เป็นอันว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แต่ดูเหมือนคนที่ยังลอยตัว คือ ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
ปล่อยให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาได้อย่างไร?
1. เมื่อวานนี้ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่รายละเอียดทั้งหมดต้องให้นายพิชัย ชุณหวชิร
รองนายกฯ เปิดเผยข้อมูล
“มีการยืนยันทางกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว คุณกิตติรัตน์ไม่ผ่านคุณสมบัติ รายละเอียดซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568” นายลวรณกล่าว
2. ปมสำคัญ คือ ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ได้แต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
แต่พระราชบัญญัติธปท. มาตรา 18 ระบุว่า คณะกรรมการธปท.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (4) และ (5) ดังนี้
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ที่น่าสงสัย คือ เหตุใดจึงไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาฯ ปล่อยผ่านมาจนถึงรัฐมนตรีคลังได้อย่างไร
เพราะทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกปกปิดอะไรเลย
เว้นแต่จะดันทุรัง หรือมีเหตุผลอื่นใด
ใครเจตนาละเว้น ไม่ตรวจสอบกลั่นกรอง เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด หรือไม่? จนกระทั่งมาถึงมือ รมว.คลัง จ่อจะเข้า ครม.อยู่แล้ว
3. อย่าลืมว่า การสรรหาบอร์ด ธปท.นั้น เคยมีกรณีศึกษาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำคุกมาแล้ว
ครั้งนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ต้องคดีแทรกแซงการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิธนาคารแห่งประเทศไทย
กรณีเมื่อปี 2551 นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ
เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดของ ธปท. บางรายมีลักษณะต้องห้าม ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551
ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิด 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี
4. ในครั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ได้แก่ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
นอกจากควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการสรรหานายกิตติรัตน์มาแล้ว
ยังปรากฏว่า ตัวดร.สถิตย์ ยังมีปมว่าอาจต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายบางส่วน ในกรณี ทศท.แก้สัมปทานมือถือลดส่วนแบ่งรายได้บัตรเติมเงิน เอื้อประโยชน์แก่เอไอเอส ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือไม่?
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2563 ลงโทษ นายสุธรรม มลิลา อดีตผอ.ทศท. จำคุก 6 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลยังชี้ด้วยว่า กรรมการ ทศท.อีก 7 คน ที่เข้าร่วมประชุมในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่ ทศท. ต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการ ทศท. อนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ AIS เป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท
ดร.สถิตย์ เป็นหนึ่งในกรรมการ ทศท.ชุดนั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.สถิตย์ ไม่ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ไม่ได้เป็นจำเลยในคดี และไม่ได้ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด
แต่ในคำพิพากษาของศาลฎีกา บางส่วนชี้ว่า
“...การที่จำเลย(นายสุธรรม) ลงนามในข้อตกลงท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอสมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จนสิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นผลให้สูญเสียรายได้จากส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายเงินล่วงหน้าจากบริษัทเอไอเอสในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญาน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ที่ควรได้รับตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นสัญญาหลักอัตราร้อยละ 25 ถึง 30 เป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจำนวน 27,65o,241,245.9o บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนจำนวน 93,710,927,981.84 บาท จำเลยจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน
ดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจากอัตราร้อยละ 25 ตามสัญญาหลักเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 20 จนเป็นเหตุให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 อัตราร้อยละ 30 เป็นเงิน66,060,686,735.94 บาท นั้น เป็นการพิจารณามติอนุมัติโดยคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งจำเลยผู้เป็นกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 8 คน ในการประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 มิใช่การพิจารณาอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสโดยจำเลยแต่เพียงผู้เดียว
กรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำนวนอีก 7 คน ย่อมมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับจำเลย การที่บริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น เห็นได้ในเบื้องต้นว่า หากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลักให้แก่บริษัทเอไอเอสตามที่บริษัทเอไอเอสขอ ย่อมทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับรายได้น้อยลง กรรมการจำนวนอีก 7 คน ดังกล่าว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า “Prompt” ให้แก่บริษัททีเอซี จากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรนั้น ฟังขึ้นหรือไม่
โดยกรรมการจำนวนอีก 7 คน ควรต้องสอบถามจำเลยว่า เหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างดังกล่าว จำเลย(นายสุธรรม)ได้ตรวจสอบแล้วหรือไม่ว่า การกำหนดค่าเชื่อมโยงให้แก่บริษัททีเอซีจากอัตรา 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือนเป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตรเป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายตามที่บริษัทเอไอเอสกล่าวอ้าง และควรสอบถามจำเลยด้วยว่า เท่าที่ผ่านมาบริษัทเอไอเอสกับบริษัททีเอซี บริษัทใดจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากกว่ากัน เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าตามสัญญาหลักให้แก่บริษัทเอไอเอส
แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ได้สอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าวจากจำเลยก่อนพิจารณาลงมติอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก จากร้อยละ 25 ในปีที่ 11 ถึงปีที่ 15 และร้อยละ 30 ในปีที่ 16 ถึงปีที่ 20 ลงเหลือในอัตราคงที่ร้อยละ 20
ตลอดอายุสัญญาหลัก นับได้ว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน มีส่วนบกพร่องในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย
กรรมการจำนวนอีก 7 คน จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาท
....โดยจำเลย(นายสุธรรม) มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอส เป็นการกระทำที่จำเลยมีส่วนบกพร่องต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากกว่ากรรมการจำนวนอีก 7 คน ที่มีส่วนบกพร่องต่อหน้าที่รักษาผลประโยชน์
ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
กรณีจึงมีเหตุสมควรให้จำเลยร่วมรับผิดในความเสียหายที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสไปเป็นเงินจำนวน 66,060,686,735.94 บาทเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องจำนวน 33,030,343,367.97 บาท...” - คำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2563
5. ทราบว่า เมื่อปี 2564 ป.ป.ช.ได้แจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2563 ให้กระทรวงการคลังรับทราบ เพื่อดำเนินการปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
หลังจากนั้น กระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2563 ต่อ สำนักงาน ป.ป.ช.ว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแจ้งให้
บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะคู่ความในคดี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีตามคำพิพากษา และให้รายงานความคืบหน้าและผลการบังคับคดีให้กระทรวงการคลังทราบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้แจ้งให้กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัด ทราบและให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการกำกับและติดตามการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกชั้นหนึ่งด้วย
จนถึงบัดนี้ มีใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ติดตามให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่ ทศท. หรือไม่?
ดร.สถิตย์ คือหนึ่งใน 7 กรรมการ ทศท.ชุดนั้น ซึ่งล่าสุด มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั่นเอง
รัฐบาลได้ดำเนินการอะไรบ้าง เกี่ยวกับการติดตามค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกา จากกรณีแก้สัมปทานมือถือเอื้อประโยชน์เอไอเอสในครั้งนั้น?
มีใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่?
จะมีใครต้องถูก ป.ป.ช.ดำเนินคดี ติดคุกติดตะราง หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี