และแล้วกิตติรัตน์ ณ ระนอง คนที่สาธารณชนรับรู้กันทั่วประเทศว่าเป็นคนการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทย (แต่พรรคเพื่อไทยตะแบงว่ากิตติรัตน์ไม่ใช่คนของพรรคฯ) ก็ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จึงไม่สามารถเข้าไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดแบงก์ชาติ) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแห่งชาติระบุว่ากิตติรัตน์ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้าไปรับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กรณีนี้มีคำถามว่าทำไมผู้เสนอชื่อกิตติรัตน์ให้รับตำแหน่งดังกล่าวไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนและมีคำถามด้วยว่าทำไมคนที่พยายามดึงดันผลักดันให้กิตติรัตน์เข้าไปกินตำแหน่งดังกล่าวให้จงได้ ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของกิตติรัตน์ให้ดีก่อน และทำไมเมื่อมีผู้พยายามคัดค้านโดยยกเหตุผลว่ากิตติรัตน์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แล้วทำไมผู้ที่พยายามผลักดันกิตติรัตน์จึงไม่ฟังคำคัดค้านทัดทาน แต่ที่มากกว่านั้นคือทำไมกิตติรัตน์ไม่รู้ตัวเอง ทั้งๆ ที่กิตติรัตน์ต้องรู้ตัวเองเป็นอย่างดีว่าตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วน และเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่
รอดูต่อไปก็แล้วกันว่าเมื่อกิตติรัตน์พลาดตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ รัฐบาลชุดล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยมีอำนาจในฐานะแกนนำรัฐบาลจะผลักดันหรือหนุนส่งกิตติรัตน์ไปนั่งในตำแหน่งใดในฝ่ายการเมืองส่วนของพรรคเพื่อไทย เพราะในเมื่อเพื่อไทยพลาดหวังการส่งกิตติรัตน์ไปกินตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็จำเป็นต้องหาตำแหน่งการเมืองเพื่อปูนบำเหน็จให้จงได้
การที่เพื่อไทยจงใจส่งกิตติรัตน์ไปกินตำแหน่งสำคัญนี้ ก็น่าจะมีเหตุผลสำคัญในเรื่องการเข้าไปจัดการจัดแจงเงินในคลังหลวงให้เป็นไปตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย รวมถึงจะเข้าไปมีอิทธิพลในการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไปที่จะเข้ารับตำแหน่งต่อจากเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่จะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน 2568
ถามอีกครั้งว่าพรรคเพื่อไทยไม่รู้จริงๆ หรือว่ากิตติรัตน์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่กิตติรัตน์เพิ่งพ้นจากตำแหน่งการเมืองในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สมัยที่เศรษฐา ทวีสินกินตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะอ้างว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่มีผลทางการเมือง แต่ก็ไม่มีใครยอมรับคำแก้ตัว และต้องไม่ลืมว่าการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น การเล่นคำว่าเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น และไม่มีวิญญูชนรายใดยอมหลงเชื่อเป็นอันขาด เพราะวิญญูชนรู้ดีว่าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐอย่างแน่นอน
มีคำถามตามมาอีกว่า การจงใจเสนอชื่อกิตติรัตน์เป็นการกระทำแบบลักไก่ หรือเป็นการจงใจลองของกันแน่ พรรคเพื่อไทยอาจจะหลงเชื่อในอำนาจรัฐที่ตนเองกำลังยึดครองในกำมือ แล้วทระนงหลงตัวว่าเมื่อมีอำนาจรัฐ แล้วสามารถทำอะไรก็ได้ทั้งหมดทั้งปวงโดยไม่ต้องฟังคำทัดทานคัดค้านจากผู้อื่น เพราะเห็นว่าการมีอำนาจรัฐคือการมีอำนาจชี้นำและทำในสิ่งที่ตนเองต้องการได้โดยไร้ขอบเขต
อันที่จริงเรื่องนี้ หากแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแสดงความรับผิดชอบก็จะต้องออกมาขอโทษสังคม ในฐานะตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และการเสนอชื่อกิตติรัตน์ก็มาจากกระทรวงการคลังด้วย และกระทรวงการคลังก็คือกระทรวงที่มีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการทั้งหมดมาจากพรรคเพื่อไทย
สาธารณชนยังไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็นการแสดงความรับผิดชอบในกรณีนี้จากนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่คาดหวังว่าจะเห็นการรับผิดชอบใดๆ จากนายกรัฐมนตรี เพราะหาความรับผิดชอบจากนายก
ร้ฐมนตรีไม่เคยได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี