุษย์ยังคงเลือกที่จะบนบานต่อไป เพราะมนุษย์ไม่ได้มองการบนบานเป็นการแลกเปลี่ยนที่ต้องได้รับการตอบแทนในลักษณะของ give and take ดังนั้น ในมุมมองของผู้เขียน การบนบานไม่ได้ทำให้มนุษย์มีนิสัยเอารัดเอาเปรียบหรือเป็นบ่อเกิดของการติดสินบนหรือการทุจริตกับภาครัฐ
อีกทั้ง ในมุมมองของผู้เขียน สาเหตุของการติดสินบนไม่ได้มาจากพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบนบาน แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและระบบที่เอื้อให้เกิดการติดสินบน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บค่าอำนวยความสะดวกจากประชาชน เนื่องจากเงินเดือนของข้าราชการต่ำเกินไป ทำให้การเรียกสินบนกลายเป็นหนึ่งในวิธีการหารายได้เสริม
การติดสินบนแก้ไขด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ?
ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อการติดสินบนไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชอบการบนบานฉันใด การแก้ไขปัญหาการติดสินบนจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีฉันนั้น แม้ว่าการปลูกฝังค่านิยมที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แต่แนวคิดในลักษณะนี้อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบราชการหรือภาครัฐที่เปิดโอกาสหรือมีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บสินบนจากประชาชน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการติดสินบนควรเริ่มต้นด้วยการสร้างระบบที่โปร่งใสและมีมาตรการกำกับดูแลภายในองค์กรที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดสินบนเจ้าหน้าที่ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำผิดหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยมาตรการดังกล่าวควรครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower) ด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนยังคงเห็นด้วยกับเนื้อเพลงของ Sabrina ว่ามนุษย์ย่อมรู้ใจกันเองมากที่สุด และมนุษย์ไม่อาจฝากความหวังไว้กับซานต้าให้มาทำให้ความปรารถนาของเราเป็นจริงได้ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ ผู้เขียนขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านได้พบกับความรักที่งดงามและสมหวังในความปรารถนา โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือ
ติดสินบนซานต้าอีกต่อไป Merry Christmas and Happy New Year!
อ้างอิง
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ. (26 ตุลาคม 2564). บทความกฎหมายน่ารู้: สินบนและผลประโยชน์ทับซ้อน. เข้าถึงได้จาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน): https://www.hrdi.or.th/InternalRules/Detail/1480
นางสาวยุพารักษ์ ชนะบวรวัฒน์. (2560). การบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธในสังคมไทย. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.). (21 กรกฎาคม 2566). ป.ป.ช. ผลักดัน 8 หลักการป้องกันการให้สินบนต่อเนื่อง เน้นย้ำนิติบุคคลออกมาตรการควบคุมให้เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ. เข้าถึงได้จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.): https://www.nacc.go.th/categorydetail/
20180831184638361/20230718222059?
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.). (22 มีนาคม 2567). อย่างไรบ้างที่เข้าข่ายการรับสินบน. เข้าถึงได้จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.): https://www.nacc.go.th/categorydetail/20180831184638361/20240325082842?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR2nE8k83trEsO9Oby7AzIrSm
Cx1d2bLH84rd_h-YO2VO1vuSHOthd-r8XI_aem_Wrdhub
MVMb24eTVObae-RA
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (ม.ป.ป.). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔. เข้าถึงได้จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔: https://dictionary.orst.go.th/
ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี