การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เริ่มขึ้นในประเทศไทย หลังมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยเพียงปีเดียว รัฐบาลพระยาพหลฯได้เสนอกฎหมายให้การปกครองเป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ต่อมารัฐบาลจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลเข้าสู่สภาฯ ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2476 โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ชี้แจง
“…การเทศบาลนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำกิจการหลายอย่าง ไม่ใช่แต่การสุขาภิบาลอย่างในครั้งก่อน ซึ่งทำกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือเราจะต้องพิจารณาตลอดจนกระทั่งในเรื่องภาษีอากรที่จะแบ่งสันปันส่วนกันในระหว่างรัฐบาลกับเทศบาลอย่างหนึ่ง โดยจะต้องพิจารณาถึงให้เอื้อกิจการที่เทศบาลจะต้องกระทำเช่นเดียวกัน ในเรื่องสาธารณสุขก็ดี ในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยในพระราชอาณาจักรก็ดี และในกรณีอื่นๆดังที่ได้เห็นแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้…ฉะนั้นจึงได้หยิบเอารูปการของเทศบาลนั้นขึ้นร่างเป็นพระราชบัญญัติ และเสนอรัฐบาลเสียทีหนึ่งก่อน ขอให้เทศบาลได้มีโอกาสที่จะเริ่มจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นได้ในปีหน้า คือในพ.ศ. 2477 และในต้นปี 2477 นี้ก็คงจะได้เริ่มการได้นั้น แต่ว่าการที่จะกระทำกิจการให้ครบถ้วนบริบูรณ์เราจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับ… การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อปรารถนาที่จะให้เพื่อนสมาชิกทั้งหลายลงมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องที่เราจะดำเนินต่อไปว่าเราจะวางรูปตามนี้คือดำเนินตามคล้ายๆกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเหมือนกัน กล่าวคือจะเห็นได้จากเทศบาลตำบล คณะมนตรีตำบล และสภาตำบล เพื่อให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญไปในตัว คือราษฎรจะได้ฝึกการปกครองในตำบลย่อยๆของตน เพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภานี้ต่อไป…”
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลขึ้นมา 3 ขนาด ขนาดเล็กที่สุดเรียกว่าเทศบาลตำบล ขนาดกลางเรียกว่าเทศบาลเมืองซึ่งมีอยู่แทบทุกจังหวัด กับขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเทศบาลนคร ที่มีอยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่มาก ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจะมีในทุกจังหวัด จะมีจำนวนจังหวัดละเท่าใด ก็ขึ้นกับการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละจังหวัดนั่นเอง รูปแบบโครงสร้างของเทศบาล ก็จะมีสภากับคณะผู้บริหาร ระดับเล็กที่สุดก็เรียกสภาตำบล และคณะผู้บริหารเรียกว่าคณะมนตรีตำบล ดังนั้นคำว่าสภาตำบลในตอนต้นนี้ก็คือสภาเทศบาลตำบล นั่นเอง ไม่ใช่สภาตำบลในวันนี้ ภาพที่เห็นจึงแสดงว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้สะท้อนรูปแบบการปกครองระดับชาติที่เป็นระบบรัฐสภา คือประชาชนจะเลือกสมาชิกสภาตำบล และสมาชิกสภาตำบล จะเป็นผู้เลือกมนตรีตำบล โดยสภาจะเป็นผู้พิจารณาผ่านงบประมาณของเทศบาลและออกเทศบัญญัติซึ่งเป็นข้อบังคับที่ออกมาใช้ในเขต
เทศบาลนั้นๆ
ที่น่าสนใจคืออำนาจหน้าที่ของเทศบาล ในกรณีเทศบาลตำบลนั้นกำหนดไว้ 10 ข้อคือ 1. จัดการสาธารณสุข 2. จัดการให้ราษฎรได้มีน้ำจืดบริโภค 3. จัดให้มีและบำรุงถนนและทาง กับการระบายน้ำในเขตเทศบาล 4. จัดการให้ราษฎรได้มีความสะดวกในการสื่อสาร 5. จัดการแก้ไขและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎรให้ดีขึ้นตามสมควร 6. การให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรมชั้นประถม 7. การอบรมให้ราษฎรเข้าใจในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ 8. การรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีอีกทั้งระงับเหตุรำคาญในท้องถิ่น ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้ใดละเมิดกฎหมาย 9. จัดให้มีศาลาเทศบาล และ 10. อำนาจหน้าที่อื่น ซึ่งจะได้มีกฎหมายบังคับให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบล
กฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับนี้ประกาศใช้ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 สำหรับ สมาชิกสภาเทศบาลนั้นในระยะแรกก็เหมือนสภาผู้แทนราษฎรคือให้มีการแต่งตั้งได้กึ่งหนึ่ง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี