ชาวตะวันตกหรือชาวยุโรปเป็นเจ้าโลกมาร่วม 500 ปี โดยเฉพาะตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ยุโรปก็ยิ่งมีความโดดเด่นในเรื่องคุณภาพชีวิต การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางแห่งปัญญาวิชาความรู้ที่มากด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และการค้นคว้าวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ อีกทั้งยุโรปยังนำพาในเรื่องการบันเทิง ทั้งการแสดงดนตรีร่วมสมัยและคลาสสิก นอกจากนั้นยุโรปยังมีระบบการสื่อสารคมนาคมที่ได้มาตรฐานทันสมัยเชื่อมโยงกันทั้งทวีป และการรวมตัวร่วมมือกันในระดับภูมิภาค อันได้แก่ สหภาพยุโรปเป็นที่เลื่องลือโด่งดังและเป็นแบบอย่างให้กับประเทศต่างๆ ในทุกทวีป ควบคู่ไปกับการที่ยุโรปนำพาโลกในเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย (fashion) ที่สวยงามน่าใช้น่าจับต้อง ส่งผลให้ชาวโลกต่างมุ่งประสงค์ที่จะไปท่องเที่ยวที่ยุโรปเพื่อสัมผัสกับความสะดวกสบาย และคุณภาพชีวิตต่างๆที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศของตน
ที่สำคัญยุโรปนั้นมีความสงบ มีสันติภาพ มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นแหล่งการให้ความร่วมมือช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายทั่วโลกที่สำคัญยิ่ง ทัดเทียมกับอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) และกับเอเชีย-แปซิฟิก (ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
ในยุคสงครามเย็น ยุโรปมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และค้ำจุนการคงอยู่และยืนหยัดได้ของกลุ่มประเทศโลกเสรี และในการนี้ก็จัดได้ว่ามีส่วนสำคัญในการ “เอาชนะ” ระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำพาของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งก็ได้ล่มสลายไปในที่สุด
ยุโรปยังเป็นที่ตั้งขององค์การสำคัญๆ ของโลก เช่น องค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา และที่กรุงเวียนนา องค์การยูเนสโก และองค์การ OECD ที่กรุงปารีสองค์การปรมาณูเพื่อสันติ ที่กรุงเวียนนา และองค์การ OSCE ที่กรุงเวียนนา สำนักงาน FAO และ World Food Programme ที่กรุงโรม เป็นต้น บ่งบอกซึ่งความสะดวกสบาย และบรรยากาศของมิตรไมตรีแห่งการร่วมมือกัน
ในการนี้ยุโรปโดยรวม และโดยเฉพาะสหภาพยุโรป จึงมีสุ้มมีเสียงและอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศเป็นอย่างสูง
แต่ทว่าเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วยุโรปนั้นไม่สามารถยับยั้งสงครามสู้รบในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของประเทศยูโกสลาเวีย ที่สุดท้ายได้แตกสลายออกมาเป็นประเทศต่างๆ และมีการขัดแย้งกันทั้งในเรื่องเขตแดนจากความขมขื่นทางประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และการนับถือศาสนา ยิ่งในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ยุโรปก็หันมาฆ่าฟันกันเองที่ประเทศยูเครนดังที่ทราบกันดีอยู่ ซึ่งจาก 2 กรณีดังกล่าว ล้วนเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบขององค์การนาโต (ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่)
ทั้งหมดนี้สะท้อนความไม่เป็นตัวของตัวเองของยุโรป และมีสภาพที่ตกอยู่ในอาณัติและการนำพาของสหรัฐอเมริกา ยุโรปกลายเป็นลูกน้องลูกสมุนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องการขยายจำนวนสมาชิกองค์การนาโต ไปประชิดชายแดนรัสเซีย ซึ่งฝ่ายรัสเซียถือว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของฝ่ายรัสเซีย อีกทั้งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน เพื่อให้ยูเครนเป็นกันชนกับรัสเซีย และเป็นการบ่งบอกว่า ยุโรปโดยทั่วไปคล้อยตามไปกับสหรัฐฯ ในการไม่เสริมสร้างมิตรไมตรีกับรัสเซีย
ในการนี้ยุโรปจึงต้องเสียเงินเสียทองไปในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารตามการบีบคั้นของทางฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย และการเอางบประมาณส่วนหนึ่งไปช่วยค้ำจุนยูเครน ทั้งทางด้านการทหาร และการรักษาความอยู่รอดของเศรษฐกิจ และการยุติการจัดซื้อน้ำมัน และก๊าซที่มีราคาย่อมเยาจากรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงต่อต้นทุนการผลิตต่างๆ ของยุโรป มีผลให้เศรษฐกิจของยุโรปโดยทั่วไปตกต่ำ เผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของยุโรปก็ลดลง เช่นในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถือว่าล้าหลังกว่าจีนเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น ในแง่สติปัญญา วิสัยทัศน์และการเป็นผู้นำ ยุโรปวันนี้ก็ตกอยู่ในสภาพของการไม่มีตัวตน ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถปลดแอกจากการครอบงำของสหรัฐอเมริกา
แต่ทั้งหมดนี้ก็มิใช่เรื่องสายเกินไปหรือเกินขีดความสามารถของฝ่ายยุโรปที่จะแก้ไขปรับปรุง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการที่ยุโรปจะมีผู้นำทางการเมือง มีปัญญาชนนักคิดที่จะออกมาแสดงตัวและรวบรวมสรรพกำลังในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของยุโรปและความเป็นตัวของตัวเอง โดยในโลกกว้าง ณ วันนี้ก็อาจจะจัดได้ว่ามีอยู่ 2 ค่าย คือค่ายสหรัฐอเมริกา กับค่ายรัสเซียและจีน ซึ่งกำลังขับเคี่ยวต่อกรกันอย่างไม่ลดละ มีผลกระทบในเชิงลบต่อโลกอย่างกว้างขวาง
ซึ่งหากยุโรปจัดตัวเองขึ้นมาเป็นค่ายที่ 3 โอกาสที่โลกจะผ่อนคลายความตึงเครียด และการเปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นการร่วมมือกันก็จะมีความเป็นไปได้ที่สูงขึ้น โลกจึงรอการทำการบ้านของฝ่ายยุโรปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี