ในกฎบัตรอาเซียนมีการกล่าวถึงการมุ่งมั่นให้อาเซียนเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ทว่าความคืบหน้าของการเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นสังคมประชาธิปไตยเปี่ยมด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือนัยหนึ่งพลเมืองอาเซียนประมาณ 650 ล้านคน จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมในความเป็นไปของประเทศของตนและของอาเซียนเป็นการทั่วไป ก็ยังดูทุลักทุเลและกระท่อนกระแท่น อีกทั้งพลเมืองอาเซียนดังกล่าวก็มีสิทธิเสรีภาพไม่ทัดเทียมกัน เช่น คนไทยนั้นก็จะมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนเวียดนาม หรือคนบรูไน อยู่ในระดับหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งไม่ยุติธรรม และไม่ถูกไม่ควร เพราะชาวอาเซียนทั้งหมดควรจะต้องมีสถานะและที่ยืนในสังคมอาเซียนอย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน
เหตุที่เป็นเช่นนี้หรือนัยหนึ่งอาเซียนเองยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นสังคมประชาธิปไตยได้ ก็เพราะเงื่อนไขในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน มิได้มีการระบุว่า ประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน จะต้องเป็นประเทศที่มีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับกรณีของสหภาพยุโรป อีกทั้งกฎบัตรอาเซียนดังกล่าวมิได้มีการระบุขั้นตอนวิธีการและกำหนดเวลาของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและสาระเนื้อหาทางการเมืองไปในทิศทางของการเป็นสังคมประชาธิปไตย
ฉะนั้นในวันนี้ ในอาเซียนจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันในเรื่องระบบระบอบการเมืองการปกครองของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กล่าวคือ บรูไน ยังเป็นสังคมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลาวและเวียดนาม ต่างตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว ขณะที่เมียนมา ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งเห็นต่างเกี่ยวกับบทบาทของฝ่ายกองทัพในเรื่องการบ้านการเมืองมายาวนานกว่า 70 ปี (ตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร) ส่วนที่ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็มีความเป็นประชาธิปไตยกันในระดับหนึ่ง แต่ความเสรียังไม่ก้าวหน้าถึงระดับของอินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แม้กระทั่งภูฏาน และเนปาล หรือติมอร์ตะวันออก
และที่สำคัญความเป็นประชาธิปไตยในประเทศสมาชิกอาเซียนดังกล่าว ก็ยังมีแนวโน้มที่จะถดถอยไปอีกด้วย จากการคืบเข้ามาของการเมืองแบบราชวงศ์การเมือง การเมืองแบบชาติพันธุ์และการนับถือศาสนานำพา และนอกจากนั้นฝ่ายที่เข้ามาเป็นรัฐบาลผ่านระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ก็มักจะใช้เสียงข้างมากเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก หรือไม่ก็จะใช้อำนาจบริหาร และกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน หรือกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารราชการ และความปลอดภัยส่วนบุคคล เป็นเครื่องมือกลไกในการปิดปากหรือบ่อนทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยในฟิลิปปินส์ก็มีการใช้กฎหมายการต่อต้านการก่อการร้าย และกฎหมายการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ มาเป็นเครื่องมือในการตั้งข้อหาและขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง เป็นต้น จัดได้ว่าประชาธิปไตยในอาเซียนก็มีการผสมผสานระหว่างการย่ำเท้าอยู่กับที่ และการถดถอยไม่ก้าวหน้า
การเป็นสังคมประชาธิปไตยของอาเซียนจะขยับเขยื้อนไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับบรรดารัฐบาลของประเทศสมาชิกจะต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อหาฉันทามติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมให้อาเซียนเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึงแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงโครงสร้าง และเนื้อหาของการเมืองการปกครองไปในทิศทางของการเป็นสังคมประชาธิปไตยซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก เพราะการที่สถาบันสุลต่านของบรูไนปฏิรูปตนเอง หรือพรรคคอมมิวนิสต์ของลาว และเวียดนาม จะเปิดเวทีการเมืองให้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อเข้าแข่งขันกับพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ยังดูไม่มีวี่แววแต่อย่างใด
และฉะนั้นภาระของการขับเคลื่อน การได้มาซึ่งสังคมประชาธิปไตยอาเซียน จึงต้องตกอยู่กับประชาชนพลเมืองอาเซียนทั้ง 650 ล้านคนเป็นสำคัญ นั่นหมายถึง
การรวมพลังออกมาเรียกร้อง การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อน และการสร้างแรงกดดันต่อบรรดาพรรคการเมือง และผู้บริหารประเทศต่างๆ ให้ขยับตัวปรับปรุงตนเอง
อาเซียนจะก้าวหน้าไปได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีศักดิ์ศรีเป็นที่เชื่อถือ ก็ต่อเมื่อพลเมืองอาเซียนมีสิทธิเสรีภาพทัดเทียมกัน และอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งพวกเราชาวไทยโดยทั่วไปก็มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง ไทยจึงอยู่ในฐานะที่จะนำพาในการเสริมสร้างการตื่นรู้ และตื่นตัวทางประชาธิปไตยให้อาเซียนได้อย่างสง่างาม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี